รัฐโยนหินเก็บภาษีรายใหญ่ขายหุ้น วงการชี้ผิดที่ผิดเวลาหวั่นนักลงทุนหนี
สั่นสะเทือนไปทั้งวงการตลาดทุน หลังจากมีกระแสข่าวว่ากรมสรรพากรจะปัดฝุ่นศึกษาเก็บภาษีขายหุ้นนักลงทุนรายใหญ่ที่มีมูลค่าซื้อขาย 1 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นไปในอัตรา 0.11% จนทำให้ถูกวิพากวิจารณ์อย่างหนักว่ารัฐ "ถังแตก" แล้วหรือไม่ จึงหาช่องทางการรีดภาษีเพิ่ม สะท้อนจากตัวเลขจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิ 8 เดือนของปีงบประมาณ 64 (ต.ค.63 – พ.ค.64) พลาดเป้าโดยจัดเก็บที่ 1.44 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 98,672 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12.1% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 58,035 ล้านบาท หรือ 3.9%
ด้านยอดจัดเก็บรายได้ติดลบทุกรายการ โดยเฉพาะจาก 3 กรมภาษี กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร เก็บรายได้รวมกัน 1.5 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 11,711 ล้านบาท และต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 181,712 ล้านบาท
หากย้อนดูข้อมูลในอดีตพบว่า การจัดเก็บภาษีหุ้นไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ซึ่งมีการจัดเก็บมานานแล้ว แต่ได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 34 เพื่อจูงใจให้นักลงทุนหน้าใหม่ ๆ เข้ามาลงทุนในตลาดทุนเพิ่มขึ้น แต่การที่รัฐจุดพลุเรื่องนี้ขึ้นมาถือเป็นการโยนหินถามทาง
เพราะปัจจุบันรู้กันดีว่าภาวะเศรษฐกิจไทยเศรษฐกิจโลกอยู่อาการหน้าสิ่วหน้าขวาน หลังจากไวรัสโควิดที่แพร่ระบาดไม่หยุด และผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งทำนิวไฮต่อเนื่อง รัฐต้องงัดมาตรการเงิน-การคลังมาค้ำยันเศรษฐกิจ พร้อมออกพ.ร.ก.กู้เงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบโควิด 1 ล้านล้านบาทไปก่อนหน้านี้แต่ไม่เพียงพอในการดูแลเศรษฐกิจต้องเพิ่มวงเงินอีก 5 แสนล้านเพื่อให้ก้าวข้ามพ้นวิกติครั้งนี้ไปให้ได้
ดังนั้นการเก็บภาษีเพิ่มจึงเป็นวิธีหนึ่งในการวาง แผนเติมเงินคงคลังที่ร่อยหรอให้กลับคืนมาเหมือนเดิม
ทันทีที่มีกระแสข่าวดังกล่าวหลุดรอดออกมา "ไพบูลย์ นลินทรางกูร" ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) แสดงความไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะจะทำให้สภาพคล่องการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง จากนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนการซื้อขายประมาณ 41%ของมูลค่าซื้อขายในตลาดหุ้นไทย
ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติซื้อขายหุ้นไทยผ่านโปรแกรมเทรด ซึ่งจะมีลักษณะการซื้อขายถี่ หากเก็บภาษีขายหุ้นจะทำให้ต้นทุนการซื้อขายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต่างชาติไม่มาเทรดในตลาดหุ้นไทย ซึ่งคาดว่าจะทำให้มูลค่าซื้อขายตลาดรวมหายไปประมาณ 30%
นอกจากนี้จะทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในตลาดหุ้นในต่างประเทศแทน เนื่องจากให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่า เมื่อรวมต้นทุนการซื้อขายทุกอย่างแล้วและหากสภาพคล่องซื้อขายหุ้นลดลง ก็จะส่งผลกระทบต่อบริษัทที่จะเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯเช่นกันเมื่อสภาพคล่องน้อยทำให้นักลงทุนอาจไม่สนใจมาลงทุน ทำให้บริษัทระดมทุนไม่ได้ตามเป้าหมาย
ทั้งนี้รัฐบาลสามารถหาทางออกในแง่ของการหารายได้ ด้วยการเข้าทำงานร่วมกับตลาดทุนอย่างจริงจัง เนื่องจากตลาดหุ้นสามารถตอบโจทย์ในการระดมทุนของเอสเอ็มอี การวางโครงสร้างการระดมทุนสำหรับเอสเอ็มอีในระยะยาวให้เข้าถึงตลาดทุน จะทำให้ธุรกิจแข็งแกร่งเติบโตภาครัฐสามารถเก็บภาษีธุรกิจได้ แต่หากเก็บภาษีจากตลาดทุนทันทีพอนักลงทุนรู้สึกว่าต้นทุนแพงก็จะไม่ลงทุน ท้ายสุดรัฐก็จะเก็บภาษีได้น้อย ดังนั้นการให้ตลาดทุนพัฒนาได้เต็มที่และสามารถสนับสนุนนโยบายรัฐบาลจะดีกว่า
สอดรับกับ "วศิน วณิชย์วรนันต์" นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน หรือ AIMC มองว่า ภาครัฐควรจะพิจารณาอย่างรอบคอบและคำนึงถึงสภาพแวดล้อมโดยรวมของตลาดทุนไทยที่อิงเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งปัจจุบันจีดีพีไทยมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าประเทศอื่น และในตลาดหุ้นไทยเองไม่มีมีหุ้น New Economy มากเหมือนตลาดหุ้นต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทบดีกว่าทำให้ตลาดหุ้นไทย ไม่สามารถดึงดูดความสนใจของนักลงทุนต่างชาติได้มากอยู่แล้ว
นอกจากนี้จะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการบริหารจัดการกองทุนรวม โดยเฉพาะกองทุนที่มีนโบยายการลงทุนแบบ Active ที่มีธุรกรรมการซื้อขายหุ้นหลายครั้งและยอดธุรกรรมค่อนข้างมาก และยังส่งผลกระทบ sentiment ต่อการลงทุนทำให้ความน่าสนใจของกองทุนไทยลดลงเมื่อเทียบกับการลงทุนในต่างประเทศ
ขณะที่นักลงทุนรายใหญ่อย่าง " เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง" มองว่า จะต้องศึกษาผลดีผลเสียรอบด้านว่า จะกระทบต่อภาพรวมมากน้อยแค่ไหน แต่ต้องคำนึงว่าสิ่งที่จะตามมาคุ้มหรือไม่ โดยเฉพาะมาร์เก็ตแคปอาจจะหายไป เนื่องจากในตลาดหุ้น มีพอร์ตของนักลงทุนจำนวนมาก
ปิดท้ายที่ "นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม" รองกรรมการผู้จัดการ ผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส หรือ ASPS มองว่า หากมีการเก็บภาษีจากการขายหุ้น จะทำให้รายได้รัฐเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 1- 2 หมื่นล้านบาท (ถ้ามูลค่าซื้อขายยังอยู่ในระดับใกล้เคียงอดีต) คือ ในปีปัจจุบันนักลงทุนประเภท Active มีการซื้อขายหุ้นเฉลี่ยราว 2-3 ล้านบาทต่อเดือน หากรัฐเรียกเก็บภาษีนักลงทุนที่มีการขายหุ้นเกิน 1 ล้านบาทต่อเดือน แสดงว่านักลงทุนประ เภท Active ส่วนใหญ่จะถูกเก็บภาษี
ในเบื้องต้นหากคำนวณรายได้รัฐจากการเก็บภาษีหลักทรัพย์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 64 ตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าซื้อขายแบบคิดขาเดียว รวม 11.3 ล้านล้านบาท เมื่อคูณอัตราภาษี 0.11% รัฐจะมีรายได้เพิ่มประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ถ้าคำนวณเป็นตัวเลขทั้งปีก็จะสูงเกิน 2 หมื่นล้านบาท
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดหุ้นไทยจะลดลง เนื่องจากผลตอบแทนของการ Trading ลดลงจาก Transaction cost ที่สูงขึ้นมาก ทำให้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศได้ลดน้อยลง โดยเฉพาะจากนักเก็งกำไร
นอกจากนี้ทำให้มูลค่าการซื้อขายหดตัวลง อาจส่งผลให้การเรียกเก็บภาษีในระยาวมีโอกาสลดลง ตราบที่มูลค่าซื้อขายในอนาคตยังคงลดลงต่อเนื่อง ดังนั้น ประเด็นดังกล่าว หากรัฐปฏิบัติจริงถือว่ากดดันตลาดหุ้นพอสมควร ทั้งในมุมผลตอบแทน และมูลค่าซื้อขายที่ลดลง
ทั้งนี้แม้ว่าข่าวที่ออกมายังไม่เป็นที่แน่นอนว่ารัฐจะเคาะเก็บภาษีหุ้นเมื่อไหร่ แต่ก็รู้กันว่าถูกบรรจุไว้ในแผนการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ของกรมสรรพากรไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าในอนาคตหากรัฐมีการเก็บภาษีหุ้นจริงอาจกระทบต่อกลุ่มกองทุนทั้งในและต่างประเทศ นักลงทุนรายใหญ่ และกลุ่มที่มีการซื้อขายสูงกันไม่น้อย
ซึ่งหากเก็บในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูคงไม่มีใครคัดค้านต้านทาน แต่ในยามนี้เป็นที่รู้กันอยู่ว่าทั่วทุกหย่อมหญ้าต่างได้รับผลกระทบจากโควิดกันทั้งนั้น ดังนั้นรัฐอาจเก็บเรื่องนี้กลับเข้าไว้ในลิ้นชักไปก่อนเมื่อถึงเวลาเศรษฐกิจฟื้นกลับมาก็ยังไม่สาย เพราะช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแบบนี้หากทำอะไรลงไปโดยไม่คิดรอบด้านอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดีก็เป็นได้..