รีเซต

กลุ่มแพทย์ ปชต.ยื่นหนังสือ 'อนุทิน' เลือกวัคซีน นำเข้า mRNA-โปรตีนซับยูนิต

กลุ่มแพทย์ ปชต.ยื่นหนังสือ 'อนุทิน' เลือกวัคซีน นำเข้า mRNA-โปรตีนซับยูนิต
มติชน
11 สิงหาคม 2564 ( 14:44 )
53
กลุ่มแพทย์ ปชต.ยื่นหนังสือ 'อนุทิน' เลือกวัคซีน นำเข้า mRNA-โปรตีนซับยูนิต

 

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แพทย์พยาบาลเพื่อมวลชน กลุ่มแพทย์เพื่อประชาธิปไตย นำโดย นพ.ทศพร เสรีรักษ์ และ พญ.ของขวัญ ฟูจิตนิรันดร์ เข้าพบ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. เพื่อยื่นหนังสือข้อคิดเห็นภาคประชาชนเกี่ยวกับการจัดการวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย พร้อมหารือร่วมกันนานกว่า 2 ชั่วโมง

 

 

นายอนุทิน กล่าวว่า สธ.ต้องการทำงานร่วมกับทุกคน วันนี้ ปัญหาที่พบ สธ.จะได้อธิบายข้อมูล เพราะมีเจตนารมณ์บริสุทธิ์ ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ได้สนใจว่าใครเป็นวีไอพี หรือชนชั้นไหน มีแต่ประชาชน ต้องการให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนให้เร็ว ให้ดี ให้ทัน ความเห็นต่างๆ ที่ทุกคนได้เสนอมา ก็จะมีคณะทำงานที่ดูแลรับผิดชอบ และพร้อมให้ข้อมูลได้

 

 

ด้าน นพ.ทศพร กล่าวว่า มาในฐานภาคประชาชน เพื่อช่วยรัฐมนตรีว่าการ สธ.ช่วยชาวสาธารณสุขทุกคนแก้ไขปัญหา เนื่องจากพบปัญหาจากโควิด-19 อย่างหนักทั้งการรักษาพยาบาล เตียง ยา โดยเฉพาะวัคซีนที่ไม่เพียงพอ ไม่ทั่วถึง ซึ่งไทยได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ที่ได้รับบริจาคมา โดยเป็นการฉีดเข็มบูสเตอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทำงานด่านหน้า แต่พบปัญหาและมีการร้องเรียกจากภาคประชาชนว่า 1.การจัดสรรวัคซีนไม่ทั่วถึงไม่เพียงพอ บุคลากรสาธารณสุขถูกกีดกันด้วยกฎเกณฑ์ที่ สธ.กำหนด เช่น ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับบุคลากรที่ได้รับซิโนแวค 2 เข็มก่อน 2. มีการนำไปฉีดให้กับกลุ่มที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน เช่น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เจ้าหน้าที่บัญชี เจ้าหน้าที่สำนักงาน ดังนั้น จะต้องจัดลำดับความสำคัญ เช่น ใน ร.ร.แพทย์ ควรให้กับนักเรียนแพทย์ เอ็กซ์เทิร์ม อินเทิร์น ก่อน จึงขอเรียกร้องให้ สธ. 1.กำหนดแผนการกระจายการฉีดวัคซีนให้ชัดเจน 2.วัคซีนต้องเพียงพอสำหรับบุคลากรสาธารณสุขทุกคน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครต่างๆ ผู้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดเก็บขยะ ผู้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการศพ และ 3.รายชื่อบุคคลที่จะได้รับการฉีดวัคซีนให้ระบุชื่อตำแหน่งหน้าที่การปฏิบัติงาน เหตุผลที่ชัดเจน ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจสอบ และคัดค้านได้ ทั้งในรูปแบบของการติดประกาศที่หน่วยฉีด และเว็บไซต์

