โควิด-19 : แต่ละชาติรับมืออย่างไร เมื่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กลับมาระบาดอีกระลอก
โควิด-19 : แต่ละชาติรับมืออย่างไร เมื่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กลับมาระบาดอีกระลอก - BBCไทย
ไทยและอีกหลายชาติทั่วโลก เริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว แต่ก็ไม่มีใครตอบได้ว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จะกลับมาระบาดเป็นระลอกที่สองหรือไม่
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (13 มิ.ย.) กรุงปักกิ่งของจีนพบผู้ติดเชื้อใหม่ที่แพร่ระบาดกันเองในประเทศอีก 36 คน หลังจากปลอดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มามากกว่า 50 วัน
มีรายงานว่าการแพร่ระบาดใหม่ครั้งนี้มีแหล่งที่มาจากตลาดซินฟาตี้ ตลาดค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดในเมือง และก็พบผู้ที่ได้รับการยืนยันหรือสงสัยว่าติดเชื้อจากแหล่งเดียวกันนี้ที่มณฑลเหลียวหนิง มณฑลเหอเป่ย์ และมณฑลเสฉวน ด้วย
สื่อท้องถิ่นรายงานว่าที่มาของเชื้อมาจากเขียงปลาแซลมอนนำเข้า และขณะนี้ทางการได้สั่งปิดตลาดแห่งนี้ รวมถึงละแวกท้องถิ่นโดยรอบอีก 11 แห่งด้วย นอกจากนี้ นสพ.โกลบอลไทมส์ของจีนยังรายงานด้วยว่าสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนใกล้เคียงตลาดต้องเลื่อนวันเปิดออกไป
เสี่ยงระบาดระลอกสองแค่ไหน
ไวรัสแต่ละสายพันธุ์ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม่อาจบอกได้เลยว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะกลับมาระบาดอย่างเต็มที่เป็นระลอกที่สองหรือไม่
ย้อนกลับไปเมื่อศตวรรษที่แล้ว เชื่อกันว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนระลอกที่สองทำให้คนเสียชีวิตมากกว่าระลอกแรกมาก แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทคโนโลยีการแพทย์และการสื่อสารสู้ปัจจุบันไม่ได้
โดยรวมแล้ว เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรคซาร์ส (SARS) และโรคเมอร์ส (MERS) ระลอกที่สองได้ แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรคเหล่านั้นไม่ได้แพร่ระบาดได้ง่ายเท่ากับโควิด-19 ส่วนโรคไข้หวัดหมู (swine flu) เมื่อปี 2009 ก็มีการระบาดระลอกที่สอง
นี่เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากเนื่องจากเรายังไม่รู้ว่าคนที่เป็นโรคโควิด-19 และรักษาหายแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันจากโรคนานเท่าไหร่ และไวรัสจะเปลี่ยนแปลงวิธีการแพร่ระบาดหรือไม่เมื่อเปลี่ยนฤดู ผู้เชี่ยวชาญบางคนออกมาเตือนว่าอาจเกิดการระบาดระลอกที่สองเมื่อสหรัฐฯ และประเทศในยุโรปเข้าสู่ฤดูหนาว
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังต้องคอยเฝ้าสังเกตอย่างใกล้ชิดด้วยว่าไวรัสสามารถกลายพันธุ์ได้หรือไม่
ที่ฝรั่งเศส ซึ่งคลายมาตรการล็อกดาวน์เกือบทั่วประเทศแล้ว ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง บอกว่า ประเทศ "ได้รับชัยชนะครั้งแรก" เหนือโรคโควิด-19 แต่ก็เตือนว่า "นี่ไม่ได้หมายความว่าไวรัสได้หายไปแล้ว และเราเลิกระมัดระวังได้"
- ที่มา อาการ การรักษา และ การป้องกันโรคโควิด-19
- การระบาดไวรัสโคโรนาครั้งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไร
- ศบค. หวั่นซ้ำรอยต่างประเทศ เฝ้าระวังการระบาดระลอกใหม่หลังไทยเริ่มผ่อนคลายระยะที่ 4
"ฤดูร้อนของปี 2020 จะเป็นฤดูร้อนที่ไม่เหมือนครั้งไหน ๆ เราต้องจับตามองพัฒนาการของโรคระบาดนี้เพื่อจะได้เตรียมพร้อมหากว่ามันกลับมาอีกด้วยความแข็งแกร่งกว่าเดิม" นายมาครงกล่าว
ในประเทศไทย ครบสามสัปดาห์แล้วที่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ และเมื่อวานนี้ (15 มิ.ย.) เป็นวันแรกของการประกาศยกเลิกเคอร์ฟิว รวมทั้งเริ่มการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 4 ซึ่งอนุญาตให้กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงกลับมาเปิดบริการ
อย่างไรก็ดี ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. บอกว่าต้องเฝ้าระวังการระบาดระลอกที่สองเมื่อเห็นตัวอย่างในประเทศใกล้เคียงอย่างจีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
บทเรียนจากประเทศอื่น
ที่ญี่ปุ่น มีรายข่าวว่าพบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ที่กรุงโตเกียว 47 คน เป็นกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับแหล่งสถานบันเทิงในเขตชินจูกุ แต่กรุงโตเกียวจะไม่สั่งปิดแหล่งท่องเที่ยวกลางคืน แต่จะยังคงตรวจหาเชื้อและเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อไป
ที่ออสเตรเลีย พบผู้ป่วยใหม่ในท้องถิ่นรายแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 13 มิ.ย. หลังผู้ป่วยใหม่ลดลงเป็นศูนย์ตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค. โดยหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ยืนยันว่า ชายคนดังกล่าวไม่เคยไปร่วมการชุมนุมประท้วงในนครซิดนีย์ และไวรัสน่าจะยังคงแฝงในชุมชน โดยมีผู้ที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเลยเป็นพาหะแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่นได้
เจนนิเฟอร์ รอห์น นักชีวภาพเซลล์จากยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน (ยูซีแอล) บอกว่า การระบาดระลอกที่สองไม่ใช่คำถามว่าจะเกิดขึ้น "หรือไม่" แต่จะเกิดขึ้น "เมื่อไร" และ "ร้ายแรงแค่ไหน" ต่างหาก
แม้แต่เกาหลีใต้ซึ่งมียุทธศาสตร์รับมืออย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบการตรวจเชื้อ และตามรอยผู้ติดเชื้อที่ดี ก็ยังพบการระบาดครั้งใหม่ เมื่อวันที่ 12 พ.ค. พบผู้ติดเชื้อใหม่ในกรุงโซล เมืองหลวงเกาหลีใต้ หลังจากไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศมาหลายสัปดาห์ โดยรวมแล้วมีผู้ติดเชื้อเกือบ 300 ราย ซึ่งล้วนแต่แพร่ระบาดมาจากอิแทวอน ย่านเที่ยวกลางคืนยอดนิยมในกรุงโซล
เกาะฮอกไกโดของญี่ปุ่นเป็นที่แรก ๆ ที่ทางการญี่ปุ่นประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ช่วงปลายเดือน ก.พ. ก่อนที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงเหลือแค่หนึ่งถึงสองรายต่อวันช่วงกลางเดือน มี.ค. มาตรการของรัฐได้ผลจนมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและถึงเดือน เม.ย. ก็มีการให้โรงเรียนกลับมาเปิดได้
อย่างไรก็ดี ไม่ถึงเดือนถัดมา ทางการต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีกครั้งหลังมีการกลับมาระบาดระลอกที่สอง โดยมีผู้ติดเชื้อใหม่อย่างน้อย 135 ราย และก็ไม่มีหลักฐานว่าเป็นการนำเชื้อมาแพร่ระบาดโดยคนที่เดินทางมาจากนอกญี่ปุ่นเหมือนกับการระบาดรอบแรก