เลี้ยงปลาแบบไม่ใช้เครื่องเติมออกซิเจน หลักการจัดอ่างปลาให้รอดการจัดอ่างเลี้ยงปลาเป็นกิจกรรมอีกหนึ่งอย่างที่หลายคนชื่นชอบ บางคนจัดอ่างเลี้ยงเพราะเป็นงานอดิเรกแต่บางคนมีอ่างเลี้ยงปลาเพราะความสวยงาม และอีกหลายคนอาจจัดอ่างเลี้ยงปลาเพราะต้องการมีประสบการณ์ในการเลี้ยงปลาตู้ ทั้งเพื่อความเพลิดเพลินและต้องการมีความรู้และทักษะในการจัดอ่างเลี้ยงปลาก็ตามแต่ค่ะ โดยทั้งหมดต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจก้อนหนึ่งเกี่ยวกับการจัดอ่างเลี้ยงปลา อ่างเลี้ยงปลาจะรอดไม่รอดมีหลายปัจจัยมากค่ะ โดยปัจจัยที่สำคัญที่สุดนั้น คือ ออกซิเจนละลายน้ำในน้ำ (Dissolved Oxygen; DO) เพราะเกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของปลาในอ่างหรือตู้ปลาโดยตรง ดังนั้นการจัดอ่างเลี้ยงปลาจึงต้องคำนึงถึงแหล่งที่มาของออกซิเจนละลายน้ำก่อนเป็นอันดับแรก ถามว่าเลี้ยงปลาตู้แบบไม่ใช้เครื่องเติมออกซิเจนได้ไหม? ขอตอบเต็มปากเลยค่ะว่า ได้ เพราะผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ผ่านมาแล้ว โดยเคยเลี้ยงปลาในตู้ปลาแบบไม่ใช้เครื่องเติมออกซิเจนเลย และก็สามารถเลี้ยงปลาให้อยู่รอดได้ด้วยค่ะ ส่วนจะมีรายละเอียดในการจัดอ่างเลี้ยงปลายังไงบ้างนั้นต้องอ่านให้จบค่ะ ตามที่ได้เกริ่นมาแล้วนั้นว่า ออกซิเจนละลายในน้ำนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดหากอยากมีอ่างเลี้ยงปลา ปกตินั้นแหล่งที่มาของออกซิเจนละลายในน้ำมีหลายรูปแบบแต่ผลลัพธ์สุดท้ายคือได้ออกซิเจนละลายน้ำเหมือนกันหมด ที่วัดออกมาเป็นค่าดีโอที่สามารถตรวจสอบได้ด้วย ชุดตรวจสอบค่าดีโอสนามหรือเครื่องวัดค่าดีโอ (DO meter) ในสถานการณ์จริงในบางคนที่เลี้ยงปลาตู้จำนวนมากมีความจำเป็นต้องวัดค่าดีโอค่ะ แต่สำหรับคนที่มีอ่างเลี้ยงปลาเพียงเล็กน้อยที่ประดับเพื่อความสวยงามหน้าบ้านนั้นไม่จำเป็นต้องวัดค่าดีโอก็ได้ นอกจากว่าอยากจะเรียนรู้เพิ่มเติมหรือสนใจเป็นการส่วนตัวค่ะ เพราะโดยส่วนตัวของผู้เขียนก็ไม่ได้วัดค่าดีโอในอ่างเลี้ยงปลาค่ะ เพราะอย่างแรกมีอ่างเลี้ยงปลาขนาดเล็ก และอย่างที่สองคือเอาประสบการณ์ตรงของตัวเองจากที่เคยวัดค่าดีโอมานับครั้งไม่ถ้วนในการที่ทำงานมาเทียบกับสภาวะของอ่างเลี้ยงปลาของตัวเอง ดังนี้ค่ะแหล่งที่มาของออกซิเจนละลายน้ำในอ่างเลี้ยงปลาแบบไม่ใช้เครื่องเติมอากาศนั้น ออกซิเจนละลายในน้ำได้จากการสังเคราะห์แสงของพืช (Photosynthesis) เป็นหลักค่ะ โดยการสังเคราะห์แสงนี้ต้องการสภาวะที่เอื้อต่อการสังเคราะห์แสงค่ะ ดังนี้แสงแดด อ่างเลี้ยงปลาต้องวางอยู่ในที่ๆ มีแสงแดดส่องถึงค่ะ อาจเป็นหน้าบ้าน ในสวนหรือจุดใดจุดหนึ่งของบ้าน อ่างเลี้ยงปลาควรมีแดดส่องถึงได้ตลอดทั้งวันจะดีที่สุดค่ะ ไม่จำเป็นต้องวางอ่างเลี้ยงปลาไว้กลางแจ้งแบบแดดจัดๆ ค่ะ แสงแดดพอรำไรก็สามารถใช้ได้แล้ว พืชน้ำในอ่างเลี้ยงปลา สำหรับพืชน้ำนี้สามารถใช้ได้ทั้งพืชสะเทินน้ำสะเทินบก พืชลอยน้ำและพืชใต้น้ำค่ะ โดยขึ้นอยู่กับว่าอ่างเลี้ยงปลาของเราขนาดเล็กหรือใหญ่ พื้นที่ของเราเหมาะสมกับพืชชนิดไหนจากทั้ง 3 กลุ่มค่ะ ดังตัวอย่างต่อไปนี้พืชสะเทินน้ำสะเทินบก เช่น ธูปฤาษี พุทธรักษา บัวอเมซอน ตาลปัตรฤาษี เตยหอม เป็นต้นพืชลอยน้ำ เช่น แหนเป็ดเล็ก จอกผักกาด แหนเป็ดใหญ่ จอกหูหนู แหนแดง ผักตบชวา เป็นต้นพืชใต้น้ำ เช่น สาหร่ายหางกระรอก สาหร่ายพุงชะโด เป็นต้นการมีอ่างเลี้ยงปลาแบบไม่มีเครื่องเติมออกซิเจน อาศัยความหลากหลายทางชีวภาพและกระบวนการได้มาซึ่งออกซิเจนละลายน้ำจากกระบวนการตามธรรมชาติค่ะ จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้เรียนรู้มานั้น ต้องอาศัยหลักการดังต่อไปนี้ความหลากหลายของชนิดพืชน้ำในอ่างเลี้ยงปลาที่ควรมีทั้ง 3 ชนิด ปะปนกันไป การมีพืชน้ำหลากหลายชนิดทำให้ความอ่อนไหวในอ่างเลี้ยงปลามีน้อยในกรณีที่พืชน้ำบางชนิดตายไปหรือด้อยประสิทธิภาพในการให้ออกซิเจนละลายในน้ำค่ะพืชลอยน้ำในอ่างเลี้ยงปลาจะต้องไม้ปิดพื้นที่ผิวน้ำในอ่างเลี้ยง 100% จนแสงแดดไม่สามารถส่องถึงชั้นน้ำด้านล่างได้ เพราะการส่องถึงของแสงแดดที่ขั้นน้ำด้านล่างภายในอ่างเลี้ยงปลามีส่วนทำให้พืชใต้น้ำสามารถมีชีวิตอยู่ได้ กระบวนการสังเคราะห์แสงสามารถเกิดขึ้นได้ น้ำจึงมีออกซิเจน หากปล่อยให้พืชลอยน้ำปิดพื้นที่ผิวน้ำทั้งหมด สถานการณ์นี้จะทำให้พืชใต้น้ำตายและน้ำจะเน่าเสียค่ะต้องมีการเก็บพืชน้ำออกหรือเปลี่ยนพืชน้ำใหม่เมื่อพบว่าพืชน้ำแก่จนเกินไป เพื่อลดปริมาณของสารอินทรีย์ละลายน้ำภายในอ่างเลี้ยงปลา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากไม่เก็บพืชที่แก่ออกสารอินทรีย์ที่เพิ่มขึ้นจะไปกระตุ้นให้อ่างเลี้ยงปลามีสาหร่าย (Algae) ที่เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวเกิดขึ้นและเกิดกระบวนการกำจัดของเสียในน้ำตามธรรมชาติ มีจุดสังเกตคือ การมีหอยชนิดต่างๆ ในอ่างเลี้ยงปลาสามารถช่วยให้สารอินทรีย์ถูกกำจัดได้ดีขึ้นค่ะ เพราะหอยจะกินเศษซากพืชและขี้ปลาที่ตกตะกอนอยู่ที่ก้นของอ่างเลี้ยงปลาจึงทำให้ลดการเน่าเสียของน้ำได้ ปลาจึงอยู่รอดได้ค่ะในกรณีพบว่าน้ำมีความขุ่นมากขึ้นมีความจำเป็นต้องดูดตะกอนของสารอินทรีย์ที่ก้นอ่างเลี้ยงปลาออก เพื่อลดความเข้มข้นของสารอินทรีย์ในน้ำ ซึ่งสามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องรื้อหรือล้างอ่างเลี้ยงปลาค่ะ ให้ใช้สายยางดูดตะกอนออกโดยใช้หลักการของกาลักน้ำค่ะปลาสวยงามในกลุ่มปลาหางนกยูงมีความเหมาะสมมากที่สุดสำหรับการมีอ่างเลี้ยงปลาแบบไม่ใช่เครื่องเติมอากาศค่ะ เพราะมีความคงทนต่อสภาวะที่น้ำมีออกซิเจนต่ำกับปลากลุ่มนี้สามารถปรับตัวได้ดีกว่าค่ะ อย่างไรก็ตามปลาทองยังสามารถเลี้ยงได้ เพราะผู้เขียนเคยเลี้ยงมาแล้วแต่มีความจำเป็นต้องดูดของเสียออกจากก้นอ่างเลี้ยงปลาบ่อยครั้ง ประกอบกับน้ำที่นำมาใส่ในอ่างต้องแน่ใจว่าได้เปิดน้ำทิ้งไว้จนคลอรีนได้ระเหยไปหมดแล้วก่อนนำปลามาใส่ในอ่างเลี้ยงปลาค่ะต้องควบคุมแหล่งเกิดของเสียในน้ำในอ่างเลี้ยงปลาให้มีความสมดุลกับการกำจัดของเสียด้วยพืชน้ำ หากพบว่าจำนวนปลาที่อยู่ในอ่างมากเกินไปต้องย้ายปลาออก ในขณะที่ถ้ามีพืชน้ำแก่จัดที่พร้อมจะเน่าตายในอ่างได้ก็ต้องเก็บออกค่ะการมีอ่างเลี้ยงปลาแบบไม่ใช้เครื่องเติมอากาศสามารถลดต้นทุนในการบริหารจัดการอ่างเลี้ยงปลาได้ค่ะ ซึ่งแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ใช้ได้จริง และเป็นแนวทางที่ผู้เขียนเลือกใช้ตลอดหากต้องการมีอ่างเลี้ยงปลาสวยงามที่บ้านค่ะ ออกซิเจนละลายน้ำในอ่างเลี้ยงปลาแบบไม่ใช้เครื่องเติมอากาศนั้นสามารถมีค่าดีโอเกินพอสำหรับสิ่งมีชีวิตในน้ำค่ะ อย่างไรก็ตามอาจพบว่าสภาวะในอ่างเลี้ยงปลามีการเปลี่ยนแปลงได้บ้างในช่วงที่มีฝนตกฟ้าครึ้มและในตอนกลางคืน แต่จากที่ผู้เขียนสังเกตมานั้น พบว่า ในวันที่แดดออกน้อยหรือไม่มีแสงแดดเลยไม่ส่งผลต่อการอยู่รอดของปลาค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นปริมาณของสารอินทรีย์ละลายในน้ำเกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของปลาสวยงามในช่วงที่มีแดดน้อยค่ะ จึงต้องควบคุมให้ของเสียภายในอ่างเลี้ยงปลามีน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ค่ะจบแล้วค่ะสำหรับเลี้ยงปลาแบบไม่ใช้เครื่องเติมออกซิเจน หลักการจัดอ่างปลาให้รอด การไม่มีเครื่องมือวัดค่าดีโอนั้นสามารถทำได้ค่ะ แต่เราจะไปโฟกัสที่การลดสารอินทรีย์ในน้ำเพื่อลดการใช้ออกซิเจนละลายในน้ำแทน เพราะเกี่ยวข้องกับการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำด้วยจุลินทรีย์กลุ่มที่ใช้ออกซิเจนค่ะ เมื่อเราควบคุมความเข้มข้นของสารอินทรีย์ได้ ความต้องการออกซิเจนของน้ำก็ควบคุมได้ไปในตัว พอพืชน้ำสังเคราะห์แสงน้ำจึงมีค่าดีโออย่างเพียงพอ ปลาสวยงามจึงอยู่รอดได้ก็เท่านั้นเองค่ะ ลองอ่านและนำไปปรับใช้กันค่ะ ผู้เขียนหวังว่าเนื้อหาในบทความนี้จะช่วยให้หลายๆ คนที่อยากมีอ่างเลี้ยงแบบไม่ใช้เครื่องเติมอากาศมองเห็นภาพนะคะเครดิตภาพประกอบบทความโดย: ผู้เขียนภาพหน้าปก โดย Emir Kaan Okutan จาก Pexelsออกแบบภาพหน้าปก Canvaภาพประกอบเนื้อหาถ่ายภาพโดยผู้เขียนบทความอื่นที่น่าสนใจ✳️การย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียแบบใช้อากาศ อ่านเลย❇️จอกผักกาด พืชน้ำสารพัดประโยชน์ บำบัดน้ำเสียได้ เลี้ยงปลาได้ 🎯การเติมอากาศด้วยเครื่องเติมอากาศสำคัญอย่างไร อ่านเลย🔴 เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !