วิธีหาหัวข้อวิจัยที่น่าสนใจ ให้โดนใจทั้งเราและอาจารย์ เชื่อว่าหลายท่านที่กำลังเรียนอยู่หรือปริญญาระดับอื่น มักจะประสบปัญหาในการคิดหัวข้อวิจัย ว่าจะเอาหัวข้อไหนดี คิดอย่างไรก็คิดไม่ออก หรือบางคนมีหัวข้อในหัวเยอะมากแต่ตัดสินใจไม่ได้สักทีว่าจะเลือกหัวข้อไหน ทำให้หลายต่อหลายคนเสียเวลาในจุดนี้นานมาก ยิ่งผู้ที่เรียนปริญญาโท การคิดหัวข้อวิจัยนั้นยากกว่าปริญญาตรีหลายเท่า หากคิดหัวข้อวิจัยคิดไม่ได้ ก็อาจจะเสียเวลาในการเรียนเพิ่มขึ้นอีกเป็นปี ๆ ดังนั้นวันนี้ผมจะมาแนะนำ 5 วิธีที่ผมใช้ในการหาหัวข้อวิจัยให้ถูกใจเราและเหมาะกับเรามากที่สุด เทคนิคเหล่านี้เป็นเทคนิคที่ผมใช้มาตั้งแต่เรียนปริญญาตรีจนถึงการทำวิทยานิพนธ์ในปริญญาโท หากเพื่อน ๆ นำไปทำตามรับรองว่าจะทำให้การหาหัวข้อวิจัยไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป โดยเทคนิคทั้ง 5 ข้อมีดังนี้1. หาจากสิ่งที่เราสนใจ วิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่พื้นฐานที่สุดและเป็นวิธีที่อาจารย์มักจะพูดอยู่บ่อย ๆ ว่า หากอยากทำวิจัยให้เลือกทำในหัวข้อที่เราสนใจ เพื่อที่เราจะได้มีแรงที่อยากจะเรียนรู้หรือศึกษาเพิ่มเติม แต่วิธีพื้นฐานและง่ายเช่นนี้กลับเป็นวิธีที่พบปัญหามากที่สุดเนื่องจากหลายคนไม่รู้ว่าตัวเองชอบหรือสนใจอะไร ทำให้การคิดวิจัยจากสิ่งที่สนใจอาจจะไม่ค่อยได้ผลมากเท่าไหร่นัก2. หาหัวข้อที่ตรงกับทฤษฎีหรือเครื่องมือที่เราถนัด วิธีนี้เป็นอีกวิธีที่อาจารย์นิยมบอกนักศึกษา เป็นวิธีที่นิยมอันดับสองรองจากวิธีที่หนึ่ง แต่วิธีนี้ก็มีปัญหามากเช่นกันเนื่องจากนักศึกษาส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตนถนัดอะไรหรือเชียวชาญด้านไหนทำให้วิธีนี้ก็ยังไม่ค่อยได้ผลที่ดีเช่นกัน แต่สำหรับผู้ที่มีทฤษฎีที่ตนสนใจและถนัดวิธีนี้จะทำให้การดำเนินการวิจัยเป็นอย่างง่ายได้และไม่กดดันมากเท่าไหร่นัก3. ทบทวนงานวิจัยเก่า ๆ ของรุ่นพี่ วิธีนี้เป็นวิธีที่ยุ่งยากมากแต่กลับกลายเป็นวิธีที่นำมาสู่หัวข้อวิจัยของหลาย ๆ ท่านเนื่องจากวิธีนี้เราจะได้ไปดูว่ารุ่นพี่ที่จบมาก่อนเรา เขาทำเรื่องอะไรบ้าง ทำโดยใช้เครื่องมือไหน หากมีเล่มไหนที่เรารู้สึกสนใจหรือมีเครื่องมือที่เรารู้สึกว่าเราน่าจะทำได้ เราถนัด ก็จะนำมาซึ่งหัวข้อวิจัยของเราในอนาคต วิธีนี้เป็นเหมือนวิธีให้เราได้ค้นพบในสิ่งที่ตนเองชอบและสนใจ จึงเป็นวิธีที่ประสบผลสำเร็จอย่างมากในการหาหัวข้อวิจัย4. หาหัวข้อวิจัยจากปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ วิธีนี้ต่อยอดจากวิธีที่ 3 คือ หากเราอ่านงานวิจัยเก่าของรุ่นพี่แล้วรู้สึกยังไม่มีสิ่งที่เราสนใจก็ให้เราไปดูตรงคำแนะนำเพิ่มเติมของรุ่นพี่ว่าถ้าหากจะทำควรไปทำหัวข้อะไรอะไร หัวข้อแบบไหน ซึ่งมันจะมีหลายหัวข้อมาก ตรงนี้เราก็สามารถจะนำมาวิเคราะห์ดูว่าหัวข้อที่เป็นปัญหาเหล่านั้นถูกแก้หรือยัง หากยังไม่ได้รับการแก้และเราสนใจก็สามารถที่จะนำมาใช้เป็นหัวข้อวิจัยของเราได้เลย5. ทำหัวข้อวิจัยที่อาจารย์ที่ปรึกษาวิจัยของเราแนะนำ วิธีนี้เป็นวิธีที่อยากให้ทุกท่านเลือกเป็นลำดับสุดท้าย แม้ว่าการทำวิจัยตามที่อาจารย์แนะนำจะทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาในการคิดหัวข้อ และไม่ต้องกังวลว่าอาจารย์จะให้คำปรึกษาไม่ได้ แต่ข้อเสียของมันคือ เราอาจจะเจอหัวข้อที่เราไม่ชอบหรือไม่ถนัด สุดท้ายก็จะทำให้การเขียนวิจัยของเราไม่สนุก และการทำวิจัยของเราก็เป็นไปอย่างยุ่งยาก ไม่มีแรงบันดาลใจในการทำ แต่ถ้าหากคุณไม่คิดมากในจุดนี้ คิดแค่ว่าทำอะไรก็ได้ขอแค่เรียนจบ วิธีนี้ก็ถือเป็นวิธีที่ดีสำหรับคุณ สุดท้ายขอสรุปว่า หัวข้อวิจัยที่ดีควรที่จะมีครบ 5 ข้อด้านบนถึงจะดีที่สุด เพราะเราสังเกตุจะพบว่าไม่ว่าข้อไหน มันก็จะมีข้อดีข้อเสียเต็มไปหมด แต่หากเรารวม 5 ข้อนั้นเข้าด้วยกันเราก็จะสามารถนำเอาข้อดีของแต่ละข้อมาหักล้างกัน และทำวิจัยของเราออกมาดีได้ในที่สุด หัวข้อที่ดีควรมาจากหัวข้อที่เราสนใจ ทฤษฎีที่เราถนัด มีหัวข้อหรือแนวทางที่ผู้อื่นศึกษามาบ้างแล้ว เป็นหัวข้อที่สามารถนำมาแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้จริง และที่สำคัญควรเป็นหัวข้อที่ทั้งเราและอาจารย์ที่ปรึกษาถนัดและสนใจ ถ้ามีครบทั้งหมดนี้วิจัยจะเป็นวิชาที่ง่ายและสนุกทันที เครดิตภาพภาพปก ออกแบบเองโดย canvaภาพที่ 1 : Pexels / pixabay.comภาพที่ 2 : AhmadArdity / pixabay.comภาพที่ 3 : DiggityMarketing / pixabay.comภาพที่ 4 : StockSnap / pixabay.comอัปเดตข่าวสาร และแหล่งเรียนรู้หลากหลายแบบไม่ตกเทรนด์ บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !