รีเซต

แรงงาน วอน ผู้ประกอบการอยู่นิ่ง รอนโยบายรูปธรรม แง้มอาจไฟเขียว 'ต่างด้าวถูก กม.'

แรงงาน วอน ผู้ประกอบการอยู่นิ่ง รอนโยบายรูปธรรม แง้มอาจไฟเขียว 'ต่างด้าวถูก กม.'
มติชน
23 ธันวาคม 2563 ( 13:45 )
24
แรงงาน วอน ผู้ประกอบการอยู่นิ่ง รอนโยบายรูปธรรม แง้มอาจไฟเขียว 'ต่างด้าวถูก กม.'

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 23 ธันวาคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงถึงกรณีแรงงาน ชาวเมียนมาถูกลอยแพ จาก จ.สมุทรสาคร และแนวทางการจัดการแรงงานต่างชาติ จากกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ก่อนขยายวงกว้างไปในหลายจังหวัด

 

นายสุชาติ กล่าวว่า ตามที่พี่น้อง และสื่อมวลชนได้ที่ทราบตามข่าว และเห็นภาพ ความจริงเราได้ออกประกาศกระทรวงแล้วว่า ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ควบคุม เช่น เหตุเกิดขึ้นที่ จ.สมุทรสาคร ห้ามเคลื่อนย้ายไปจังหวัดต่างๆ ให้ซีลทั้งหมด ซึ่งทางผู้ว่าราชการ จ.สมุทรสาคร มีด่านความมั่นคงอยู่หลายด่าน แต่พี่น้อง ผู้ประกอบการ อาจมีความรู้สึกวิตกังวลทำให้เกิดเรื่องนี้ขึ้น เรียนด้วยความเคารพ นโยบายของรัฐบาลเอง โดย พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้พูดคุยเมื่อเช้า และตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้วว่า นโยบายของเรา ที่จะตรวจจับ-ล้างบาง คือ กลุ่มขบวนการในการนำคนงานผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศ แต่เมื่อเข้ามาแล้วไม่มีการแก้ไข จึงต้องแก้สิ่งที่เกิดขึ้นก่อน

 

แก้อย่างไรในวันนี้ คือสิ่งที่จะทำให้ทั้งหมดอยู่ได้ กล่าวคือ ให้ทุกคนอยู่กับที่ ซึ่งช่วงบ่ายนี้ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีอำนาจหน้าที่ในส่วนของการเสนอ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 14 ในการอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาทำงานในราชอาณาจักร โดยควบคุมด้วยมาตรา 6 โดยบ่ายวันนี้ ได้นัดผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกกระทรวง ทบวง กรม อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงมหาดไทย, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงสาธารณสุข และ หน่วยงานด้านความมั่นคง ประชุมร่วมกัน ทั้งนี้ ในคณะกรรมการบริหาร มีกรรมการชุดนี้ขึ้นมา ซึ่งความจริงแล้วคณะกรรมการชุดนี้ประชุมชุดเล็กไปเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 เรามีความคิดนี้อยู่แล้วว่าจะแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย เอาจากใต้ดิน ขึ้นบนดิน ซึ่งต้องใช้อำนาจมาตรา 14 ของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่ที่จะประชุมนี้ ไม่ใช่กระทรวงแรงงานเพียงหน่วยเดียว แต่มีหน่วยอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องกลับไปประเมินน้ำหนัก ความได้-เสีย เพราะเราจะไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก

 

“ช่วงบ่ายวันนี้ ประชุมเสร็จอาจจะมีการแถลงนโยบาย ว่าที่รัฐบาลสั่งการไปที่กระทรวงแรงงาน ให้แก้ปัญหาเร่งด่วนเรื่องแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ให้ทุกคนนิ่งอยู่กับที่ และให้กรมควบคุมโรคเข้าไปตรวจสอบ คัดกรองโรค ด้วยหลักของมนุษยธรรม เป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งในการที่กรมควบคุมโรค หรือ กระทรวงสาธารณสุข ตรวจไป 1,000 กว่าคนนั้น เรามีรายชื่อคนตรวจ แต่ไม่ได้บอกว่า มีบัตร หรือไม่มีบัตร เพราะเป็นเรื่องความลับของคนไข้ ที่กระทรวงสาธารณสุขต้องเก็บไว้อยู่แล้ว ต้องเก็บเป็นความลับและจะต้องมีการสอบสวนโรค” นายสุชาติ กล่าว

 

เมื่อถามว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น ที่ จ.สมุทรสาคร ผู้ประกอบการณ์กลัวว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจแรงงานผิดกฎหมาย จึงนำแรงงานหนีออกมา กระทรวงแรงงานจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไรต่อไป

 

นายสุชาติ กล่าวว่า วันนี้เราจะทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยให้ปลัดกระทรวง ประชุมคอนเฟอเรนซ์ทั่วประเทศ ใน 5 เสือ ทุกจังหวัด เพื่อทำความเข้าใจผู้ประกอบการทั้งหมดว่า วันนี้ เป้าหมายหลักของรัฐบาล หรือกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาด เราต้องช่วยเหลือผู้ที่ติดเชื้อ ให้ตรวจเจอมากที่สุด และควบคุมให้ได้ ส่วนเรื่องอยู่ผิด หรือ ถูกต้อง เอาไว้ก่อน ต้องหาข้อกฎหมายในการทำให้ถูกต้อง ซึ่งคือสิ่งที่จะประชุมช่วงบ่ายวันนี้ ขอให้พี่น้อง ผู้ประกอบการนิ่งเฉย รอดูนโยบายที่จะออกมาเป็นรูปธรรมเร็วๆ นี้ ไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งไม่ว่าแนวทางจะไปทางไหน ขอให้ทุคนสบายใจ และอยู่กับที่

