รีเซต

"หมอธีระ" อัปเดต Long COVID ผู้ป่วย 70% มีอาการผิดปกติด้านความคิด-สมาธิ

"หมอธีระ" อัปเดต Long COVID ผู้ป่วย 70% มีอาการผิดปกติด้านความคิด-สมาธิ
TNN ช่อง16
21 มีนาคม 2565 ( 09:13 )
68

วันนี้( 21 มี.ค.65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

โดยระบุว่า "21 มีนาคม 2565 ทะลุ 470 ล้าน

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,111,134 คน ตายเพิ่ม 2,502 คน รวมแล้วติดไปรวม 470,783,239 คน เสียชีวิตรวม 6,100,155 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เวียดนาม เยอรมัน ฝรั่งเศส และอิตาลี

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลกจำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 91.83 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 83.37 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 57.2 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 51.31

...สถานการณ์ระบาดของไทย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก

...อัปเดต Long COVID

Guo P และคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดส์ สหราชอาณาจักร เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ Frontiers in Aging Neuroscience เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 

ที่ผ่านมา

สาระสำคัญคือ ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็น Long COVID นั้นมีถึง 70% ที่มีอาการผิดปกติด้านความคิดความจำหรือสมาธิ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีอาการมากนั้น พบว่า 75% ของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่สามารถทำงานได้ งานวิจัยนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ

แม้ COVID-19 จะเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ แต่ความรู้การแพทย์ในปัจจุบันพบว่าการติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นจะส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อระบบอื่นๆ ในร่างกาย จนเกิดความผิดปกติในระยะเวลาต่อมา ดังภาพที่สรุปให้เห็นโดย Montani D และคณะ ที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ระบบทางเดินหายใจ European Respiratory Review 

การติดเชื้อนั้นแม้รักษาหายแล้วในระยะแรก แต่มีโอกาสที่จะส่งผลให้เกิดปัญหา Long COVID ได้ ผ่านหลายกลไกที่มีการตั้งสมมติฐานทางการแพทย์เพื่ออธิบาย ได้แก่ การกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในระบบต่างๆ ของร่างกาย (Chronic inflammation), การติดเชื้อไวรัสแอบแฝงในเซลล์ต่างๆ (Persistent infection), การทำงานผิดปกติของอวัยวะและระบบของร่างกายจากการถูกทำลายโดยไวรัส (Dysfunction from viral damage), การทำให้เกิดภูมิต่อต้านตนเอง (Auto-antibody), และการเสียสมดุลของเชื้อโรคชนิดต่างๆ ที่อยู่ในทางเดินอาหารจนนำไปสู่ความผิดปกติของการทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกาย (Dysbiosis) 

สำหรับเมืองไทยเรา การระบาดยังรุนแรง กระจายทั่ว ดังที่เคยวิเคราะห์ไปว่าขาลงมักใช้เวลานานกว่าขาขึ้นราว 1.5 เท่า อย่างไรก็ตาม ทวีปยุโรป และบางประเทศในทวีปอื่นของโลกนั้นกำลังประสบกับการระบาดกลับซ้ำจากสายพันธุ์ BA.2 ดังนั้นหากเราไม่สามารถควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดได้ การระบาดก็จะปะทุเป็นขาขึ้นใหม่ได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน แจ้งคนใกล้ชิดให้ทราบ และไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน

ใครที่เคยติดเชื้อมาแล้ว มีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ ดังนั้นต้องไม่ประมาท นอกจากนี้ยังควรหมั่นตรวจเช็คสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอว่ามีอาการผิดปกติที่ต่างจากในอดีตหรือไม่ หากมี ก็ควรปรึกษาแพทย์ และไปตรวจสุขภาพ เพื่อที่จะได้รับการดูแลเกี่ยวกับ Long COVID อย่างถูกต้องเหมาะสม และทันท่วงที "




ภาพจาก AFP/Thira Woratanarat

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง