ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มนุษย์รู้จักการนำทรัพยากรต่าง ๆ ในธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ เพียงมองไปรอบ ๆ จะพบว่าสิ่งของรอบตัวล้วนเกิดจากการนำทรัพยากรมาแปรรูปเพื่อสนองต่อความต้องการ ตั้งแต่พลังงานในอุปกรณ์ที่ใช้อ่านบทความนี้หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการอ่านบทความนี้ ล้วนมาจากการแปรรูปทรัพยากรในธรรมชาติจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ แล้วทรัพยากรเหล่านั้นจะเอาออกมาใช้ได้อย่างไร แน่นอนถ้าเป็นไม้แค่เพียงหาต้นไม้ซักต้นแล้วเอามาแปรรูป ถ้าต้องการแร่ธาตุก็ไปหาแหล่งแร่แล้วขุดเอามาใช้ ถ้าแหล่งแร่อยู่ใกล้ผิวดินก็เพียงทำเหมืองเปิดหน้าดิน (Surface Mining) แล้วขุดทุกอย่างออกไปสกัดเป็นแร่ธาตุ ซึ่งพื้นที่นี้สุดท้ายจะเหลือเป็นแอ่งขนาดใหญ่ หลังจากนั้นอาจเป็นแหล่งเก็บน้ำหรือถมก็แล้วแต่ความคุ้มค่า หรือจะทำเหมืองใต้ดิน (Underground Mining) ที่จะทำการขุดลงไปใต้ดินเพื่อนำแร่ออกมา ซึ่งจะใช้เครื่องจักรและมนุษย์ในการทำงาน หรือจะทำเหมืองแร่ทรายใกล้ทางน้ำ (Placer mining) เป็นวิธีการขุดเอาแร่ที่ถูกพัดมาในรูปของตะกอนและสะสมตัวกันใกล้ทางน้ำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งในบทความนี้จะพูดถึงวิธีการนำแร่ธาตุออกมาใช้ โดยแทบไม่มีการขุด และไม่ต้องเปิดหน้าดินเลย นั้นคือการทำ เหมืองละลายแร่ (In situ leaching) ถ้าหากสนใจวิธีการนำแร่ออกมาใช้ด้วยวิธีการนี้เชิญอ่านย่อหน้าต่อไปได้เลย คุณคิดว่าภาพนี้คือภาพการทำเหมืองหรือไม่... นี้คือภาพการทำเหมืองด้วยวิธี ISL จะเห็นว่าสภาพพื้นดินที่ทำเหมืองแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะมีก็เพียงโรงสกัดและท่อสำหรับลำเลียงสารละลายลงหรือขึ้นจากใต้ดินเท่านั้น ซึ่งวิธีนี้นิยมนำมาขุดแร่ยูเรเนียม โดยในปี 2019 57% ของยูเรเนียมที่ขุดได้ทั้งหมดมาจากวิธีนี้ โดยจะทำการเจาะหลุมในรูปแบบ grid เหนือแหล่งแร่ซึ่งอยู่ในชั้นหินอุ้มน้ำ (aquifer) ก่อนจะถูกชะล้างด้วยกรด (Sulfate) หรือด่าง (Carbonate) ที่ถูกสูบลงไปในชั้นหินอุ้มน้ำที่ที่เป็นแหล่งแร่ยูเรเนียมเพื่อชะยูเรเนียมออกจากชั้นหินและสูบขึ้นออกจากหลุมอื่น ๆ นอกจากนี้ยังสกัด ทองคำ ทองแดง สารหนู ซีลีเนียม เรเดียม และตะกั่วอีกด้วย เมื่อพูดถึงยูเรเนียมก็ต้องนึกถึงรังสีที่ปล่อยออกมาจากยูเรเนียม หรือธาตุที่เกิดจากการที่ยูเรเนียมสลายตัว ซึ่งวิธีการตรวจสอบและป้องกันรังสีจะถูกนำมาใช้ในการขุด ISL แม้ว่ากัมมันตภาพรังสีส่วนใหญ่จะยังคงอยู่ใต้ดิน มีการปล่อยเรดอนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยและไม่มีฝุ่นแร่ ผู้ปฏิบัติงานจะได้รับการตรวจสอบการปนเปื้อนของรังสีแอลฟาและสวมเครื่องวัดปริมาณรังสีส่วนบุคคลเพื่อวัดการสัมผัสรังสีแกมมา และตรวจสอบการปนเปื้อนของอากาศ ฝุ่น และพื้นผิวเป็นประจำ เมื่อถึงเวลารื้อถอน หลุมจะถูกปิดผนึก พร้อมกับนำอุปกรณ์ต่าง ๆ ออก ทำการปรับปรุงและฟื้นฟูบ่อระเหยให้ที่ดินสามารถกลับไปใช้ได้เหมือนเช่นเดิม น้ำบาดาลที่เหลืออยู่จะต้องได้รับการฟื้นฟูให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ อาจจะนำวิธี Ion Exchange ต่อด้วย Reverse Osmosis เพื่อฟื้นฟูคุณภาพน้ำให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ ก่อนที่จะฉีดกลับไป ข้อโดดเด่นของ ISL และ เหตุผลที่ไม่สามารถใช้ ISL ได้ทุกพื้นที่ จุดเด่นและจุดด้อยของ ISL ซึ่งจุดเด่นคือ พื้นผิวที่ทำการขุดจะไม่ถูกทำลาย แทบไม่มีมลภาวะเช่น ฝุ่นละออง เสียงรบกวน และก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังมีความเสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงานต่ำ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่ำ แต่จุดอ่อนคือ ต้องเป็นชั้นหินหรือแหล่งแร่ที่สามารถซึมผ่านได้ แล้วแร่ธาตุต้องละลายได้กับสารละลายที่ใช้ชะแร่ และแหล่งแร่จะต้องอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำใต้ดินเพื่อให้สารละลายสามารถเคลื่อนตัวไปทั่วแหล่งแร่ได้ ถ้าหากผ่านเกณฑ์ทั้งสามนี้ก็สามารถอนุมัติทำการขุดได้ จากข้อมูลที่กล่าวไปทั้งหมด ทำให้ผู้อ่านทราบถึงหลักการคร่าว ๆ ของวิธี ISL แล้ว ถึงแม้ว่าสินแร่ส่วนใหญ่บนโลกจะไม่ได้ถูกขุดขึ้นมาด้วยวิธีนี้ แต่นี้ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ปลอดภัยทั้งตัวมนุษย์ และธรรมชาติ อีกทั้งยังไม่ทำให้เสียทัศนียภาพอีกด้วย แหล่งอ้างอิง ภาพหน้าปก : โดย brotherlywalks จาก flickr หรือ https://www.flickr.com/photos/brotherlywalks/3514728587 ภาพที่ 1 : ภาพที่ 1 โดย Tyna_Janoch จาก pixabay หรือ https://pixabay.com/th/photos/รถขุด-ล้อ-การสกัด-ถ่านหิน-2781676/ ภาพที่ 2 โดย epitaphium จาก pixelbay หรือ https://pixabay.com/th/photos/ของฉัน-ถ้ำ-ใต้ดิน-อุโมงค์-859396/ ภาพที่ 3 โดย Tom Fisk จาก pexels หรือ https://www.pexels.com/th-th/photo/2101137/ ภาพที่ 4 โดย brotherlywalks จาก flickr หรือ https://www.flickr.com/photos/brotherlywalks/3514728315/ ภาพที่ 2 : โดย IAEA Imagebank จาก flickr หรือ https://www.flickr.com/photos/iaea_imagebank/4771056426/ ภาพที่ 3 : โดย ฺBrain จาก flickr หรือ https://www.flickr.com/photos/Brain ภาพที่ 4 : โดย Nuclear Regulatory Commission จาก flicker หรือ https://www.flickr.com/photos/nrcgov/14492225000/ อัปเดตความรู้ใหม่ ๆ อีกมากมาย โหลดเลยที่ App TrueID ฟรี !