รีเซต

ตะลึง ! "แผ่นดินไหวญี่ปุ่น" เคยส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้ามาแล้ว 4 ปี ผู้เชี่ยวชาญชี้รอยเลื่อนในไทยเองก็มีความเสี่ยงเช่นกัน

ตะลึง ! "แผ่นดินไหวญี่ปุ่น" เคยส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้ามาแล้ว 4 ปี ผู้เชี่ยวชาญชี้รอยเลื่อนในไทยเองก็มีความเสี่ยงเช่นกัน
TNN ช่อง16
6 มกราคม 2567 ( 15:46 )
60

เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.6 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 84 ราย และมีรายงานผู้สูญหายอีก 179 คน ภัยพิบัติในครั้งนี้ถึงแม้ว่ามนุษย์จะเตรียมการรับมืออย่างไร แต่ก็ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ซึ่งในมุมมองของนักวิทยาแผ่นดินไหว (Seismologist) ระบุว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวญี่ปุ่นในปีใหม่ 2024 นี้มีสัญญาณเตือนมาก่อนแล้วล่วงหน้าถึง 4 ปี


ดร.สุทธิพงษ์ น้อยสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหววิทยา (Seismology) จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 


แผ่นดินไหวญี่ปุ่นตอนปีใหม่เคยส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า 4 ปี

ดร.สุทธิพงษ์ น้อยสกุล ในฐานะนักวิทยาแผ่นดินไหว จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยกับ TNN Tech ว่า นักวิจัยด้านแผ่นดินไหวจากญี่ปุ่นค้นพบพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวที่เรียกว่า เอิร์ธเควก สวอร์ม (Earthquake Swarm) หรือการเกิดแผ่นดินไหวต่อเนื่องในพื้นที่บริเวณเดียวกันกับที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวในช่วงปีใหม่ ตั้งแต่ปี 2020 หรือเมื่อ 4 ปีก่อน เป็นสัญญาณเตือนก่อนการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปีใหม่ที่ผ่านมา


ทั้งนี้ มีการค้นพบภายหลังว่า เหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.2 ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ปี 2023 ที่ผ่านมา คือสัญญาณเตือนว่ารอยเลื่อนนี้สามารถสร้างแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงได้มากขึ้น แต่การค้นพบนี้ไม่สามารถนำไปสู่การวางแผนนโยบายสาธารณะได้ทันท่วงที “ตอนนั้นเราอาจจะยังไม่มีใครคิดว่า จะมีแผ่นดินไหว ที่ใหญ่ถึง 7.5 และสร้างความเสียหาย เมื่อตอนปีใหม่ที่ผ่านมา” ดร.สุทธิพงษ์กล่าว


จากจุดที่ไม่ค่อยมีแผ่นดินไหวกลายเป็นจุดเกิดแผ่นดินไหวใหญ่

พฤติกรรม Earthquake Swarm ที่เกิดขึ้นในบริเวณคาบสมุทรโนโตะ (Noto Pennisula) ทางนักวิทยาแผ่นดินไหวญี่ปุ่นพบว่าเกิดจากการที่ของเหลวที่แทรกตัวลงไปตามแนวรอยเลื่อน (Fault) ที่บริเวณใกล้ชายฝั่งทางฝั่งกรุงโตเกียว ได้ลอยตัวขึ้นมาแทรกในรอยต่อระหว่างเปลือกโลกในฝั่งคาบสมุทรโนโตะที่อยู่ซีกตะวันตกของเกาะฮอนชู (Honshu) หรือเกาะหลักของญี่ปุ่นแทน


ดร.สุทธิพงษ์อธิบายว่า ของเหลวที่เข้ามาแทรกตัวระหว่างรอยเลื่อนทำให้แรงเสียดทานระหว่าง 2 แผ่นเปลือกโลกนั้นลดลง ส่งผลให้แรงเค้น (Stress) หรือแรงบีบอัดระหว่างของแข็งที่มีอยู่ก่อนแล้ว สามารถสร้างการขยับตัวจนเป็นแผ่นดินไหวได้ ซึ่งต่างจากแผ่นดินไหวทั่วไปที่มีการสะสมแรงเค้นในปริมาณสูงก่อนเกิดการขยับ 


ในงานวิจัยยังมีการพบอีกด้วยว่าของเหลวที่แทรกตัวเข้ามานั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิด Earthquake Swarm หรือทำให้บริเวณดังกล่าวมีการเกิดแผ่นดินไหวต่อเนื่องมากขึ้น จากที่บริเวณดังกล่าวเคย “เงียบ” มาก่อนหน้าปี 2020 แต่กลับมามีรายงานแผ่นดินไหวต่อเนื่องจนถึงปีใหม่ที่เป็นข่าว


ประเทศไทยจะมีความเสี่ยงแผ่นดินไหวรุนแรงแบบในญี่ปุ่นหรือไม่

ดร.สุทธิพงษ์ยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจอีกด้วยว่า ประเทศไทยมีรอยเลื่อนมีพลัง (Active fault) ที่สามารถสร้างแผ่นดินไหวขนาด 6 - 7 ได้ เช่นในพื้นที่รอยเลื่อนแม่ทาและรอยเลื่อนพะเยา ซึ่งเป็นข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี เพราะในประเทศไทยก็เคยมีปรากฏการณ์ Earthquake Swarm เช่นเดียวกับเหตุการณ์ในญี่ปุ่น 


แต่ทั้งนี้ การเกิด Earthquake Swarm ในไทยมีระยะเวลาการเกิดไม่นาน เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นที่มีระยะเวลาการเกิดถึงเกือบ 4 ปี ดังนั้น ยังไม่สามารถด่วนสรุปได้ว่า Earthquake Swarm ในไทยเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าแบบที่ญี่ปุ่นเผชิญจริงหรือไม่ อีกทั้งความพร้อมในการศึกษาของไทยนั้นยังเทียบกับญี่ปุ่นไม่ได้ 


“ต้องยอมรับว่า ขนาดญี่ปุ่นมีเครื่องวัดแผ่นดินไหวเป็นพันเครื่อง ข้อมูลละเอียดมาก แต่ก็ยังต้องใช้เวลา 3 - 4 ปี ถึงจะเข้าใจพฤติกรรม ทันทีที่เข้าใจ ก็ยังไม่ทันได้ออกกฎหมายหรือนโยบายที่เกี่ยวข้องก็เกิดแผ่นดินไหวใหญ่เสียก่อน” ดร.สุทธิพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายกับ TNN Tech


ที่มารูปภาพ Reuters


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง