อธิบดีกรมควบคุมโรคเตือนระวัง! ไข้เลือดออก ดับแล้ว 3 ราย พบโควิดร่วมด้วย
ข่าววันนี้ 20 มีนาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงโรคที่ต้องเฝ้าระวังเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนว่า ขณะนี้เข้าสู่ช่วงฤดูร้อนยังมีโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ โรคทางเดินอาหาร ที่อาหารจะบูด เน่า เสียได้ง่าย โรคท้องร่วง โรคจากลมแดด หรือเพลียแดด เพราะการที่ร่างกายได้รับแดดนานๆ ขาดน้ำ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ คนที่ทำงานกลางแจ้งก็ต้องเตือนให้ระมัดระวัง เพราะอาจเสียชีวิตได้
“ช่วงนี้เราเริ่มมีสัญญาณผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ในปีที่แล้ว มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิตทั้งหมด 6 ราย แต่ในปีนี้ ผ่านมาเพียงแค่ 3 เดือน มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิตไปแล้ว 3 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตก็เป็นโรคไข้เลือดออกร่วมกับโควิด-19 ด้วย และยังพบอีกว่าทั้ง 3 รายที่เสียชีวิตนั้น ได้รับยาจากร้านยาบ้าง ซื้อยากินเองบ้าง เป็นยากลุ่มที่เรียกว่า เอ็นเสด ถ้าเมื่อก่อนก็คือ แอสไพริน ยาทันใจ ยาพวกนี้ทำให้มีเลือดออกในทางเดินกระเพาะอาหาร และเสียชีวิตได้ ต้องระมัดระวังและแจ้งเตือนต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่ไปสนใจที่โรคโควิด-19 มากจนละเลยว่ามีโรคไข้เลือดออกอยู่ ทั้งๆ ที่ อัตราการเสียชีวิตของทั้ง 2 โรคนี้นั้น ใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ ไข้เลือดออกก็สามารถรักษาให้หายได้ โดยจะมีลักษณะอาการของโรคที่ต่างกัน เช่น ไข้เลือดออกจะมีไข้สูง
“แต่ไข้เลือดออกบ้านเราเป็นโรคประจำถิ่น มันก็อยู่กับเรา จะติดวันไหนก็ได้ ดังนั้น การใส่ใจและระลึกถึงว่าเราอาจจะติดเชื้อได้สำคัญกว่า เพราะส่วนใหญ่ที่เจอว่าเสียชีวิตก็คือไม่คิดว่าจะเป็น แต่พอมาเจอก็อาการหนักไปแล้ว” นพ.โอภาส กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรคได้เผยแพร่พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ ฉบับที่ 7/2565 ระบุว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พบผู้ป่วย จำนวน 305 ราย เสียชีวิต 2 ราย ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวน 112 ราย กลุ่มอายุพบมากที่สุดคือ อายุ 5-14 ปี รองลงมา อายุ 15-24 ปี จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่สำคัญ ได้แก่ มีโรคประจำตัว และการได้รับยา NSAIDs (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs)
คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นทุกภาคทั่วประเทศ เนื่องจากมีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะและวัสดุต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออก โดยส่วนใหญ่กลุ่มผู้ป่วยที่พบในช่วงนี้เป็นเด็กวัยเรียน แต่ผู้ที่ติดเชื้อโรคไข้เลือดออกและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต คือ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และกลุ่มผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์
กรมควบคุมโรคจึงขอความร่วมมือประชาชนสำรวจแหล่งน้ำขังที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณรอบบ้าน ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง ไม่มีบริเวณอับทึบให้ยุงลายเกาะพัก 2. เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บเศษภาชนะที่ไม่ต้องการทิ้งไว้ในถุงดำมัดปิดปากถุง และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะไม่ใช้ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำหรือปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ และเน้นการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยทายากันยุง และนอนในมุ้ง ซึ่งสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา
ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายกันหลายโรค ทั้งไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และโรคโควิด-19 ขอให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย 100% รับประทานยาลดไข้ 1-2 วัน โดยให้เลือกรับประทานยาแก้ไข้พาราเซตามอล หลีกเลี่ยงการรับประทานยากลุ่มเอ็นเสด เช่น ยาไอบูโปรเฟน แอสไพริน หรือยาแก้ปวดไดโคลฟีแนค เพราะถ้าหากเป็นไข้จากโรคไข้เลือดออก ยากลุ่มนี้จะมีฤทธิ์ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารส่งผลทำให้การรักษายุ่งยากและเสี่ยงต่อการทำให้มีอาการหนักมากยิ่งขึ้น หากทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยโรคหาสาเหตุว่าเกิดจากโรคอะไรและรับการรักษาต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422