รีเซต

ถกคณะกก.5G นัดแรก เตรียมตั้งคณะทำงาน กำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุน จูงใจนักลงทุนไทย-ต่างชาติ

ถกคณะกก.5G นัดแรก เตรียมตั้งคณะทำงาน กำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุน จูงใจนักลงทุนไทย-ต่างชาติ
มติชน
14 สิงหาคม 2563 ( 17:36 )
43

ถกคณะกก.5G นัดแรก เตรียมตั้งคณะทำงาน กำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุน จูงใจนักลงทุนไทย-ต่างชาติ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการขับเคลื่อนต่อยอด 5G ของประเทศไทยในภาคส่วนต่างๆ ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยมีมติเห็นชอบในประเด็นสำคัญ ได้แก่ เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ 5G ของประเทศไทย ระยะที่ 1, เห็นชอบ โครงการนำร่องการใช้ประโยชน์ 5G ของประเทศไทยในระยะสั้น ในการส่งเสริมเกษตรดิจิทัลและการส่งเสริมโรงพยาบาลอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี 5G และเห็นชอบ มาตรการส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรม

 

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ 5G อย่างเป็นรูปธรรม ผ่าน (ร่าง) แผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ 5G ของประเทศไทย ระยะที่ 1 เพื่อมุ่งสู่การปฏิบัติ ทั้งในด้านของโครงสร้างพื้นฐาน ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านการพัฒนาระบบนิเวศของ 5G เพื่อให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเต็มประสิทธิภาพ

ทั้งนี้​ กระทรวงดีอีเอสจะดำเนินการส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยการนำร่องเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5G ณ พื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ฝึกอบรมผาหมี โดยเป็นความร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“นายกรัฐมนตรี​ ได้เน้นย้ำให้ดำเนินโครงการพร้อมกันทั้งประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการเกษตรให้ทำในภาคอื่นพร้อมกันด้วย ภาคใต้สนับสนุนเรื่องยาง ปาล์ม ภาคอีสาน เรื่อง เกษตรแปลงใหม่ และ ข้าว ภาคกลาง เรื่องสวนผลไม้ เป็นต้น เพื่อให้เทคโนโลยี 5G ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ไม่ให้เกิดความล่าช้า การพัฒนา5G ต้องทั่วถึงและเท่าเทียมทั้งประเทศ” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุน สำหรับกระตุ้นนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศหันมาลงทุนในไทยแทนประเทศสิงคโปร์ โจทย์คือ จะทำอย่างไรในการดึงนักลงทุนที่สิงคโปร์กลับมาประเทศไทย

สำหรับคณะทำงานดังกล่าว ประกอบด้วย กระทรวงดีอีเอส, กระทรวงการคลัง, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ), สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)​และสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้แต่ละกระทรวง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงสภาต่างๆ ไปที่เป็นตัวแทนภาคเอกชน ไปสรุปความต้องการการใช้งาน 5G ว่ามีอะไรบ้าง เพื่อให้ขับเคลื่อนถูกวัตถุประสงค์ที่ต้องการ จากนี้ไปกระทรวงดีอีเอสจะเร่งหาข้อสรุปก่อนมีการนัดประชุมใหญ่

นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ ผู้ให้บริการ​โทรศัพท์​เคลื่อนที่​ (โอ​เปอเร​เตอร์)​ ต่างๆ ได้เริ่มดำเนินการติดตั้งโครงข่าย 5G แล้วในหลายพื้นที่ ซึ่งในระยะแรก จะเร่งดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย เช่น พื้นที่ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี)​ พื้นที่เมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และรวมถึงพื้นที่นำร่องการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G และคาดว่าจะขยายไปสู่ประชาชนทั่วประเทศภายในปี 2570 ทั้งนี้​ ในส่วนของโครงการนำร่องการใช้ประโยชน์ 5G สดช. ร่วมกับ สำนักงาน กสทช. ได้คัดเลือกพื้นที่นำร่องที่เหมาะสม โดยคาดหวังว่าจะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ในวงกว้าง เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ในพื้นที่ ลดปัญหาความยากจน สร้างความเท่าเทียม เพิ่มรายได้ และสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ การนำร่องโครงการเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5G จะเป็นการทดสอบทดลองการใช้คลื่น 5G และประโยชน์ที่จะได้รับว่าเป็นไปตามความคาดหวังหรือไม่ ทั้งนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ นั้น จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G ของประเทศไทยในทุกภาคส่วน และพร้อมเดินหน้าเพื่อผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ให้บรรลุตามทิศทางการพัฒนาที่ได้กำหนดไว้ต่อไป