ขณะที่ พญ.ของขวัญ กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอให้มีการฉีดให้กับบุคลากรทั้งในและนอกระบบ อาสาสมัครต่างๆ อีจัน เส้นด้าย เราต้องรอด เพราะทำงานในการดูแลผู้ป่วยเช่นกัน ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีนสูตรไขว้นั้น จำเป็นต้องไขว้ “หลายประเทศมีการฉีดไขว้อยู่แล้ว แต่เขาไขว้แล้วจบด้วย mRNA กรณีการฉีดไขว้ในประเทศไทยเข็มแรกซิโนแวค เข็มสอง แอสตร้าเซนเนก้า ที่บอกว่าดี ขอให้มีการเปิดเผยผลวิจัยด้วย ไม่ใช่การบังคับประชาชนฉีดสูตรแบบนี้ ซึ่งไม่ใช่ประชาธิปไตย เช่นเดียวกัน ในระบบประชาธิปไตย ประชาชนต้องสามารถเลือกวัคซีนได้ จึงขอให้มีการจัดหาวัคซีนเพิ่ม และขอความกรุณาให้ท่านอนุทินไปดีลวัคซีนโปรตีนซับยูนิตของโนวาแว็กซ์ด้วย” พญ.ของขวัญ กล่าว

 

 

นายอนุทิน กล่าวอธิบายว่า ในเรื่องกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ อสม. กู้ภัย สัปเหร่อ คือ บุคลากรทำงานด่านหน้า ดังนั้น นโยบายชัดเจน อสม. ต้องได้รับการฉีดวัคซีนให้ครบก่อนทำงาน เชื่อว่าคนทั่วไป กู้ภัย ฉุกเฉิน น่าจะได้รับวัคซีนในระดับหนึ่งแล้ว หากมองว่ายังไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร อาจจะไปคนละที่ แต่ว่านโยบายชัดเจน ส่วนกรณีอาสาสมัครภาคประชาชนดังที่ยกตัวอย่างมานั้น เบื้องต้นไม่ได้มาลงทะเบียนไว้ในระบบ แต่ก็สามารถทำหนังสือเข้ามาได้

 

นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัด สธ. ในฐานะประธานคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรณีวัคซีนโควิดไฟเซอร์ กล่าวว่า การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ มีหลายหน่วยงานที่ประชุมร่วมกัน อาทิ อาจารย์มหาวิทยาลัย นายกสมาคมโรคติดเชื้อ กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ ซึ่งวัคซีนบริจาค 1.5 ล้านโดส ที่เคยเสนอ ศบค. จะเป็นส่วนของ 1.บุคลากรสาธารณสุข 7 แสนโดส 2.ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 13 จังหวัด 645,000 โดส 3.ชาวต่างชาติที่อยู่ในไทย รวมถึงบุคคลที่จะเดินทางไปต่างประเทศที่มีบ่งชี้ต้องรับไฟเซอร์ 150,000 โดส 4.การศึกษาวิจัย 5,000 โดส และ 5.ควบคุมการระบาด 3,450 โดส ไม่ใช่ 40,000 โดส ตามที่มีการระบุในช่วงแรก ซึ่งจะมีการนำไปใช้ควบคุมในพื้นที่ภาคใต้ที่มีการระบาดของเบต้า

 

 

“ส่วนของบุคลากรด่านหน้า ในหลักตามเกณฑ์เดิมกำหนดว่า รับซิโนแวค 2 เข็ม แล้วต่อด้วยไฟเซอร์ แต่ภายหลังจากที่คณะอนุกรรมสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคได้พูดคุยกันว่า บุคลากรที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลย ก็จะได้รับไฟเซอร์ด้วย ส่วนที่ได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ มาแล้ว 2 เข็ม คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่า ยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ หรือผู้ที่รับซิโนแวคเข็มแรก และรับแอสตร้าฯ เข็ม 2 รวมถึงผู้ที่รับเข็มบูสเตอร์ด้วยแอสตร้าฯ ด้วย ก็ไม่ควรรับไฟเซอร์ เพราะภูมิฯ ยังอยู่ในระดับสูงมาก แต่ในระยะต่อไปที่วัคซีนเข้ามาเพิ่มเติม ก็จะได้รับการจัดสรรเพิ่มเติมแน่นอน” นพ.สุระ กล่าว

 

 

ขณะที่ น.ส.สิริลภัส กองตระการ ตัวแทนประชาชนด้านการรับรู้ข่าวสาร กล่าวว่า วันนี้รับรู้ข่าวสารหลายทาง ไม่มีความมั่นใจอันไหนเชื่อได้หรือไม่ได้ เรื่องวัคซีนไม่มีการแจกแจงเลยว่า วัคซีนไปอยู่ตรงไหนบ้าง ประชาชนต้องสืบค้นข้อมูลเอง จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง เรื่องนี้ สธ.ควรเป็นศูนย์กลางด้านข้อมูลข่าวสาร เพราะวันนี้ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นในข้อมูล ขอให้มีการปรับปรุงข้อมูลใน ศบค.