 

“ผมไม่รู้ว่าบริษัทใดมีคนต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย เราใช้คำว่า ให้คิดเสียว่าวันนี้ใครที่มี ขอให้ทุกคนอยู่กับที่ รอประกาศนโยบายว่าเราจะเดินหน้าแบบไหน เช่น อาจจะใช้อำนาจมาตรา 14 ของ รมว.แรงงาน ในการอนุญาตให้ทำงานในราชอาณาจักรได้ แต่ส่วนนี้นายจ้างต้องให้ความร่วมมือในการพามาตรวจโรค เพื่อขึ้นสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้อง กฎหมายนี้เป็นการแก้ปัญหาของผู้คนที่อยู่ในราชอาณาจักร

 

ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน อดีตเคยทำแบบนี้อยู่แล้ว ไม่ใช่ไม่เคยมี แต่ที่เราจะทำ เรามีแนวคิดจากการประชุม 2 สัปดาห์ก่อนหน้าเกิดการแพร่ระบาด ซึ่งยังไม่มีแนวทาง จึงต้องกลับไปคิด แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ ยังมีหลายหน่วยงานที่ต้องกลับไปทำความเข้าใจข้อกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน แต่เชื่อว่าวันนี้ทุกคนน่าจะไปในแนวทางเดียวกันหมด” นายสุชาติ กล่าว

 

นายสุชาติ กล่าวว่า วันนี้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการทั่วประเทศว่า ให้อยู่เฉยๆ ให้นิ่ง เพราะยิ่งเคลื่อนย้าย เจอด่าน ท่านโดนจับดำเนินคดี ยึดรถ ทุกอย่าง โทษหนัก ขอให้ทุกคนอยู่กับที่ ต้องเชื่อมั่นรัฐบาล และเชื่อมั่นนายกรัฐมนตรีที่ท่านสั่งการลงมา ให้แก้ปัญหาเป็นรูปธรรม การแก้ปัญหาอันดับแรก คือ วันเสาร์ หลังทราบข่าว เรียกประชุมข้าราชการกระทรวงที่เกี่ยวข้องวันอาทิตย์ วันจันทร์ปลัดกระทรวงเข้าประชุมบอร์ดประกันสังคม เพื่อเตรียมการเยียวยาผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการว่างงาน ซึ่งเมื่ออดีตเราเคยเยียวยาที่ 62 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม หมดระยะเวลาของกฎกระทรวงแล้ว เราจึงออกกฎกระทรวงใหม่ โดยเสนอผ่าน ครม.เมื่อวันอังคาร ทำงานอย่างรวดเร็วมาก อาทิตย์สรุป จันทร์ประชุม อังคารเสนอ ท่านนายกรัฐมนตรีให้เอาเข้า ครม.ด่วน และผ่านให้ทันที เพื่อให้พี่น้องผู้ประกันตน หรือผู้ใช้แรงงานที่ว่างงานจากภาวะโรคระบาด ที่ จ.สมุทรสาคร ไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้ อย่างไร ประกันสังคมดูแลทุกท่านตามสิทธิแน่นอน

 

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามนโยบาย เช่น มีการเคลื่อนย้าย จะถูกดำเนินคดี และบันทึกรายชื่อแบล็คลิสต์ เมื่อออกกฎกระทรวง ขอความร่วมมือแล้วว่าให้อยู่กับที่ แต่อาจจะมีการสื่อสารจากบุคคลอื่นๆ ว่าเราจะเข้าไปตรวจจับสถานประกอบการ เราเข้าไปเพื่อสืบสวน หากเจอแรงงานที่ไม่มีบัตรอนุญาตในการทำงาน เราจะสอบสวนว่า ใครพาคุณมา ต้นตอคือใครที่ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ คือคนที่นำพาขบวนการนี้ ที่ท่านนายกบอกว่า ต้องล้างบางให้สิ้นซากจากประเทศไทย คนไทยด้วยกันต้องรักคนไทย แต่ถ้าทำแบบนี้แปลว่าไม่ได้รักคนไทยด้วยกัน

 

เมื่อถามถึงมาตรการช่วยเหลือแรงงาน จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีข่าวว่า การจัดการเรื่องอาหารไม่เพียงพอ

นายสุชาติเผยว่า ขณะนี้ได้ประสานกับทาง ผู้บริหารสถานการร์การแพร่ระบาด ที่ จ.สมุทรสาคร ว่าถ้าขาดเหลือตรงไหน กระทรวงแรงงาน ซึ่งมีเม็ดทุนแรงงานต่างด้าว จะนำส่งเสบียงไป คาดว่าวันนี้จะให้ อธิบดีกรมจัดหางานประชุมเรื่องกองทุนต่างด้าว ว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ในการช่วยเหลือ เรียนด้วยความเคารพว่า เราทำทุกมิติเท่าที่เราจะทำได้

 

“เรามีนโยบายเชิงรุกอีก กล่าวคือ แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในระบบประกันสังคม สามารถใช้ประกันสังคมตรวจเชื้อได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีโรงพยาบายที่ได้มาตรฐานในการคัดกรองเชื้อโควิด-19 โดยจะข้อความร่วมมือจากโรงพยาบาลในเครือประกันสังคมทั้งหมด ที่มีรถโมบาย หรือตู้คอนเทนเนอร์ เข้ามาช่วยเหลือในการตรวจ ซึ่งต้องรอเข้าบอร์ดแพทย์ และบอร์ดประกันสังคมต่อไป คาดว่าเร็วๆ นี้” นายสุชาติกล่าว