รีเซต

"ธรรมนัส"โล่ง มติศาลรัฐธรรมนูญ 9:0 ชี้ไม่สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.-รมต. เหตุต้องโทษคำพิพากษาต่างประเทศไม่ใช่ศาลไทย

"ธรรมนัส"โล่ง มติศาลรัฐธรรมนูญ 9:0 ชี้ไม่สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.-รมต. เหตุต้องโทษคำพิพากษาต่างประเทศไม่ใช่ศาลไทย
มติชน
6 พฤษภาคม 2564 ( 08:45 )
62
"ธรรมนัส"โล่ง มติศาลรัฐธรรมนูญ 9:0 ชี้ไม่สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.-รมต. เหตุต้องโทษคำพิพากษาต่างประเทศไม่ใช่ศาลไทย

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย กรณีที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของ ส.ส. 51 คน ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยที่ประชุมมอบหมายให้นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัยว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือเรียกสำเนาคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2537 และสำเนาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 10 มีนาคม 2538 และเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องจากผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ไม่สามารถส่งสำเนาเอกสารคำพิพากษาดังกล่าว และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องที่ทางราชการรับรองสำเนาถูกต้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จ.พะเยา เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนผู้ถูกร้องสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ผู้ถูกร้องรับว่าตนเคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์

 

 

“ประเด็นที่หนึ่ง สมาชิก ส.ส.ของผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด มีข้อพิจารณาก่อนว่าคำว่าเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) เป็นลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.หมายความถึงคำพิพากษาของศาลไทยเท่านั้นหรือไม่ เห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ วรรคสอง บัญญัติว่า รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม”นายนภดลกล่าว

 

 

นายนภดลกล่าวระบุว่า จากบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึงอำนาจอธิปไตยอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ลักษณะสำคัญของอำนาจอธิปไตยคือมีความเด็ดขาด สมบูรณ์ ไม่อยู่ในอาณัติหรือภายใต้อำนาจของรัฐอื่น อำนาจอธิปไตยแยกตามลักษณะหน้าที่ 3 ส่วน ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นการใช้อำนาจตุลาการเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย ย่อมต้องไม่ตกอยู่ในอาณัติหรือภายใต้อำนาจตุลาการของรัฐอื่น หลักการปกครองของประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์ มีหลักการสำคัญคือหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และไม่ถูกประเทศอื่นแทรกแซงกิจการภายในของตน โดยไม่มีการทำข้อตกลงยินยอม ดังนั้น การบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศก็ดี การตีความให้คำพิพากษาของต่างประเทศ มีสถานะทางกฎหมายเช่นเดียวกับคำพิพากษาของศาลไทยก็ดี จึงไม่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว ตามหลักอธิปไตยของรัฐ ตามกฎหมายระหว่างประเทศ คำพิพากษาของศาลรัฐใดก็จะมีผลในดินแดนของรัฐนั้น บางกรณีรัฐใดรัฐหนึ่งอาจให้การรับรองคำพิพากษาของศาลอีกรัฐหนึ่งและอาจบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษานั้นได้ แต่ต้องมีการทำสนธิสัญญารับรองและบังคับตามคำพิพากษาตามหลักการต่างตอบแทนซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรณีคดีแพ่ง ครอบครัวและมรดก สำหรับคดีอาญาอาจได้รับการยอมรับพิจารณาบ้างกรณีส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือการโอนนักโทษ โดยมีเงื่อนไขสำคัญตามหลักการต่างตอบแทนในสนธิสัญญาว่ารัฐภาคีต้องผูกพันและจะเคารพและปฏิบัติตามผลของคำพิพากษาของอีกรัฐภาคีหนึ่งด้วย

 

 

นายนภดลกล่าวอีกว่า ดังนั้น ทั้งหลักการและทางปฏิบัติของรัฐเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางตุลาการได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศเพื่อยืนยันความเป็นอิสระของตุลาการและความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษา เมื่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีการกล่าวถึงคำพิพากษา จึงต้องหมายถึงคำพิพากษาของศาลแห่งรัฐหรือประเทศนั้นเท่านั้น ไม่รวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ การตรากฎหมายอาญาของแต่ละประเทศกำหนดการกระทำที่เป็นความผิด องค์ประกอบของความผิด ฐานความผิด และเงื่อนไขการลงโทษไว้แตกต่างกัน โดยกระทำอย่างเดียวกันกฎหมายของบางประเทศอาจกำหนดให้เป็นความผิด แต่กฎหมายของไทยอาจไม่ได้กำหนดให้เป็นความผิดก็ได้ อีกทั้งหากตีความว่า เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด หมายความรวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย ทำให้ไม่อาจกลั่นกรองหรือตรวจสอบความชอบด้วยหลักนิติธรรมของกระบวนพิจารณาของศาลต่างประเทศดังกล่าว และขัดต่อหลักการต่างตอบแทน

 

 

“กล่าวคือศาลต่างประเทศไม่ต้องบังคับหรือยอมรับคำพิพากษาของศาลไทย ทำให้อำนาจอธิปไตยทางศาลของไทยถูกกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญ แม้ข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ว่าผู้ถูกร้องเคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ก่อนสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แต่ไม่ใช่คำพิพากษาของศาลไทย ผู้ถูกร้องจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) สมาชิกภาพ ส.ส.ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) และเมื่อได้วินิจฉัยประเด็นแรกไว้แล้วว่าผู้ถูกร้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 98 (10) ความเป็นรัฐมนตรีจึงไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบ มาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10)” นายนภดลระบุ

 

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนุูญมีมติเอกฉันท์ 9 : 0

ข่าวที่เกี่ยวข้อง