รีเซต

เปิดชนวนปัญหา‘เราไม่ทิ้งกัน’ แจก5พัน-ก้อนอิฐมากกว่าดอกไม้

เปิดชนวนปัญหา‘เราไม่ทิ้งกัน’ แจก5พัน-ก้อนอิฐมากกว่าดอกไม้
ข่าวสด
18 เมษายน 2563 ( 22:30 )
565
7
เปิดชนวนปัญหา‘เราไม่ทิ้งกัน’ แจก5พัน-ก้อนอิฐมากกว่าดอกไม้

เปิดชนวนปัญหาเราไม่ทิ้งกัน

แจก5พัน-ก้อนอิฐมากกว่าดอกไม้

รายงานพิเศษ

เปิดชนวนปัญหาเราไม่ทิ้งกัน - แทบจะเป็นเพียงครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของกระทรวงการคลัง ที่ทำนโยบาย ‘แจกเงิน’ แล้วปรากฏว่าได้รับ ‘ก้อนอิฐ’ มากกว่า ‘ดอกไม้’

แทนที่จะเป็น ‘แต้มต่อ’ ให้รัฐบาล กลับกลายเป็น ‘บาดแผล’ ที่กำลังถล่มรัฐบาล รวมถึงหลายฝ่ายรอเช็กบิลในอนาคต

ชนวนเหตุอะไรบ้างที่ทำให้มาตรการแจกเงิน 5,000 บาทต่อเดือน นาน 3 เดือน ผ่านเว็บไซต์ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ กลายเป็น ‘หอกดาบ’ ทุกสารทิศพุ่งมาเป้ารัฐบาล แทนเสียงปรบมือ

นโยบายพลาดตรงไหน?

พลาดอย่างไร?

และใครทำพัง?

ลองมองย้อนกลับไปทบทวนกันอีกครั้ง

‘เราไม่ทิ้งกัน’ ถูกนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง อยากทำนโยบาย ‘แจกเงิน’ มาระยะหนึ่ง แต่โดนคัดค้าน เพราะน้ำหนักยังไม่มากพอ

เมื่อได้เหตุโควิด-19 ระบาดหนัก กระทบเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักหยุดชะงัก

ทั้งการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว ที่เป็น 2 เสาหลัก มานาน หายไปเกือบทั้งหมด

หลายสำนักประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบแบบทุบประวัติศาสตร์วิกฤตต้มยำกุ้ง ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าติดลบ 5.3% ขณะที่บางสำนักให้มากกว่านั้นเท่าตัว

มาตรการเราไม่ทิ้งกัน จึงถูกนำมาพิจารณาในมาตรการเยียวยาเฟส 2 เพื่อเติมเงินให้ถึงมือ ‘ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด’ และมีผลให้เริ่มดำเนินการทันทีในวันที่ 28 มี.ค.2563

ปัญหาแรก‘ขาดการบูรณาการ’

การตัดสินใจให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะคลังสมองเป็น ‘เจ้าภาพ’ ลงหน้างานเอง ถูกมองว่ามีชำนาญน้อยกว่าหน่วยงานที่ดูแลการจ่ายเงินโดยตรง จากหลายๆ มาตรการในอดีต เช่น กรมบัญชีกลาง หรือธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) และธนาคารกรุงไทย

รวมทั้งกระทรวงอื่น เช่น มหาดไทย ที่มีฐานข้อมูลสามารถทำงานเชิงรุกได้ทันที

เพราะฝ่ายบริหารกระทรวงการคลังใช้ทีม สศค.โดยแพ็กกับธนาคารกรุงไทยที่มาช่วยเรื่องวางระบบ รับลงทะเบียน ตั้งแต่ช่วง 18.00 น. วันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา

แม้คิดว่า ‘เอาอยู่’ เพราะมาตรการ ‘ชิมช้อปใช้’ ที่ลงทะเบียนในลักษณะคล้ายกันก่อนหน้านี้ เอาตัวรอดได้แล้วจะมาใช้กับมาตรการนี้ได้

แต่ด้วยขนาดของมาตรการมีความใหญ่กว่ามาก ผู้ลงทะเบียนล่าสุดกว่า 27 ล้านคน ทำให้ สศค.ต้องวิ่งแก้ปัญหาเป็นหนูติดจั่น สะท้อนจากแผนตรวจสอบข้อมูลผู้ลงทะเบียน ที่เลื่อนไปเรื่อยๆ จาก 13 เม.ย. เป็น 19 เม.ย.

ขณะที่เมื่อยอดจำนวนผู้ลงทะเบียนเพิ่มขึ้น ก็เกิดปรากฏการณ์ ‘วงแตก’ เห็นได้จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐหลายแห่ง ที่ปรากฏว่ามีประชาชนแห่ไปเปิดบัญชี จนต้องปิดสาขา เพราะกลัวคนติดโควิด

จากนั้นก็แทบไม่เข้ามายื่นมือช่วยเหลืออะไรในมาตรการเลย มีเพียงช่วยประชาสัมพันธ์ในช่วงที่โครงการมี ปัญหาแล้ว

ถัดมากับปัญหา ‘คำนิยามที่กว้างมาก’

การแจกเงินหัวละ 5,000 บาท นาน 3 เดือนรวม 15,000 บาท เป็นการแจกเงินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทย แน่นอนว่าผู้เดือดร้อนทุกคนอยากได้ แต่กลับผิดพลาดตั้งแต่การนิยามผู้ได้รับเงินช่วยเหลือ

เงื่อนไข 3 ข้อแทนที่จะกำหนดขึ้น เป็นการมัดกระทรวงการคลังให้ดิ้นไม่ออก

คือ 1.ต้องเป็นแรงงาน ลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ที่อยู่นอกระบบประกันสังคมมาตรา 33 ส่วนแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 39 และ 40 ไม่มีสิทธิ์

คำถามคือนิยาม ‘อาชีพอิสระ’ ครอบคลุมไปถึงกลุ่มอาชีพใดบ้าง

2.เป็นผู้ที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากมาตรการอื่น เช่น ข้าราชการ เกษตรกร

และ 3.ต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างแท้จริง สามารถพิสูจน์ได้

ในข้อนี้นิยามได้ยากมาก แม้แต่ขณะนี้ไม่สามารถบอกได้ว่าตัวชี้วัดใครได้รับผลกระทบจากโควิด จะวัดจากอะไร

เพราะหากไม่นับข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือลูกจ้างบริษัทใหญ่ๆ ที่ยังดำเนินการได้อยู่

กลุ่มอาชีพอิสระต่างๆ พ่อค้าแม่ค้า ร้านอาหาร ฯลฯ มีกลุ่มไหนบ้างที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจในช่วงนี้ เพราะแม้บางคนอาจยังมีรายได้ แต่ส่วนใหญ่ลดลงจำนวนมาก จนแทบไม่พอรายจ่าย จึงมีข่าวคนฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย จนถึงต้องเป็นขโมย เป็นโจร ไปก็มี

กรณีถัดมา‘เอไอเจ้าปัญหา’

การใช้ระบบ ‘เอไอ’ มาคัดกรองผู้มีคุณสมบัติ ทางหนึ่งรัฐต้องการแสดงว่าโปร่งใส แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลายเป็นว่า ‘เอไอ’ ที่รัฐนำมาใช้กลายเป็นบ่วงรัดคอคนทำนโยบาย

กลุ่ม 4 อาชีพเป้าหมายหลัก เช่น คนขับแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง มัคคุเทศก์ และผู้ค้าสลาก ที่กระทรวงการคลังนำร่องว่ามีโอกาสได้รับเงินช่วยเหลือ จนขณะนี้ ถูกพิษเอไอเล่นงาน ได้รับเงินกันไม่ถึงครึ่ง

ไม่นับอาชีพหลักคือลูกจ้าง และอาชีพอิสระ เช่นค้าขาย มีจำนวนไม่น้อยที่ ‘เอไอ’ ระบุว่าไม่ได้รับสิทธิ์ เพราะเป็น “เกษตรกร” “นักศึกษา” และ “เจ้าของกิจการ”

ทำให้ในโซเชี่ยลแซวกันว่าในช่วงลงทะเบียน 5 พันบาท ประเทศไทยมีเกษตรกร นักศึกษา และเจ้าของกิจการ เพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

ตัวเลขล่าสุดผู้ลงทะเบียนกว่า 27 ล้านคน ระบบเอไอให้ได้รับเงินเพียง 3.2 ล้านราย จำนวนเงิน 1.6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

ส่วนที่เหลือไม่รู้ชะตากรรม จึงไม่แปลกที่ทำให้คนรู้สึกว่า ‘เอไอ’ เป็นตัวซ้ำเติมความทุกข์ยากของประชาชน จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านที่ถูกตัดสิทธิ์จำนวนมาก รวมตัวกันมาประท้วงเรียกร้องที่กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา

ท้ายที่สุด นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ต้องชี้แจงว่า เอไอเป็นเพียงตัวช่วยจัดการฐานข้อมูล ไม่ใช่เครื่องมือตัดสินใจว่า ใครควรได้เงิน หรือไม่ได้เงิน

สุดท้ายกับ ‘การสื่อสารที่ไร้ประสิทธิภาพ’

การสื่อสารในมาตรการนี้ คือความล้มเหลวที่สุดก็ว่าได้

เช่นเดิมออกมาระบุว่าผู้เข้าข่ายมีประมาณ 3 ล้านคน ที่ผ่านความเห็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใช้งบประมาณรวม 45,000 ล้านบาท สุดท้ายต้องผ่านมติเพิ่มเป็น 9 ล้านคน ใช้งบประมาณ 1.35 แสนล้านบาท

กรณีระยะเวลาการแจกเงินเดิมจะแจกเงิน 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.) แต่เมื่อที่ประชุมครม.เห็นชอบผ่าน พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท รมว.คลัง ก็จับไมค์ว่าจะขยายเวลามาตรการเป็น 6 เดือน แต่ผ่านไปข้ามคืนขอลดลงมาเหลือ 3 เดือนเหมือนเดิม แต่ให้ดูสถานการณ์เป็นเดือนต่อเดือน

หรือสศค.แจงว่าเดิมจะไม่ปิดรับลงทะเบียนเปิดไปจนถึงเดือนมิ.ย. คือถ้าลงทะเบียนเดือนมิ.ย.จะได้รับเงินช่วย เดือนเดียว แต่ล่าสุดประกาศปิดรับลงทะเบียนในวันที่ 22 เม.ย.นี้แล้ว

ถัดมากรณีกระทรวงการคลัง ติดประกาศให้ผู้ถูก ตัดสิทธิ์มาอุทธรณ์ที่กระทรวงการคลังในวันที่ 14 เม.ย. แต่ผ่านไปไม่กี่ชั่วโมงประกาศยกเลิก ให้อุทธรณ์ผ่านเว็บไซต์แทน

นายกรัฐมนตรี จู่ๆ ออกมาระบุว่ามีเงินช่วยเหลือเพียง 1 เดือนจากงบกลางที่กันไว้ 45,000 ล้านบาท สุดท้ายรีบแก้ข่าวว่ายังมีพอแจกต่อไปจนครบ 3 เดือน อ้างว่าสื่อสารผิดพลาด

หนักที่สุดคือการที่มาตรการไม่สามารถสื่อสารกับผู้รับผลกระทบได้ เน้นใช้ออนไลน์กับชาวบ้านตาสีตาสา เมื่อมีการลงทะเบียนแล้วมีปัญหาไม่มีช่องทางเพียงพอ ทำให้ประชาชนต้องลุกฮือมาที่กระทรวงการคลังด้วยตัวเอง

ทั้งหมดคือกรณีตัวอย่างที่สะท้อนการสื่อสารที่ ‘ล้มเหลว’

ล่าสุดนายกรัฐมนตรี ต้องตั้งคณะกรรมการเยียวยามีปลัด 10 กระทรวง เป็นกรรมการ และนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานฯ ดูแลมาตรการเยียวยาทั้งหมดรวมทั้งการแจกเงิน 5,000 บาท ให้บูรณาการมากขึ้น

จนถึงขณะนี้ยอดลงทะเบียนกว่า 27 ล้านคน มีผู้ผ่านสิทธิ์ได้เงินแล้วกว่า 3.2 ล้านคน

กลุ่มที่ไม่ผ่าน 12 ล้านคน

กลุ่มก้ำกึ่ง 6 ล้านคน

และอยู่ระหว่างตรวจสอบ 6 ล้านคน

ต้องลุ้นกันอีกยกในวันที่ 20 เม.ย.นี้ หลังเปิดให้ยื่นทบทวนสิทธิ์ได้ทุกกรณี หากกระทรวงการคลังยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนเรื่องเกณฑ์การคัดเลือกผู้ได้รับสิทธิ์ รวมไปถึงนิยามคำว่า ‘ได้รับผลกระทบจากโควิด’

ความโกลาหลที่กระทรวงการคลัง อาจเกิดขึ้นอีกครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง