ทหาร : กองทัพฝรั่งเศส เตรียมวิจัยโครงการเพิ่มสมรรถนะร่างกาย-สมองกำลังพล
คณะกรรมการจริยธรรมของฝรั่งเศสอนุมัติให้กองทัพริเริ่มทำการวิจัยโครงการเพิ่มสมรรถนะร่างกายของกำลังพลด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเพื่อฝังวัสดุในร่างกาย หรือใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้าช่วย
รายงานของคณะกรรมการจริยธรรมซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. กำหนดขอบเขตเงื่อนไขในการวิจัยด้านนี้เพื่อเพิ่มความสามารถทางการรบในอนาคต
รายงานดังกล่าวระบุว่า ชาติอื่น ๆ กำลังสำรวจและทดลองความเป็นไปได้ในการทำสิ่งเดียวกันนี้ และฝรั่งเศสจำเป็นต้องก้าวให้ทันชาติอื่น โดยในรายงานฉบับนี้ยังระบุถึงการผ่าตัดฝังวัสดุเพื่อช่วย "พัฒนาขีดความสามารถทางสมอง" หรือเพื่อช่วยให้ทหารสามารถแยกแยะศัตรูออกจากพันธมิตรได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฝรั่งเศส โฟลรองซ์ ปาร์ลี ย้ำว่าฝรั่งเศสต้องมองการณ์ไกล
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เธอบอกว่าไม่มีแผนที่จะพัฒนาเทคโนโลยีที่จะก่อให้เกิดการ "รุกล้ำ" ทางร่างกายของกำลังโดยทันทีในเวลานี้ "แต่เราก็ต้องยอมรับความจริง ...ไม่ใช่ทุกคนที่จะสงสัยในความถูกต้องเชิงจริยธรรมและความเหมาะสม เราต้องเตรียมตัวรับกับอะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นในอนาคต"
ปาร์ลี บอกว่า ต้องสำรวจ "หาทางที่จะทำให้เราปฏิบัติการได้เหนือกว่า และในเวลาเดียวกันก็จะไม่หันหลังให้กับค่านิยมของเรา"
เว็บไซต์ข่าวดิอินดิเพนเดนต์ของอังกฤษระบุว่า รายงานของคณะกรรมการจริยธรรมยังพูดถึงการทำให้ทหารมีภูมิคุ้มกันจากความเครียด กับมีการพิจารณาถึงการใช้ยาที่จะทำให้กำลังพลมีสภาพจิตใจแข็งแกร่งในกรณีที่ถูกจับตัวไปด้วย
เว็บไซต์ข่าวดังกล่าวรายงานด้วยว่า คณะกรรมการจริยธรรมชุดนี้ มีกรรมการ 18 คน ซึ่งมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ
อย่างไรก็ดี รายงานของคณะกรรมการชุดนี้ได้กำหนดขอบเขตไว้อย่างชัดเจนว่า ห้ามไม่ให้มีการใช้กระบวนการปรับปรุงลักษณะทางพันธุกรรม หรืออะไรก็ตามที่ "จะส่งผลกระทบต่อการหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หรือการกลับสู่ชีวิตการเป็นพลเรือน ของทหาร"
ก่อนหน้านี้ ในปีนี้ อีลอน มัสก์ นักธุรกิจผู้นำด้านเทคโนโลยีชื่อดังของโลก เปิดตัวหมูชื่อเกอร์ทรูด ซึ่งได้รับการฝังชิปขนาดเท่าเหรียญอยู่ในสมอง เพื่อสาธิตแผนการอันทะเยอทะยานของเขาในการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะทำให้สมองสั่งการไปยังอุปกรณ์โดยตรงได้
- นักวิทยาศาสตร์เผย “ปลูกถ่ายความทรงจำ” ในหอยทากทะเลได้สำเร็จ
- เอไอก้าวล้ำไปอีกขั้น รู้จักทำงานเลียนแบบเซลล์สมองมนุษย์ได้เอง
- มือกลชีวภาพที่ “เห็นและจับ” สิ่งของได้อัตโนมัติ
- ขาเทียมกีฬาของอานู
- ครรภ์มารดาเทียมช่วยลูกแกะคลอดก่อนกำหนดรอดชีวิต
เมื่อปี 2017 มัสก์ เปิดตัวบริษัท "นิวราลิงก์" (Neuralink) เพื่อคิดค้นพัฒนาวิทยาการที่เชื่อมต่อสมองคนเข้ากับคอมพิวเตอร์ให้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งในอนาคตจะช่วยในการเพิ่มความจำ หรือเสริมความสามารถแบบปัญญาประดิษฐ์ให้กับสมองของมนุษย์ได้
เขาประกาศในขณะนั้นว่าจะมุ่งพัฒนาแนวคิดที่เรียกกันว่า "สายเชื่อมประสาท" (Neural lace) ให้เป็นจริงขึ้นมา โดยอาจพัฒนาเทคโนโลยีการฝังขั้วไฟฟ้าในสมอง เพื่อเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ดิจิตอลให้คนเราสามารถดาวน์โหลดข้อมูลความคิดต่าง ๆ ได้โดยไม่จำกัด
ปัจจุบันการฝังขั้วไฟฟ้าในสมองซึ่งฟังดูคล้ายนิยายวิทยาศาสตร์นี้ มีการนำไปปฏิบัติจริงกับกลุ่มผู้ป่วยจำนวนน้อยบางกลุ่มที่เป็นโรคลมชัก โรคพาร์คินสัน หรือโรคระบบประสาทเสื่อมถอย เพื่อลดความรุนแรงของโรค แต่ก็เป็นวิธีที่อันตรายและใช้เมื่อเป็นหนทางสุดท้ายที่เหลืออยู่ในการรักษาเท่านั้น ส่วนตัวอุปกรณ์ที่ใช้ก็ยังอยู่ในขั้นพื้นฐานมาก