รีเซต

นาทีชีวิต! 4 คนสวน ยืนหลบฝนใต้ต้นไม้ โดนฟ้าผ่าเปรี้ยง ล้มทั้งยืน

นาทีชีวิต! 4 คนสวน ยืนหลบฝนใต้ต้นไม้ โดนฟ้าผ่าเปรี้ยง ล้มทั้งยืน
ข่าวสด
16 มีนาคม 2564 ( 11:32 )
513
นาทีชีวิต! 4 คนสวน ยืนหลบฝนใต้ต้นไม้ โดนฟ้าผ่าเปรี้ยง ล้มทั้งยืน

เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีรายงานวินาทีชีวิตของชาวสวนทั้ง 4 ราย ที่ยืนหลบฝนอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ ภายในสวนสาธารณะของวาติกา ซิเนเจอร์ วิลลา ในเมืองคุร์เคาน์ ประเทศอินเดีย โดยกล้องวงจรปิดในพื้นที่ดังกล่าวได้จับภาพเหตุการณ์สุดระทึกนี้ไว้ได้ทั้งหมด

 

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดเมื่อเวลาประมาณ 16.30 ของวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นของอินเดีย โดย อนิล กุมาร หัวหน้างานพืชสวน รามปราสาท ศิวะดัตและลลิ คนสวนได้ยืนหลบฝนรวมกันอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ภายในสวน แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุการณ์สุดระทึก เมื่อจู่ ๆ สายฟ้าก็ได้ผ่าลงมาอย่างจังที่ต้นไม้ที่ทั้ง 4 ยืนอยู่ ก่อนจะปรากฏภาพว่าพวกเขา ค่อย ๆ ลงไปนอนกองกับพื้นที่ละคน

 

 

ทั้ง 4 ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว โดยอนิลได้รับบาดเจ็บมีรอยไหม้ที่มือ ขา และอวัยวะภายในได้รับบาดเจ็บ ส่วนศิวะดัตและลลิ มีรอยไหม้ที่บริเวณใต้ลำคอ แต่รามปราสาทนั้นมีอาการหนักที่สุด เพราะเมื่อว่าถึงโรงพยาบาล รามปราสาทชีพจรได้หยุดเต้นไปแล้ว แต่แพทย์ก็สามารถปั๊มหัวใจกลับขึ้นมาได้ ต้องรักษาตัวอยู่ในห้อง ICU และต้องช่วยเครื่องหายใจ แต่ในเวลาต่อมาเขาก็ได้จากไปอย่างสงบ

 

 

ในขณะที่ผู้ได้รับบาดเจ็บคนอื่น ๆ เริ่มมีอาการทรงตัวและฟื้นตัวได้ดีขึ้นตามลำดับ ด้านรัฐบาลท้องถิ่นได้ออกมาเตือนประชาชนให้ทราบถึงอันตรายจากการถูกฟ้าผ่า และแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการยืนในพื้นที่เปิดโล่งหรือยืนอยู่ใต้ต้นไม้ หากเกิดเหตุการณ์ฝนฟ้าคะนอง ควรหลบอยู่ในอาคาร หรือสถานที่ที่มีหลังคาป้องกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฟ้าผ่า เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

 

 

แต่ถ้าหากอยู่ในที่โล่งและไม่สามารถหาที่หลบได้ ให้หมอบลงนั่งยอง ๆ ให้ตัวอยู่ต่ำที่สุด โดยแนบมือทั้งสองข้างติดกับเข่า ก้มศีรษะลงไปอยู่ระหว่างเข่า และขยับเท้าให้ชิดกันหรือเขย่งปลายเท้า เพื่อลดพื้นที่ที่สัมผัสกับพื้นให้น้อยที่สุด อย่านอนหมอบราบกับพื้นหรือยืนแนบผนังเด็ดขาด หากอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ ให้กระจายตัวออกจากกัน เพื่อลดจำนวนผู้บาดเจ็บเมื่อฟ้าผ่าลงพื้น

 

 

และถ้าหากพบผู้ถูกฟ้าผ่า ให้โทรขอความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด หากผู้บาดเจ็บอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ให้เคลื่อนย้ายผู้ถูกฟ้าผ่าไปยังตำแหน่งที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันตนเองและผู้บาดเจ็บจากการถูกฟ้าผ่าอีกครั้ง ขณะที่รอรถพยาบาลการช่วยเหลือและปฐมพยาบาลในเบื้องต้นอาจช่วยให้อาการบาดเจ็บของผู้ถูกฟ้าผ่าทุเลาลงได้

โดยผู้ที่ให้ความช่วยเหลือสามารถสัมผัสตัวผู้บาดเจ็บได้ทันที เพราะผู้ที่ถูกฟ้าผ่าจะไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ในตัวแล้ว อย่างไรก็ตามฟ้าผ่าอาจทำให้เกิดอาการหัวใจวาย หากพบว่าชีพจรหยุดเต้นให้ช่วยเหลือด้วยการปั๊มหัวใจ และปั๊มอย่างต่อเนื่องจนกว่าผู้บาดเจ็บจะฟื้นคืนสติ หรือมีทีมแพทย์พยาบาลมาช่วยเหลือ

 

ที่มา : hindustantimes / pobpad

ข่าวที่เกี่ยวข้อง