ถ้าพูดถึง Power BI หรือ Power Pivot แล้วไม่พูดถึง DAX (Data Analysis Expressions) ก็เหมือนกินส้มตำแล้วลืมใส่ปลาร้า! DAX เป็นเหมือนภาษาที่ช่วยให้เราสร้างการคำนวณขั้นเทพ ไม่ว่าจะเป็นการสรุปข้อมูล การคำนวณแบบไดนามิก หรือการสร้างเมตริกที่ซับซ้อนในรูปแบบที่เข้าใจง่ายขึ้น หลายคนเริ่มต้นกับ DAX ด้วยคำถามที่เหมือนกันว่า “มันยากไหม?” คำตอบคือ ไม่ยากเลยถ้าจับทางได้! DAX มีลักษณะคล้ายสูตรใน Excel แต่มีพลังที่ทรงพลังกว่า เพราะสามารถใช้กับข้อมูลจำนวนมหาศาล และสร้างการคำนวณที่เชื่อมโยงกันในหลายตาราง ลองนึกภาพว่าเรามีฐานข้อมูลของร้านค้า ซึ่งประกอบไปด้วยยอดขาย รายการสินค้า และข้อมูลลูกค้า คุณอยากรู้ว่าสินค้าไหนขายดีในเดือนที่แล้ว หรือใครคือ "ลูกค้าขาประจำ" ที่สร้างยอดขายให้มากที่สุด DAX จะช่วยให้คุณได้คำตอบง่ายๆ ภายในไม่กี่คลิก 5 ฟังก์ชัน DAX ที่ควรรู้ พร้อมตัวอย่างข้อมูล ข้อมูลตัวอย่าง: Sales Data ก่อนการใช้งาน DAX บน Excel ก็จะต้องเอาข้อมูลเข้าไปไว้ใน Power Query หรือ Power Pivot ก่อนนะครับ โดยขั้นตอนไม่ยาก ให้ทำตามนี้เลยครับ ขั้นตอนการโหลดข้อมูลเข้าไปใน Power Query เริ่มด้วยการโหลดไฟล์ลง Power Query เปิด Excel แล้วไปที่แท็บ Data > Get Data จากนั้นเลือกแหล่งข้อมูลที่คุณต้องการ ไม่ว่าจะเป็น CSV, SQL หรือไฟล์ที่หัวหน้าส่งมาแบบไม่มีการเกริ่นก่อนเลยว่า “บรรทัดน้อย” (จริงเหรอ?) (ถ้าเปิด Excel เวอร์ชันอื่นๆ คำสั่งที่เรียกใช้อาจจะแตกต่างกันนะครับ) เลือกและปรับปรุงข้อมูล โดยเลือกข้อมูลที่ต้องการเหมือนใน Excel ธรรมดาเลยครับ ลบคอลัมน์หรือจะเพิ่มคอลัมน์โดยใช้การคำนวณที่ต้องการก็ได้นะ เช็กข้อมูลและตัดส่วนที่ไม่ต้องการ เมื่อข้อมูลขึ้นมาบน Power Query คุณจะเห็นมันเต็มหน้าจอ ให้ใช้ฟังก์ชัน Filter เพื่อกรองเฉพาะสิ่งที่ต้องการ ส่งกลับ Excel แบบโปร กด Close & Load แล้วส่งข้อมูลกลับไปยังชีต Excel หรือจะสรุปผลผ่าน Pivot Table ก็ได้เหมือนนะครับ สำหรับในตัวอย่างนี้ มีตัวอย่างข้อมูลอยู่ในไฟล์ Excel แล้ว จะใช้การโหลดข้อมูลเข้าไปใน Power Query เลย โดยการเลือกข้อมูลเอาไว้แล้วไปที่ Tab Data เลือกคำสั่ง From Table หลังจากนั้นก็ทำตามขั้นตอนและโหลดเข้าสู่ Power Query ได้เลยนะครับ เมื่อได้ข้อมูลแล้ว เราไปลองใช้งาน DAX กันครับ วิธีการเพิ่ม DAX เราทำได้โดยการ Click ขวาในหน้าต่างที่แสดงชื่อฟิลด์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับ Pivot Table นะครับ แล้วเลือกที่คำสั่ง Add Measure หลังจากนั้นเขียนคำสั่งตามภาพได้เลย ตัวอย่างการใช้ DAX 1. SUM: หาผลรวมของตัวเลข ฟังก์ชัน SUM ใช้เพื่อหาผลรวมของคอลัมน์ตัวเลข เช่น การหายอดขายรวม (Quantity) สูตร DAX: Total Sales = SUM(Sales[Quantity]) ผลลัพธ์: ผลรวม Quantity = 5 + 10 + 3 + 20 + 15 = 53 2. CALCULATE: คำนวณตามเงื่อนไข ฟังก์ชัน CALCULATE ใช้ในการเปลี่ยนบริบทของการคำนวณ เช่น ยอดขายเฉพาะ Electronics สูตร DAX: Electronics Sales = CALCULATE(SUM(Sales[Quantity]), Sales[Category] = "Electronics") ผลลัพธ์: Electronics Sales = 5 (Laptop) + 10 (Phone) + 3 (TV) = 18 3. DISTINCTCOUNT: นับค่าที่ไม่ซ้ำกัน ถ้าคุณอยากรู้ว่ามีจำนวนสินค้ากี่ประเภทไม่ซ้ำกัน ใช้ DISTINCTCOUNT ได้เลย! สูตร DAX: Unique Products = DISTINCTCOUNT(Sales[Product]) ผลลัพธ์: Product ไม่ซ้ำกันมี 5 ตัว (Laptop, Phone, TV, Chair, Table) 4. AVERAGE: ค่าเฉลี่ย หาค่าเฉลี่ยของราคา (Price) ง่ายๆ ด้วย AVERAGE สูตร DAX: Average Price = AVERAGE(Sales[Price]) ผลลัพธ์: Average Price = (500 + 200 + 800 + 50 + 100) / 5 = 330 5. DATEADD: เปรียบเทียบข้อมูลตามวันที่ สมมติว่าต้องการเปรียบเทียบยอดขายจากเดือนก่อน ใช้ DATEADD เพื่อเลื่อนวันที่ในบริบท สูตร DAX: Previous Month Sales = CALCULATE(SUM(Sales[Quantity]), DATEADD(Sales[Date], -1, MONTH)) ผลลัพธ์: ถ้าข้อมูลมีการแบ่งเดือน รายงานนี้จะโชว์ยอดขายของเดือนที่แล้ว สำหรับ DAX ที่เราเขียนเพิ่ม จะแสดงใน Pivot Table และเราสามารถแก้ไข DAX ที่เราเขียนได้ตามต้องการ หรือเพิ่มได้ตามที่ต้องการว่าอยากให้คำนวณแบบไหน จัดการได้เลย เทคนิคเพิ่มเติม: การเขียน DAX ให้เวิร์ก ตั้งชื่อตัวแปรให้อ่านง่าย เช่น Total Sales จะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายกว่า TSales เช็กผลลัพธ์บ่อยๆ โดยการเพิ่มตัวเลขในตารางเพื่อทดสอบว่าได้ค่าที่ถูกต้อง ใช้ Data Model ที่เหมาะสม เช่น สร้างความสัมพันธ์ (Relationships) ระหว่างตารางใน Power BI ก่อนเขียน DAX หวังว่าทั้ง 5 ฟังก์ชันนี้จะช่วยให้คุณเริ่มต้นเขียน DAX ได้อย่างมั่นใจ และถ้าข้อมูลเยอะ ก็ไม่ต้องกลัว เพราะ DAX ช่วยคุณคำนวณได้แบบโปร! ภาพโดยนักเขียน หมีขั้วโลก ทอดกรอบ〔´(エ)`〕 เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !