รีเซต

นักปักษีวิทยา ตะลึง "ไก่ฟ้าหน้าเขียว" ปรากฏเป็นครั้งแรกในรอบ ครึ่งศตวรรษ

นักปักษีวิทยา ตะลึง "ไก่ฟ้าหน้าเขียว" ปรากฏเป็นครั้งแรกในรอบ ครึ่งศตวรรษ
ข่าวสด
6 กรกฎาคม 2563 ( 12:24 )
232

 

นักปักษีวิทยา ตะลึง "ไก่ฟ้าหน้าเขียว" ปรากฏเป็นครั้งแรกในรอบ ครึ่งศตวรรษ

วันที่ 6 ก.ค. น.สพ.เกษตร สุเตชะ นายกสมาคมอุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย นพ.วิฌรจน์ องค์อนันต์คุณ นพ.สมพงษ์ ทองร่วง ทพ.ญ. สุวรรณา หมู่ขจรพันธ์ น.ส.เพ็ญศรี ศรีแก้ว นายชูเกียรติ นวลศรี ประธานมูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ จ.ชุมพร ลงพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา บริเวณจุดสกัดทับอินทนิล เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จในกรมหลวงชุมพรด้านทิศเหนือ(ตอนล่าง) ม.10 ต.หงส์เจริญ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร

เพื่อถ่ายภาพเก็บข้อมูลไก่ฟ้าหน้าเขียว สัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ที่ผ่านมาในรอบหลายสิบปียังไม่เคยมีช่างภาพคนใดสามารถถ่ายภาพสัตว์ชนิดนี้ได้เลย โดยไก่ฟ้าหน้าเขียวตัวดังกล่าวได้ลงมาหากินอยู่บริเวณรอบๆที่ทำการจุดสกัดทับอินทนิลนานกว่า 1 เดือน

จากการตรวจสอบติดตามบันทึกภาพพบว่าเป็นไก่ฟ้าหน้าเขียวเพศผู้ อายุกว่า 2 ปี น้ำหนักตัวประมาณ 2 กิโลกรัม มีขนหงอนบนหัว ขนที่คอหน้าอกและหลังตอนบนมีสีเหลือบเขียวอมน้ำเงิน ส่วนล่างของหลังมีสีแดงแกมน้ำตาล ขนใต้ท้องสีน้ำตาลแกมดำมีขอบขาว กำลังเดินวนเวียนหากินอยู่ในพงหญ้าขอบป่ารอบๆที่ทำการจุดสกัดทับอินทนิล

โดยไก่ฟ้าหน้าเขียวตัวดังกล่าวไม่มีอาการตื่นกลัวคนมากนัก สามารถตั้งกล้องและเดินถ่ายภาพได้ในระยะ 30-50 เมตร แบบที่ไม่เคยมีนักดูนกคนใดได้ถ่ายภาพไก่ฟ้าหน้าเขียวที่อยู่ตามธรรมชาติในลักษณะใกล้ชิดแบบนี้ได้เลย

สำหรับไก่ฟ้าหน้าเขียวมีถิ่นกำเนิดในตอนใต้ของไทยตลอดจนถึงมาเลเซีย บอร์เนียวและสุมาตรา ในประเทศไทยมีเฉพาะภาคใต้เท่านั้นพบในป่าดงดิบที่เป็นป่าต่ำ ไม่ชอบออกหากินตามป่าโปร่งหรือที่โล่งเตียน จึงไม่ค่อยมีใครพบเห็นสัตว์ป่าชนิดนี้ที่อยู่มนป่าตามธรรมชาติมากนัก ซึ่งการที่ไก่ฟ้าหน้าเขียวลงมาหากินอยู่บริเวนเชิงป่ารอบๆที่ทำการจุดสกัดทับอินทนิลถือเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงทำให้นักปักษีวิทยาจากทั้วประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

น.สพ.เกษตร กล่าวว่า ไก่ฟ้าหน้าเขียวเป็นนกประจำถิ่นของประเทศไทย ที่หาได้ยากมากโดยปกติจะอาศัยอยู่ในป่าที่ราบต่ำสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 200 เมตร โดยในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา มีรายงานพบเพียงแค่ 1-2 ครั้งเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเจอในป่าที่สมบูรณ์ถือเป็นตัวชี้วัดคุณภาพป่าได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการที่เรามาเจอไก่ฟ้าหน้าเขียวเพศผู้ลงมากินบริเวณนี้นั้น สะท้อนว่ากรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีนโยบายดำเนินการรักษาป่ามาถูกทางแล้ว

เมื่อป่ามีความอุดมสมบูรณ์สัตว์ป่าหายากก็เริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นและออกมาปรากฏตัวให้คนเห็นมากขึ้น เหตุผลที่พวกตนมาในวันนี้ก็คือไก่ฟ้าหน้าเขียวเป็นสัตว์ที่ทรงคุณค่าหายากพวกเราจึงอยากมาเห็นและถ่ายภาพด้วยตัวเอง เพราะตลอดช่วงอายุของตนกว่า 50 ปี ออกตระเวนถ่ายภาพสัตว์ป่ามามากมายเคยได้ยินแต่คำบอกเล่าซึ่งไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นตัวเป็นๆในธรรมชาติจริงๆในวันนี้

ด้านนายอาทร กำลังใบ หน.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จในกรมหลวงชุมพรด้านทิศเหนือ(ตอนล่าง) กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ป่าอุทยานแห่งนี้มีสัตว์ป่าหลายชนิดเช่น เสือโคร่ง หมี เลียงผา เก้ง กวาง และอีกหลายชนิด ส่วนไก่ฟ้าหน้าเขียวตัวนี้เพิ่งจะลงจากป่ามาหากินตั้งแต่เช้าบริเวณจุดสกัดทับอินทนิลได้กว่า 1 เดือนแล้ว

จากนั้นช่วงเย็นมันก็จะกลับเข้าไปนอนในป่าตามปกติ โดยมันออกมาเองตามธรรมชาติในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 เราปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดปรากฏมาก่อน

อย่างไรก็ตามในปี 2562 เราเคยใช้กล้องดักถ่ายสามารถจับภาพไก่ฟ้าหน้าเขียวได้ 1 ฝูงจำนวนหลายตัว ซึ่งอยู่ห่างจากจุดนี้ประมาณ 7-8 กิโลเมตร สำหรับไก่ฟ้าหน้าเขียวตัวนี้กำลังเป็นที่สนใจซึ่งตอนนี้ได้มีนักดูนก นักท่องเที่ยว หลายคณะติดต่อเข้ามาว่าจะขอเข้ามาศึกษาเก็บข้อมูลและถ่ายภาพกันมากพอสมควร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง