รีเซต

สังคมยุค'โควิด' 'ไทย'ติดเชื้อลด แต่'เครียด'ทะยานขึ้น

สังคมยุค'โควิด'  'ไทย'ติดเชื้อลด  แต่'เครียด'ทะยานขึ้น
มติชน
23 เมษายน 2563 ( 13:45 )
282
4
สังคมยุค'โควิด'  'ไทย'ติดเชื้อลด  แต่'เครียด'ทะยานขึ้น

เฟซบุ๊กศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. วันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา ขึ้นประโยคไว้ว่า เป้าหมายต่อไป ‘ต่ำสิบ’ หลังจากยอดตัวเลขที่ ศบค.แถลงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 19 คน นับเป็นครั้งแรกที่ยอดลงมาต่ำกว่า 20 ราย เป็นครั้งแรกในรอบ 38 วัน และเป็นเพียงครั้งที่สองเท่านั้นที่มียอดผู้ติดเชื้อที่นำหน้าด้วยเลข 1 ครั้งแรกคือวันที่ 12 มีนาคม มีผู้ติดเชื้อจำนวน 11 ราย

 

ดังนั้น การลดจำนวนผู้ติดเชื้อของวันลงได้เหลือ 19 ราย จึงนับว่าเป็นหมุดหมายสำคัญอีกครั้ง ในการช่วยกันดึงกราฟลงมาเรื่อยๆ จากทุกภาคส่วน เพจของ ศบค.ว่าไว้เช่นนั้น ยิ่งเป็นคำตอบที่ชัดเจนขึ้นว่า โอกาสจะ ‘ต่ำสิบ’ มีแนวโน้มสูงขึ้น หลังจากยอดผู้ติดเชื้อสะสมในวันที่ 22 เมษายน ต่อมามีแค่ 15 คน เท่านั้น หากได้ย้อนตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันของประเทศไทยที่ผ่านมาก็มีนัยสำคัญหลายช่วงด้วยกัน

 

เริ่มตั้งแต่ช่วงวันที่ 22 มีนาคม 2563 เป็นครั้งแรกที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ทะยานเป็นตัวเลข 3 หลักด้วยกัน มีผู้ติดเชื้อ 188 ราย ทำให้ในวันนั้นไทยมียอดสะสมผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 599 ราย เสียชีวิต 1 ราย ก่อนที่ตัวเลขติดเชื้อจะทะลักขึ้นเป็นลำดับในแต่ละวัน เป็น 122 ราย (23 มี.ค.), 106 ราย (24 มี.ค.), 107 ราย (25 มี.ค.), 111 ราย (26 มี.ค.), 91 ราย (27 มี.ค.) 100 ราย (28 มี.ค.), 143 ราย (29 มี.ค.), 136 ราย (30 มี.ค.), 127 ราย (31 มี.ค.), 120 ราย (1 เม.ย.), 104 ราย (2 เม.ย.),103 ราย (3 เม.ย.), 89 ราย (4 เม.ย.), 102 ราย (5 เม.ย.)

 

กระทั่งในวันที่ 6 เมษายน ตัวเลขติดเชื้อลงมาที่ 51 ราย เริ่มมองเห็นทิศทางที่กระเตื้องขึ้น เส้นกราฟไม่พุ่งขึ้นเฉียง แต่ทะยานแตะลงมาเป็นแนวราบที่กำลังลดเพดานลงมา จากระดับกว่า 50 ราย ค่อยๆ ลงมาเป็นระดับกว่า 40 ราย จนลงมาไม่ถึง 30 ราย และเข้าสู่การติดเชื้อสะสมที่ 15 ราย ดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมของไทยที่แถลง ณ วันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา มีจำนวน 19 รายนั้น เพจ ศบค.ระบุว่า ‘แม้ว่าลดลงมาก แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้เราวางใจได้ว่าเราได้รอดพ้นจากการแพร่ระบาดแล้ว ดังนั้น ทุกคนทุกฝ่ายจึงยังต้องเฝ้าระวังกันต่อไป การ์ดอย่าตก เพื่อเป้าหมายต่อไปคือ ‘ต่ำสิบ’ และหากเรา ‘ต่ำสิบ’ ได้นานกว่า 14 วัน เมื่อนั้นการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ คงจะสามารถเป็นจริงได้มากขึ้นเรื่อยๆ’