 

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีการสื่อสารข้อมูล ว่า หากเป็นข่าวสารที่เชื่อถือได้ สธ.มีการแถลงทุกวันในเวลา 13.30 น. ทางเฟซบุ๊ก และช่องยูทูบ “หากต้องการข้อมูลที่เป็นทางการ ไม่กลับไป กลับมา ก็จะอยู่ในส่วนนี้ เช่น 2-3 สัปดาห์ที่มีข่าวไฟเซอร์ ต้องผสมน้ำเกลือ ก็ถูกกล่าวหาว่าเอาวัคซีนปลอมมาให้หรือไม่ ทั้งที่ สธ.พูดไปเป็นข้อเท็จจริง ถ้าดูแต่โซเซียลก็จะได้อีกแบบหนึ่ง ทุกวันนี้ยังมีคนบอกว่า เราฉีดน้ำเปล่าให้หรือเปล่า ดังนั้น หากจะติดตามข่าวสารที่ถูกต้อง ให้ติดตามจาก สธ. ประเด็นต่อมาคือ วัคซีนที่ฉีดทุกตัว มีการขึ้นทะเบียนจาก อย. องค์การอนามัยโลกรับรอง ปลอดภัย แต่ด้วยสถานการณ์เปลี่ยนไป จากเดิมที่มีประสิทธิภาพกับสายพันธุ์เก่า แต่เมื่อเป็นเดลต้า ก็ทำให้ประสิทธิวัคซีนบางตัวลดน้อยลง อย่างที่ทราบว่า ฉีดไฟเซอร์ก็ติดเชื้อเสียชีวิตได้ ทุกตัวเหมือนกันหมด ยังย้ำเป้าหมายของรัฐบาลว่า ต้องฉีดให้ได้ 100 ล้านโดส ในปี2564 ซึ่งกระบวนจัดหาก็พยายามปรับตามสถานการณ์ตลอด เวลา แต่อย่างที่ทราบว่า วัคซีนเป็นของที่ต้องการทั่วโลก แย่งกันตลอด แต่ประเทศไทยก็จะพยายามเอาวัคซีนมาฉีดให้ได้มากที่สุด รวมถึงได้เจรจาไฟเซอร์เพิ่มเติม และจะมีวัคซีนเข้ามาเรื่อยๆ” นพ.โอภาส กล่าว

 

 

นพ.โอภาส กล่าวย้ำว่า ทุกคนได้รับการฉีดวัคซีน แต่ในภาคปฏิบัติ แต่ละจังหวัดจะมีกระบวนการ ในพื้นที่จะรู้ว่าใครจะเป็นด่านหน้าจริงหรือไม่จริง ที่กังวลคือ “ด่านหน้าไม่จริง แล้วมาฉีด” นั่นเป็นเรื่องที่เราต้องขอให้ทุกคนช่วยตรวจสอบ

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการหารือร่วมกัน นพ.ทศพร ได้ยื่นหนังสือที่เขียนด้วยลายมือให้แก่ นายอนุทิน ระบุว่า

“เรียน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ด้วยผมได้รับการร้องเรียนจากบุคลากรสาธารณสุข นักศึกษา ประชาชนจำนวนมากในเรื่องการฉีดวัคซีนไฟเซอร์

1.การจัดสรรวัคซีนไม่ทั่วถึง ไม่เพียงพอ บุคลากรจำนวนมาก ถูกกีดกันด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ

2.บุคคลที่ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนได้รับการฉีดวัคซีน จึงขอเรียกร้องให้ท่าน

1).กำหนดแผนการกระจายการฉีดวัคซีนให้ชัดเจน

2).วัคซีนต้องเพียงพอสำหรับบุคลากรสาธารณสุขทุกคน อาสาสมัครสาธารณสุข อาสาสมัครต่างๆ ผู้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดเก็บขยะ ผู้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการศพ

3).รายชื่อบุคคลที่จะได้รับการฉีดวัคซีนให้ระบุชื่อตำแหน่งหน้าที่การปฏิบัติงาน เหตุผลที่ชัดเจน ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงตรวจสอบ และคัดค้านได้ ทั้งในรูปแบบของการติดประกาศที่หน่วยฉีด และ Website

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ

ลงชื่อ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ แพทย์พยาบาลเพื่อมวลชน กลุ่มแพทย์เพื่อประชาธิปไตย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง