หนังสือ “วิธีพาตัวเอง ออกจาก”กล่อง”ใบเล็ก” เขียนโดย The Arbinger Institute และแปลโดย ตวงทอง สรประเสริฐ เป็นหนังสือที่อ่านแล้วให้ความรู้สึกเหมือนกับการดูภาพยนตร์ที่สนุกและน่าติดตามเรื่องหนึ่งทีเดียวครับหนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องราวของ ทอม คอลัมน์ ซึ่งย้ายมาเริ่มงานที่บริษัทแห่งใหม่ชื่อว่า แซกกรัม ในฐานะผู้บริหารระดับสูง หนังสือเล่าเรื่องราวผ่านบทสนทนาระหว่าง ทอม กับ บัด เจฟเฟอร์สัน ชายวัยห้าสิบที่ดูอ่อนกว่าวัย ในตำแหน่ง รองประธานบริษัท การสนทนานี้ใช้เวลาหลายวัน วันละหลายชั่วโมง แต่เป็นการสนทนาที่น่าสนใจ โดยบัดยกตัวอย่างสถานการณ์ของตนเองเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ซึ่งทำให้ทอมรู้สึกได้ว่า คนที่จะก้าวมาเป็นผู้บริหารระดับสูง ใช่ว่าจะต้องสมบูรณ์แบบไปเสียทุกอย่าง และในช่วงเวลาหลายวันของการสนทนาระหว่างทอมกับบัด ยังมีตัวละครที่น่าสนใจเพิ่มเข้ามา นั่นคือ เคท สเตนารูด ประธานบริษัทคนปัจจุบัน และ ลู เฮอร์เบิร์ต ประธานบริษัทคนก่อน ซึ่งเป็นคนนำกลยุทธ์ "การอยู่นอกกล่อง" มาใช้ จนทำให้บริษัท แซกกรัม ก้าวสู่ความเป็นผู้นำในธุรกิจแต่แนวความคิดเกี่ยวกับการอยู่นอกกล่องของลูนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวของลูเองตั้งแต่ต้น แต่เกิดจากเหตุการณ์สำคัญที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของลู เหตุการณ์นั้น ถ้าใครได้ลองผ่านเรื่องราวไปพร้อมกับลู คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่สะท้อนใจ หรือ หลั่งน้ำตาไปพร้อมกับเค้าแน่นอน นอกจากนั้น ในระหว่างการสนทนาที่ใช้เวลาหลายวัน ทอมได้ลองนำกลยุทธ์การอยู่นอกกล่องไปปรับใช้ ทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว และต้องบอกเลยว่า ผลที่เกิดขึ้นกับตัวเค้านั้นเปลี่ยนไปในทางที่ดีอย่างไม่น่าเชื่อผมไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมหนังสือเล่มนี้ จึงติดอันดับหนังสือขายดีที่สุดของ New York Times ด้วยความที่เนื้อหามีความใกล้ตัวกับคนทุกกลุ่ม สะท้อนปัญหาที่ผู้คนทุกกลุ่มมักจะพบอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน หรือ สถานที่อื่น ๆ และเสนอวิธีแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผมต้องขอบคุณผู้แปลเป็นอย่างสูงที่แปลได้อย่างมีอรรถรส ทำให้การอ่านเป็นไปอย่างลื่นไหลและน่าติดตาม จนอ่านจบแล้วกลับมาถามตัวเองว่า บริษัท แซกกรัม เค้าทำธุรกิจอะไรกันนะ ผมเองก็ยังให้คำตอบกับตัวเองไม่ได้เหมือนกัน ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอ่านเพลินจนลืมสนใจ หรือ หนังสือไม่ได้บอกเอาไว้จริง ๆ แต่เรื่องนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับประเด็นที่ว่า การที่บริษัท แซกกรัม ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในธุรกิจได้ เพราะมีรากฐานของการอยู่นอกกล่อง ซึ่งถูกนำไปปรับใช้กับส่วนงานทุกระดับการอยู่นอกกล่อง แม้จะมีความยากกว่าการอยู่ในกล่อง แต่จะทำให้เราได้มองเห็นสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีวิจารณญาณมากขึ้น ก่อนที่เราจะตัดสินใจเลือกวิธีการในการตอบสนอง และมองว่าเขา/เธอที่อยู่ในสถานการณ์นั้นต่างก็เป็นคนเช่นเดียวกับเรา มีความต้องการ ความหวัง และความรู้สึกต่าง ๆ ไม่ต่างกัน การอยู่นอกกล่องไม่ได้หมายถึง การต้องยอมเหนื่อยเพื่อที่จะแก้ไขเรื่องราวของผู้อื่นตลอดเวลา แต่ทำให้เราได้รู้จักมุมมองอื่น ๆ ที่เราอาจลืมมองไป และเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไข ตามกำลังและความสามารถที่มี โดยเฉพาะเมื่อหนึ่งในคู่กรณีนั้น คือ ตัวเราเองในทางตรงกันข้าม การอยู่ในกล่อง ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นพฤติกรรมโดยธรรมชาติของคนเรานั้น ถือเป็นพฤติกรรมที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการรักษาระดับของปัญหาให้คงอยู่ และมีแนวโน้มที่จะทำให้ระดับของปัญหามีความรุนแรงมากขึ้นสุดท้ายนี้ ผมยืนยันอีกครั้งว่า หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือที่น่าอ่านมาก และเชื่อว่า ถ้าผมและคุณสามารถนำแนวคิด "การอยู่นอกกล่อง" มาประยุกต์ใช้กับชีวิตของตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน ที่บ้าน หรือกับใคร ๆ ก็ตาม ชีวิตของเราและคนรอบตัวเราจะมีความสุขมากขึ้นเครดิตภาพ หน้าปก (รูปกล่อง) จาก Cha-aem Chaisri's Imagesเครดิตภาพ ภาพที่ 1 ภาพโดยผู้รีวิวเครดิตภาพ ภาพที่ 2 จาก Benjamin Childเครดิตภาพ ภาพที่ 3 จาก Kaleidicoเครดิตภาพ ภาพที่ 4 จาก Windowsเครดิตภาพ ภาพที่ 5 จาก Belinda Fewingsเปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !