เอล คาซเนท์ (Al – Khazneh) คลังสมบัติของฟาโรห์ เอล คาซเนท์ (Al – Khazneh) เป็นหนึ่งในวัดที่ประณีตที่สุดในเมืองเพตรา (Petra) แห่งราชอาณาจักรนาบาเทีย (Nabateae) ซึ่งชาวอาหรับอาศัยอยู่ในสมัยโบราณ เช่นเดียวกับอาคารอื่นๆ ส่วนใหญ่ในเมืองโบราณแห่งนี้รวมถึงอาราม โครงสร้างนี้ถูกแกะสลักจากหินทราย เชื่อกันว่าโครงสร้างนี้เป็นที่เก็บพระศพของกษัตริย์อาเรตัสที่ 4 ในคริสต์ศตวรรษที่ 1 ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดทั้งในประเทศจอร์แดนและในภูมิภาคนี้ และในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 กลายเป็นที่รู้จักในฐานะเอล คาซเนท์ (Al – Khazneh) เพราะชาวเบดูอินเชื่อว่าเป็นที่เก็บสมบัติ เอล คาซเนท์ (Al – Khazneh) หมายถึง "คลัง" ในภาษาอาหรับ ชื่อที่ได้มาจากตำนานเกี่ยวกับโกศหินตกแต่งสูงบนชั้นสองซึ่งในความเป็นจริงเป็นหินทรายแข็ง ตำนานเรื่องแรก คือ มีฟาโรห์แห่งอียิปต์และกองทัพส่วนหนึ่งได้หลบหนีจากการปิดทะเลแดง และสร้างคาซเนท์ (Khazneh) ด้วยเวทมนตร์ไว้เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับทรัพย์สมบัติและยังคงติดตามโมเสสต่อไป นำไปสู่ชื่อ “Khaznet el-Far'oun” หรือ "คลังสมบัติของฟาโรห์" ตำนานอีกเรื่องหนึ่ง กล่าวว่าโจรหรือโจรสลัดซ่อนของที่ปล้นมาไว้ในโกศ ความเสียหายจากกระสุนทำให้สามารถเห็นภายในโกศ ประกอบกับเรื่องเล่าพื้นบ้านของชาวเบดูอินที่กล่าวว่าได้ยิงโกศดังกล่าวในต้นศตวรรษที่ 20 โดยหวังว่าจะทำลายเพื่อเปิดและนำเอา "คลังสมบัติ" ออกมา เอล คาซเนท์ (Al – Khazneh) เดิมสร้างเป็นสุสานและฝังศพใต้ถุนโบสถ์เมื่อต้นศตวรรษที่ 1 ในช่วงรัชสมัยของกษัตริย์อาเรตัสที่ 4 รายละเอียดทางสถาปัตยกรรมของอาคารหลายแห่งถูกกัดกร่อนในช่วงสองพันปีที่ผ่านมาเนื่องจากมีการขุดและแกะสลักจากหน้าผา ประติมากรรมถูกมองว่าเป็นบุคคลในตำนานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตหลังความตาย บนยอดเป็นรูปปั้นนกอินทรีสี่ตัวที่จะพาวิญญาณไป รูปปั้นในชั้นบนคือนักรบหญิงถือขวานคู่กำลังเต้นรำ และทางเข้าถูกขนาบด้วยรูปปั้นของฝาแฝดคาสเตอร์และพอลลักซ์ซึ่งส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในโอลิมปุสและอีกส่วนหนึ่งในโลกบาดาล ในปี พ.ศ. 2355 เมืองเพตรา (Petra) และเอล คาซเนท์ (Al – Khazneh) ถูกค้นพบอีกครั้งโดยนายโยฮันน์ ลุควิก บวร์กฮาร์ท นักสำรวจชาวสวิส ในขณะที่ยุโรปตะวันตกยังคงออกสำรวจตะวันออกกลาง การท่องเที่ยวเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น และในช่วงปี พ.ศ. 2463 โรงแรมขนาดเล็กได้เปิดขึ้นใกล้กับเมืองเพตรา (Petra) แม้ว่าเมืองเพตรา (Petra) จะไม่ได้รับความนิยมเท่าเมืองใหญ่ เช่น กรุงไคโร แต่การท่องเที่ยวเริ่มเปลี่ยนเศรษฐกิจและโครงสร้างทางสังคมของชาวเบดูอินที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง ปัจจุบันการท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศจอร์แดน ซึ่งโรงแรม, ร้านขายของที่ระลึก, ร้านอาหาร และบริการให้เช่าม้าล้วนอยู่ในรัศมีไม่กี่ไมล์ของเมืองเพตรา (Petra) แต่ในขณะที่เศรษฐกิจขยายตัว พื้นที่แห่งนี้ก็ถูกคุกคามจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ความชื้นจากฝูงชนจำนวนมากที่มาเยือนสร้างความเสียหายต่อหินทรายแห้ง พบเห็นจุดสีขาวบนผนังและเสาที่เกิดจากการสะสมของกรดสเตียริก จนส่งผลให้พื้นผิวของเอล คาซเนท์ (Al – Khazneh) นั้นลดลง 40 มิลลิเมตร ในระยะเวลาสิบปี เพราะการสัมผัส, พิง หรือถูบนผนังดังกล่าวรูปภาพที่ 1/ รูปภาพที่ 2/ รูปภาพที่ 3/ รูปภาพที่ 4