 

คงต้องลุ้นกันต่อหากในเร็วๆ นี้ สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ต่ำกว่าสิบ และยาวต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ มาตรการของรัฐบาล จนถึงจังหวัดต่างๆ ก็จะคลี่คลายลงมา โดยเฉพาะการปิดทางเข้าจังหวัด การปิดเมือง ที่ผ่านมาต่างใช้คำว่า ‘ยอมเจ็บเพื่อจบ!’

 

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่แถลงในวันที่ 21 เมษายน หลังแจ้งตัวเลขติดเชื้อลดฮวบฮาบลงมาเหลือ 19 ราย ว่า ‘จะเห็นว่าผลของผู้ติดเชื้อที่ลดลงมาจากการที่เรา อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ 14 วันที่แล้ว ที่มีการร่วมมือกันอย่างดี ผู้ป่วยที่ยังรักษาในโรงพยาบาลลดลงอยู่ที่ 655 ราย ถือเป็นเรื่องดีที่เตียงว่าง ตอนนี้ไม่มีใครอยากจะเข้าโรงพยาบาล การเจ็บป่วยลดลง รวมถึงโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูการก็ลดน้อยถอยลงเช่นเดียวกัน เป็นเรื่องดีที่เราหันมาดูแลสุขภาพกัน’

 

ดังนั้น ตัวเลขติดเชื้อสะสมที่น้อยลงย่อมนำมาด้วยความหวังมากขึ้นว่าประเทศไทยกำลังเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ความเครียดของการถูกล็อกดาวน์ การไม่ได้ออกไปทำมาหากินทั้งในส่วนนายจ้าง ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างกินเงินเดือน และประชาชนที่ทำงานอิสระหาเช้ากินค่ำในแต่ละวันอีกบาน

 

ตะไท ฯลฯ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในห้วงเวลาเดียวกัน นับวันจะเพิ่มมากขึ้น มีการหักลดเงินเดือนลง หรือจ้างให้อยู่บ้านโดยไม่มีเงินเดือน โรงงานต่างทยอยปิดตัว เมื่อไม่มีออเดอร์ เครื่องจักรต้องหยุดทำงาน ไม่มีเงินหมุนเข้ามาในระบบ ใครที่สายป่านยาวไม่พอก็จำต้องเชิญพนักงานออกจากงาน เป็นความจริงที่รัฐบาลเองรับทราบ แม้จะเข็นเงินออกมาหลายแสนล้าน โยกงบประมาณที่ไม่จำเป็นของปี 63 ยาวจนถึงปี 64 มาเพื่อช่วยเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ การอัดฉีดมาตรการของหน่วยงานภาครัฐและวิสาหกิจ ทั้งสถาบันการเงินงดส่งเงินต้น-ดอกเบี้ย ช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ลดค่าน้ำ ค่าไฟ และขอความร่วมมือ 5 ค่ายมือถือเอกชนจัดแพคเกจโทรฟรี 100 นาที

 

ประชาชนล้วนรับทราบ หลายคนโอดครวญทั้งที่ได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง ล่าสุด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจเรื่อง ‘คนเครียดโควิด-19’ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,012 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-19 เมษายน 2563 พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.8 รับรู้ว่าคนไทยเสียชีวิตจากโควิด-19 น้อยกว่าชาติอื่นๆ ในขณะที่ร้อยละ 25.2 ระบุไม่น้อยกว่า

 

โพลระบุอีกว่า เมื่อถามถึงสิ่งที่เห็นช่วงวิกฤตโควิด-19 ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.2 ระบุ ได้เห็นระบบสาธารณสุขของประเทศไทยดี มีแพทย์ พยาบาล อสม. เข้มแข็ง ทุกภาคส่วนตื่นตัว ดูแลสุขภาพมากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 23.8 ระบุปานกลาง และเพียงร้อยละ 3.0 ระบุน้อย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.3 ระบุเห็นคนไทยช่วยเหลือดูแลกันเอง โดยเฉพาะคนรายได้ปานกลางถึงระดับล่าง เห็นอกเห็นใจกัน ในขณะที่ร้อยละ 33.6 ระบุปานกลาง และร้อยละ 4.1 ระบุน้อย

 

เมื่อถามถึงสิ่งที่เป็นอยู่ช่วงโควิด-19 ผลสำรวจพบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.2 ระบุ รายได้ลดลง ขณะที่ร้อยละ 28.3 ระบุเหมือนเดิม และมีเพียงร้อยละ 5.5 ระบุเพิ่มขึ้น ที่น่าเป็นห่วงคือ จำนวนมากที่สุด หรือร้อยละ 47.9 ระบุรายจ่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 45.7 เหมือนเดิม และเพียงร้อยละ 6.4 ระบุรายจ่ายลดลง

 

ที่น่าห่วงอย่างยิ่งคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.5 ระบุมีความเครียดเพิ่มขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 30.5 ระบุเหมือนเดิม และเพียงร้อยละ 2.0 เท่านั้นระบุมีความเครียดลดลง

 

เมื่อถามถึงสิ่งที่ต้องการอีก หรือพอแล้วจากฝ่ายการเมือง พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.7 ต้องการให้ฝ่ายการเมืองช่วยลดภาระ ลดรายจ่ายลงอีก ในขณะที่ร้อยละ 8.3 ระบุพอแล้ว และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.3 ต้องการให้ช่วยจ้างงาน ช่วยคนตกงานเพิ่มขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 9.7 ระบุพอแล้ว

 

ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวว่า คนเครียดโควิด-19 มีเหตุปัจจัยจาก 2 ส่วน คือ 1.รายได้หด ตกงาน รายจ่ายเพิ่ม และ 2.การอยู่บ้านกักตัว ข่าวลือ ข้อมูลลวง ความขัดแย้งแตกแยกทางการเมือง กำลังทำให้คนไทยเครียดหนัก ดังนั้น การแก้ไขส่วนที่ 1 ให้ใช้ ‘แนวเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข’ อัดฉีดเงินเข้าสู่ 3 ช่องทาง ได้แก่ ช่องทางแรกคือ อัดฉีดเงินตรงให้ประชาชนแต่ละคนทุกคนที่ขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 20 ล้านคนทุกคนได้มากหรือน้อย ได้ทุกคนไม่มีใครผิดหวัง ช่องทางที่สองคือ อัดฉีดไปที่วิสาหกิจชุมชนทั้ง 8 หมื่นชุมชนทั่วประเทศ สร้างงานสร้างอาชีพตามหลัก เศรษฐกิจหมุนเวียน และช่องทางที่สามคือ อัดฉีดเงินไปที่ผู้ประกอบการธุรกิจ ขึ้นทะเบียนกระทรวงการคลัง

 

การแก้ไขส่วนที่ 2 คือ เสนอให้จัดตั้ง ‘กลุ่มเพื่อนทางไกล’ ช่วยบรรเทาความเครียดของประชาชน นำโดยกลุ่มจิตแพทย์และจิตอาสาจากทุกภาคส่วนเข้าถึงประชาชนระดับปัจเจกบุคคลและครัวเรือน ช่วยเหลือเยียวยาทางด้านจิตใจและหาก X-Ray คัดกรองพบว่าพวกเขากำลังเดือดร้อนต้องการรับการรักษาเยียวยาด้านวัตถุและเหตุปัจจัยอื่นๆ ก็ควรมีคณะบุคคลตัวแทนลงพื้นที่เคาะประตูบ้านตอบโจทย์ ตรงเป้าความต้องการของประชาชนได้แท้จริง โดยทำให้เห็นว่ารัฐบาลจับมือฝ่ายค้านทำงานไปด้วยกันไม่แบ่งแยก ไม่แบ่งฝ่าย มีหัวใจอยู่ที่ประชาชน

 

ด้วยตัวเลขติดเชื้อที่ลดลงเป็นลำดับ ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่ประชาชนอยากกลับมาใช้ชีวิต ทำงานปกติ เพื่อมีเงินมาจุนเจือครอบครัวเสียที

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง