“หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว วะยะธัมมา สังขารา อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ” แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันว่าสังขารทั้งหลาย ย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตน และประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด” (ที่มา..มหาปรินิพพานสูตร พระสูตรว่าด้วยการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า) บทที่ผู้เขียนเกริ่นนำมาในเบื้องต้นนี้เป็นปัจฉิมโอวาทครับ ถือว่าเป็นคำสั่งเสียของพระพุทธเจ้าก่อนปรินิพพานท่านทราบหรือไม่ครับว่าประโยคเพียงแค่ประโยคเดียวเดียวที่ว่านี้เป็นสัจธรรมที่ไม่มีวันเสื่อมคลายไปตามกลาเวลาแม้จะผ่านมาเนิ่นนานสักเท่าใด สวัสดีครับนักอ่านทุกท่านวันนี้ผู้เขียนจะพาท่านมาวิเคราะห์ถึงปัจฉิมโอวาทที่ว่าด้วยการดำรงชีวิตที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เป็นเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตไม่ว่าจะของฆราวาส หรือพระภิกษุสามเณร ก็ใช้ได้หมด เพราะเรื่องของความประมาทนี้ถือว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากถึงมากที่สุดก็ว่าได้ในการใช้ชีวิต จะเห็นได้ว่าในปัจฉิมโอวาทนี้หากวิเคราะห์ดูแล้วเรื่องหลัก ๆ ผู้เขียนเห็นว่าสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือ1. เรื่องความไม่ประมาทในชีวิต และ 2. เรื่องการทำประโยชน์เรื่องแรก เรื่องความไม่ประมาทในชีวิต นี้สามารถแบ่งออกได้เป็นสองข้อได้แก่1. อย่าประมาทในการดำรงชีวิต 2. อย่าประมาทการใช้ชีวิต อย่าเพิ่งแปลกใจครับ 2 ข้อนี้ ดูแล้วอาจจะเหมือนกันแต่ความหมายต่างกันโดยสิ้นเชิง นะครับ คือ 1. อย่าประมาทในการดำรงชีวิต หมายถึง พระพุทธศาสนาสอนให้สำรวม (การระมัดระวัง ประคองรักษาไว้) กาย วาจา ใจ ยึดมั่น คงตนอยู่ในศีล ดำรงตนอย่างมีสติการใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน อันนี้คือการระมัดระวังไม่ประมาทในส่วนตน 2. อย่าประมาทการใช้ชีวิต หมายถึง มีความระมัดระวังในการใช้ชีวิตที่ต้องอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในครอบครัว ชุมชน สังคม ไม่ประมาทเมื่ออยู่ร่วมกันกับคนหมู่มาก รู้จักระมัดระวังสำรวมในการวางตนตามบทบาทหน้าที่ของตนอันนี้คือ การระมัดระวังในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น 2 ข้อนี้คือหลักการดำรงตนอยู่ด้วยความไม่ประมาท มาถึงตรงนี้ผู้เขียนมีเรื่องที่พอจะเป็นอุทาหรณ์อยู่เรื่องหนึ่งครับในเรื่องของความประมาท เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่ามีพระราชาองค์หนึ่งครองเมืองด้วยหลักทศพิธราชธรรมไพร่ฟ้าประชาชนอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข วันหนึ่งพระองค์ทรงเรียกนายกัลบก (ช่างตัดผม) มาเข้าเฝ้า และบอกว่า “หากวันใดที่เจ้าตัดผมให้เราแล้วเห็นว่าเรามีผมที่หงอกขาวแม้เพียงเส้นเดียว เจ้าจงบอกแก่เราเถิด” ครั้งเมื่อในเวลาต่อมาเวลาล่วงเลยมาหลายปีทุกครั้งที่พระองค์ทรงตัดพระเกศา พระองค์จะต้องถามนายกัลบกทุกครั้งว่า “ผมเราหงอกขาวบ้างหรือยัง” ซึ่งปรากฏว่าในครั้งนี้นายกัลบกตอบว่า “มีขาวแล้วพระเจ้าข้าหนึ่งเส้น” พระองค์จึงตรัสว่า “พรุ่งนี้ให้เจ้าไปบอกให้ทหาร เสนาอมาตย์ทุกคนเข้าเฝ้าเรา” ครั้นเมื่อเวลามาถึงพระองค์จึงทรงสละราชสมบัติ และแจ้งแก่ไพร่ฟ้า ประชาชนว่า “เราจักออกบวชเพื่อแสวงหาโมกขธรรม....เห็นหรือไม่ครับนี้หละคือตัวอย่างของความไม่ประมาท เรื่องที่สอง ในปัจฉิมโอวาทนี้ ได้สอนเรื่อง การทำประโยชน์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ข้อ เช่นกัน คือ 1. ยังประโยชน์ตน คือ การทำกิจของตนให้ถึงพร้อม ไม่ว่าบุคคลนั้น ๆ เช่น คนเป็นพ่อ ก็ทำหน้าที่ของพ่อที่มีต่อลูกให้ดีที่สุด คนที่เป็นครูก็ทำหน้าที่ของครูให้ดีที่สุด หรือคนที่เป็นนักการเมืองก็ทำหน้าที่พัฒนาบ้านเมืองให้ดีที่สุด 2. ยังประโยชน์บุคคลอื่น คือ การทำประโยชน์เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม เช่น ร่วมแรง ร่วมใจเป็นจิตอาสาเข้าทำประโยชน์ หรือร่วมแรง ร่วมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย เห็นไหมว่าเพียงแค่ประโยคสั้น ๆ ที่ผ่านมาแล้วถึง 2,500 กว่าปี แม้มาถึงวันนี้ก็ยังมีความสำคัญและยังสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการใช้ชีวิตได้อย่างดี ดังนั้นหากทุกคนตระหนักในการใช้ชีวิตโดยยึดหลักพุทธโอวาทของพระพุทธเจ้าก่อนปรินิพพานเบื้องต้นมาปรับใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาชีวิต ผู้เขียนรับรองเลยว่าท่านจะดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จในชีวิตที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน...สำหรับวันนี้ด้วยจิตคารวะ ธรรมสวัสดีครับ.... เครดิตภาพทั้งหมดจากผู้เขียน (ดร.อาบแสงจันทร์ ต.)