รีเซต

หน้า2 : จิ๊กซอว์พลิกฟื้นศก. กสทช.แกนหลัก‘ดิจิทัล อีโคโนมี’

หน้า2 : จิ๊กซอว์พลิกฟื้นศก. กสทช.แกนหลัก‘ดิจิทัล อีโคโนมี’
มติชน
16 พฤศจิกายน 2563 ( 14:29 )
45

หมายเหตุหนังสือพิมพ์มติชน กำหนดจัดสัมมนา “7 เสือที่อยากเห็น กสทช.ชุดใหม่ เปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทย” วันที่ 25 พฤศจิกายน ณ ห้องประชุมหนังสือพิมพ์ข่าวสด เวลา 09.00-12.00 น. ภายใต้มาตรการควบคุมโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นหนึ่งในวิทยากรผู้ร่วมสัมมนาดังกล่าว ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษก่อนถ่ายภาพเต็มบนเวที

 

•ประเมินเศรษฐกิจช่วงปลายปี 2563 และปี 2564

 

เชื่อว่าเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 4/2563 (ตุลาคม-ธันวาคม) จะดีกว่าไตรมาส 2/2563 (เมษายน-มิถุนายน) ที่เผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก เพราะผลจากมาตรการคนละครึ่งของภาครัฐ ได้เห็นการจับจ่ายของประชาชน ร้านค้ารายย่อยเริ่มคึกคักทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย รวมทั้งมาตรการเที่ยวด้วยกันก็สร้างความคึกคักเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช้อปดีมีคืน ที่รัฐบาลจะคืนภาษีให้ผู้ซื้อสินค้าในกรณีซื้อสินค้าวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท

 

มาตรการเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจมีแรงส่ง ไม่หล่นลงไปมากกว่านี้แล้ว ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) น่าจะดีขึ้นบ้าง อาจติดลบน้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ จากปัจจุบันคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประเมินไว้ที่ -9 ถึง -7% ขณะที่การส่งออกเริ่มดีขึ้น นอกจากนี้ ผลจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศสหรัฐ จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีโอกาสขยายตัวมากขึ้น แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในปี 2564 น่าจะสดใส

 

สำหรับราคาทองคำที่ผันผวน รวมทั้งน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และหุ้นบวกในช่วงที่ผ่านมา ปัจจัยหลักมาจากความเสี่ยงเรื่องสงครามการค้า (เทรดวอร์) ที่ลดน้อยลง การแข่งขันทางการค้าน้อยลง เมื่อความเสี่ยงด้านต่างๆ น้อยลง คนจึงเริ่มลงทุนในสินทรัพย์อื่นมากขึ้นจากที่ผ่านเน้นลงทุนทอง ซึ่งผลจากความเสี่ยงเทรดวอร์ที่ลดลง น่าจะส่งผลให้การส่งออกของไทยดีขึ้น ได้อานิสงส์เพิ่มขึ้น

 

•การลงทุนภาคอุตสาหกรรมจากนี้
คิดว่าทุกคนกำลังติดตามท่าทีจากผู้นำสหรัฐคนใหม่ว่าจะมีโอกาสมากขึ้นหรือไม่ ทางตรงทางอ้อมเป็นอย่างไร การลงทุนจากจีนจะเข้าไทยมากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไทยต้องให้ความสำคัญหลังจากนี้คือ ประเด็นสิทธิมนุษยชนตามนโยบายของนายโจ ไบเดน ด้วย เพราะจะเชื่อมโยงกับการผลิตสินค้าที่ส่งออกไปขายสหรัฐ

•ไทยควรใช้ประโยชน์สหรัฐหนุนยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี

อีวีเป็นนโยบายที่ประเทศไทยผลักดันอยู่ ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ล่าสุด คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพิ่งอนุมัติมาตรการส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าระยะ 2 สนับสนุนทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถตุ๊กตุ๊ก รถโดยสาร รถบรรทุก และเรือ ที่เป็นไฟฟ้าทั้งหมด มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านมาตรการทางภาษี

ดังนั้น จะเห็นว่าเทรนด์ของอีวีมาแล้ว ต้องเดินหน้าอย่างเต็มที่ ซึ่งประเทศไทยอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ระดับหนึ่ง ถ้าไทยมีการขับเคลื่อนอีวีอย่างเต็มที่ และเป็นประเทศแรกๆ ที่พยายามไป จะช่วยให้ไทยสามารถยึดครองตลาดในภูมิภาคนี้ เพราะอุตสาหกรรมอีวีมาแน่ ไทยต้องใช้ตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ เมื่อไทยเป็นผู้นำ การลงทุนอีวีจากประเทศต่างๆ รวมทั้งสหรัฐจะเข้ามาในไทยแน่นอน

•ประเมินบทบาท กสทช.ชุดใหม่ต่อเศรษฐกิจ

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่ ที่อยู่ระหวางการสรรหา จะมีบทบาทในการช่วยสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนใช้เทคโนโลยีในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีในภาคเอกชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจไทยให้มีโอกาสขยายตัวมากขึ้น นอกจากนี้ กสทช.ต้องดูว่าทำอย่างไรให้มีการจัดสรรระบบสื่อสารที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ

สำหรับการประมูลใบอนุญาตต่างๆ ในปัจจุบันและผลงานที่ผ่านมา เชื่อว่า กสทช.มีขั้นตอน กระบวนการที่โปร่งใสอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากที่สุด ไม่ใช่ให้ประโยชน์กับ กสทช. เพราะ กสทช.เป็นหน่วยงานรัฐที่ต้องทำให้ผู้บริโภค ประชาชน ได้ประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่นำประโยชน์กลับเข้า กสทช. ไม่ควรเป็นอย่างนั้น อย่างระดับราคาค่าบริการควรเหมาะสม ช่วยผู้บริโภค ภาคธุรกิจเอกชน ลดต้นทุนได้ ลดค่าใช้จ่ายได้ สิ่งเหล่านี้คือบทบาทของ กสทช. ซึ่งจะมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

โดยส่วนตัว คาดหวังว่า กสทช.ชุดใหม่ จำนวน 7 ราย จาก 7 ด้าน จะต้องรู้กลไกของเทคโนโลยีในอนาคต และต้องยึดความเป็นธรรมในการทำงาน ความเป็นกลางในการทำหน้าที่ผลักดันโครงการ หรืองานต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การบริหารของ กสทช. อีกสิ่งที่สำคัญคือ อยากให้มองถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภค เชื่อว่าในขั้นตอนการสรรหาครั้งนี้จะเน้นผู้มีความรู้ความสามารถจริงๆ ตรงสายงานที่รับผิดชอบ เหมาะสมทั้ง 7 ด้าน เพราะกระแสปัจจุบันหลายฝ่ายจับตา การสรรหาหรือการดำเนินการต่างๆ ต้องเหมาะสม ทุกฝ่ายให้การยอมรับได้

ทั้งนี้ คณะกรรมการ กสทช.ประกอบด้วยตัวแทนด้านต่างๆ คือ 1.ด้านกิจการกระจายเสียง 2.ด้านกิจการโทรทัศน์ 3.ด้านกิจการโทรคมนาคม 4.ด้านวิศวกรรม 5.ด้านกฎหมาย 6.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และ 7.ด้านเศรษฐศาสตร์ มีผู้สมัครรวม 80 คน ซึ่งจะคัดเหลือ 7 คน

•มุมมองต่อเศรษฐกิจดิจิทัลจิ๊กซอว์ ศก.ไทย

เศรษฐกิจดิจิทัลในเวลานี้ ก่อนอื่นต้องยอมรับก่อนว่าทุกอย่างต่างกำลังถูกทำให้ล่มสลาย (ดิสรัปชั่น) โดยดิจิทัล ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ดิจิทัลมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย กสทช.จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้เช่นกันในฐานะผู้กำกับดูแล ทั้งนี้ สิ่งที่ช่วยได้ในเวลานี้ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ช่วยในการขับเคลื่อน ไล่ตั้งแต่การผลิต การบริโภค ทุกอย่าง ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกัน นอกจากนี้ ต้องมีเรื่องฐานข้อมูลรองรับ โดยเทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้ทุกอย่างขับเคลื่อนได้เร็ว ทำให้ลดต้นทุนได้ ทำให้มีความแม่นยำ ความถูกต้อง ทำให้สามารถขยายตลาดได้ สร้างความมั่นใจกับผู้บริโภคได้

