สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ตอบกลับจม.นายกฯ แนะแนวทางฟื้นฟูธุรกิจฝ่าวิกฤต เสนอจ้างงานรายชั่วโมง-ช็อปช่วยชาติ
สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ตอบกลับจม.นายกฯ แนะแนวทางฟื้นฟูภาคธุรกิจค้าปลีกฝ่าวิกฤต เสนอจ้างงานรายชั่วโมง-ช็อปช่วยชาติ ลดภาษีสินค้านำเข้ากระตุ้นการบริโภค เร่งพยุงเอสเอ็มอีให้อยู่รอด
ส.ค้าปลีกไทยชงวิธีฟื้นชีพ - นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้ตอบกลับจดหมาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการร่วมเสนอแนะความคิดเห็นด้านแนวทางและการฟื้นฟูภาคธุรกิจค้าปลีกในภาวะวิกฤตที่เผชิญอยู่ โดยได้เสนอแนะแนวทางการในพัฒนาภาคค้าปลีกต่อภาครัฐ แบ่งออกเป็น แนวทางการพัฒนาระยะสั้น ในการกระตุ้นการบริโภค และ แนวทางการพัฒนาเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส
แนวทางการพัฒนาระยะสั้น ประกอบด้วย 1. พยุงการจ้างงาน ในส่วนการจ้างงานรายชั่วโมง เนื่องจากธุรกิจการค้าปลีกสินค้าและบริการมีช่วงเวลาการให้บริการที่ไม่สม่ำเสมอ หากภาครัฐประกาศอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมงในช่วงการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ก็จะช่วยกระจายการจ้างงานได้ ส่วนนายจ้างก็สามารถเพิ่มอัตราการจ้างงานให้เหมาะสมกับช่วงเวลาที่ต้องการได้
สมาคมฯ จึงขอเสนอให้กระทรวงแรงงานประกาศค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น โดยหากสามารถจ้างงานได้มากกว่า 20% จะสามารถสร้างงานเพิ่มได้มากกว่า 1.2 ล้านอัตรา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะภาคการค้าปลีก แต่จะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนและทุกขนาดของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจ โรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร และธุรกิจบริการอื่นๆ อีกด้วย
แนวทางระยะสั้นต่อมา คือ การกระตุ้นการบริโภคในวงกว้างผ่านโครงการช็อปช่วยชาติ ด้วยวงเงิน 50,000 บาท ในกรอบเวลา 60 วัน ซึ่งจะสามารถสร้างเงินสะพัด 75,000 ล้านบาท ภายใน 60 วัน ขณะเดียวกันกระตุ้นการบริโภคในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะสินค้าไลฟ์สไตล์นำเข้า ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ในไทยสูงถึง 30% ซึ่งสูงที่สุดใน 15 ประเทศในแถบเอเชีย ทำให้คนหันไปซื้อสินค้าที่ต่างประเทศแทน จึงเสนอให้ทดลองปรับลดภาษีนำเข้าชั่วคราวเป็นเวลา 4 เดือน เช่น ลดจากเดิม 30% เป็น 10% จะสามารถสร้างเงินสะพัดได้ถึง 25,000 ล้านบาท ภายใน 4 เดือน
แนวทางขับเคลื่อนเอสเอ็มอี ให้อยู่รอดและแข็งแรง เสนอให้มีการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) 0.1% ผ่านผู้ค้าปลีกรายใหญ่ โดยใช้งบประมาณ 25,000 ล้านบาท จากวงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่รัฐตั้งไว้แล้ว เร่งจ่ายเงินเอสเอ็มอีขนาดเล็กจากเดิม 30 วัน เป็นภายใน 7 วัน ส่งผลให้สามารถเพิ่มสภาพคล่องสู่ เอสเอ็มอีกว่า 5 แสนรายและไม่สร้างหนี้เสียให้ธนาคารพาณิชย์
ส่วนแนวทางพัฒนาเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ได้แก่ มาตรการควบคุม อี-คอมเมิร์ซในด้านราคาและการเสียภาษี เสนอให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่บาทแรก และอี-คอมเมิร์ซขายราคาต่ำกว่าทุน เนื่องจากจะทำให้เอสเอ็มอี และค้าปลีกไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งนี้การจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะทำให้รัฐมีรายได้จัดเก็บภาษีจาก อี-คอมเมิร์ซ ได้ปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท รวมถึงเป็นการปราบปรามสินค้าหนีภาษีที่เติบโตจาก อี-คอมเมิร์ซ อีกด้วย ตลอดจนกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจค้าปลีกทุกช่องทางอย่างโปร่งใส ยุติธรรม ไม่จำกัดเพียงค้าปลีกแบบมีหน้าร้านที่มีการเสียภาษีอย่างถูกต้องเท่านั้น
“เชื่อว่าข้อเสนอแนะดังกล่าวข้างต้น ถ้าได้รับการอนุมัติจะส่งผลให้เอสเอ็มอีอยู่รอดกว่า 1.3 ล้านราย เกิดการขยายการจ้างงานจาก 6.2 ล้านอัตรา เป็น 7.4 ล้านอัตรา และจะมีเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากกว่าแสนล้าน รวมทั้งสร้างรายได้ให้ภาครัฐเพิ่มขึ้นกว่า 3 หมื่นล้านบาท จะเห็นว่า ข้อเสนอของสมาคมฯ ข้างต้นใช้เงินงบประมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่เอสเอ็มอีจะได้รับ และการจ้างงานที่จะเพิ่มขึ้น ยังผลต่อเศรษฐกิจประเทศชาติโดยรวมในภาวะวิกฤตขณะนี้ และเป็นแนวทางที่เกิดผลเร็วและตรงเป้าหมายชัดเจน”