นายกฯ สั่งเปิดศูนย์ 191 ทั่วประเทศ เพิ่มสายด่วนโควิด ต้องรักษารวดเร็ว ทั่วถึง
ข่าววันนี้ 2 พ.ค. นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายหน่วยงานได้ร่วมกันดำเนินการขยายศักยภาพการให้บริกาสายด่วนโควิด19 ทั้งในเรื่องความเพียงพอของบุคลากรและจำนวนคู่สาย เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลที่สถานพยาบาลตามระดับอาการอย่างรวดเร็ว ตามข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม การบูรณาการทำงานมีดังนี้
1. กระทรวงสาธารณสุข ในช่วงต้นได้เพิ่มจำนวนคนมาช่วยรับสาย โทร 1668 ซึ่งเป็นจิตอาสาทางการแพทย์และสาธารณสุขกว่า 200 คน และต่อมามีการเพิ่มคู่สาย อีก 40 คู่สายโทร.02-079-1000 เพื่อเสริมศักยภาพในการประสาน รับ-ส่ง ผู้ติดเชื้อไปศูนย์แรกรับอาคารนิมิบุตร
2. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คัดนักเรียนแพทย์ที่มีความพร้อมมาช่วยรับโทรศัพท์ 1668 และ 1669 เพื่อแก้ปัญหาคนไม่พอ
3. บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ เข้าปรับปรุงระบบ 1668 และเพิ่มคู่สายให้สามารถรองรับปริมาณการโทรจำนวนมาก
4. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิด "ศูนย์ 191" รับแจ้งผู้ป่วยโควิด 19 แล้วส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานการแพทย์ ตลอด 24 ชม. รองรับ 1,200 คู่สายทั่วประเทศ
5. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) โทร 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง ทำงานคู่ขนานกับสายด่วน 1668 ของกระทรวงสาธารณสุข และ 1669 ศูนย์เอรวัณ กทม. เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 สอบถามข้อมูลการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) และประสานหาเตียง
6. สำหรับผู้ติดเชื้อในพื้นที่กทม. โทรสายด่วน 1669 ศูนย์เอราวัณ ซึ่งได้จัดระบบการรับสายใหม่และเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่รับสาย ขณะนี้ไม่มีปัญหาแล้ว และพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งประชาชนสามารถติดต่อสายด่วน 1668 หรือ 1330 ได้ด้วย ทั้งนี้ เมื่อมีผู้รับเรื่องแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องโทรหมายเลขอื่นอีก เนื่องจาก ศูนย์เอราวัณจะเป็นศูนย์กลางในการจัดเตียง ขณะนี้ ทางศูนย์ฯ แจ้งว่าสามารถดำเนินการนำส่งผู้ป่วยได้แบบวันต่อวัน
รองโฆษกฯ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณบุคลากรและอาสาสมัครทุกภาคส่วนที่ทุ่มเทกำลังอย่างเต็มที่ในการดูแลประชาชนในสถาณการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 ข้อบกพร่องใดๆที่เกิดขึ้น รัฐบาลได้เร่งเข้าแก้ไข และสนับสนุนทรัพยากรเพื่อให้เกิดพัฒนางานบริการในทุกด้าน รวมถึงมีการเตรียมพร้อมเพื่อดูแลผู้ป่วยอาการหนักที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น
อีกทั้ง มีงบประมาณเพียงพอต่อการเยียวยาดูแลและบรรเทาผลกระทบโควิด19 รอบใหม่ วงเงินมาจากจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน และงบกลางปีงบประมาณ 2564 โดยกระทรวงการคลัง กำลังพิจารณาออกมาตรการ ทั้งรูปแบบการเยียวยา และกระตุ้นใช้จ่าย