•เวลานี้เทคโนโลยี 5จี มีส่วนสำคัญอย่างไร

ต้องยอมรับว่า 5จี เป็นเทคโนโลยีที่มาแน่ แต่อาจไม่ได้เร็วอย่างที่คิด เพราะสิ่งสำคัญคือต้องมีอุปกรณ์ที่พร้อม มีเครือข่ายที่พร้อม ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยอุปกรณ์ที่รองรับ 5จี ยังไม่มีแพร่หลายหรือหลากหลายมากนัก จะมีก็เป็นเทคโนโลยีในประเทศจีน สหรัฐอเมริกา ยังจำกัดไม่กี่ประเทศ ดังนั้น สิ่งที่ไทยต้องรอคืออุปกรณ์ที่พร้อมและเสถียร สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการกำหนดราคาที่ผู้บริโภคสามารถนำไปใช้ได้ ไม่แพงหรือเป็นภาระจนเกินไป

นอกจากนี้ ปัจจุบันเจ้าของเครือข่ายซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล 5จี เอง พบว่ายังไม่มีความพร้อมที่ลงทุนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ปัจจุบันพบว่าการลงทุนยังเป็นจุดๆ อาทิ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือพื้นที่กรุงเทพฯบางจุด ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่สามารถทำให้ 5จี เติบโตแบบก้าวกระโดดได้โดยเร็ว อย่างในพื้นที่อีอีซียังต้องใช้เวลา ซึ่งการลงทุนเครือข่ายในส่วนของผู้ประกอบการเองก็ต้องประเมินจากกลุ่มผู้บริโภคว่ามีมากพอหรือไม่ จึงจะลงทุนขยายโครงข่ายได้ เพราะความคุ้มค่าสำคัญที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้ 5จี จะทำให้การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเร็วขึ้นมาก แต่ก็ยังไม่ได้ส่งผลกระตุ้นให้การบริโภค 5จี เพิ่มขึ้น จนสร้างความคุ้มค่าให้กับผู้ลงทุนเท่าไรนัก ดังนั้น สิ่งที่จะกระตุ้น 5จี ให้แพร่หลายคืออุปกรณ์ คนยังรออุปกรณ์ ปัจจุบันยังมีจำนวนจำกัด นอกจากนี้ ต้องมีแพลตฟอร์มรองรับเทคโนโลยี 5จี ทั้งนี้ ในปี 2564 คาดหวังว่าการใช้เทคโนโลยี 5จี ของไทยจะทยอยเพิ่มขึ้น และขึ้นในบางอุตสาหกรรมการผลิต

•จำเป็นดึงบริษัทใหญ่ดิจิทัลลงทุนไทย

อยากให้รัฐบาลเร่งดึงเข้ามาลงทุน อาทิ กูเกิล แอปเปิล เพราะบริษัทเทคโนโลยีรายสำคัญของโลกเหล่านี้คือต้นแบบของเทคโนโลยี ต้นแบบของแพลตฟอร์ม มีลูกค้าหลากหลายทั่วโลก เมื่อเข้ามาลงทุนในไทยจะช่วยเสริมกระแสของ 5จี ให้เกิดการผลักดันได้เร็วขึ้น ส่วนปัจจัยที่จะดึงให้บริษัทระดับโลกเข้ามาลงทุนคือ เรื่องนโยบายดึงดูดการลงทุน รวมทั้งมาตรการทางภาษี และอีกส่วนสำคัญคือแรงงานของไทยที่จะเข้าทำงาน ต้องมีจำนวนมากพอ และมีศักยภาพ รวมทั้งตัวเลขผู้บริโภคที่ต้องเพียงพอเพื่อดึงดูดบริษัทให้เข้าลงทุน

•รัฐบาลพึ่งพาดิจิทัลกระตุ้นศก.

ถูกต้อง มองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลใช้ประโยชน์จากดิจิทัลในการทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ออกมา เพราะสร้างความสะดวกและเป็นฐานข้อมูลที่ดี ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง สามารถนำข้อมูลที่ถูกต้องไปประเมิน ไปปรับ ใช้ในการบริหารของภาครัฐ การสนับสนุน การช่วยเหลือของภาครัฐในครั้งต่อๆ ไป ตรงนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะข้อมูลเหล่านั้นสำคัญ รัฐบาลต้องนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อช่วยเหลือและผลักดันโครงการต่างๆ ของภาครัฐต่อไป

 

รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม

สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)