การทำบุญในฐานะชาวพุทธ เราคิดว่าเราเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว แต่ความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้นด้วยอิทธิพลความเชื่อกันเองของคนรอบข้างและสื่อ ทำให้การทำบุญของเราเป็นไปด้วยเข้าใจผิด บางอย่างก็เป็นบาปโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย ณัฐพบธรรม เจ้าของผลงานเขียนระดับ Best Seller จะมาให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องของการทำบุญใหญ่ที่ให้อานิสงค์มาก และควรหาโอกาสทำให้ได้สักครั้งในชีวิต ความรู้ความประทับใจในมุมมองของครีเอเตอร์ ได้เรียนรู้ว่าเนื่องจากในปัจจุบันมีการถวายผ้าไตรและเครื่องนุ่งห่มของพระตลอดเวลาอยู่แล้ว พระส่วนใหญ่จึงใส่จีวรที่ไม่เก่ามากนัก ความสำคัญของผ้าไตรในการทอดกฐินจึงลดลง ทำให้ผ้าไตรกลายเป็นเพียงอุปกรณ์ในการประกอบพิธี เพื่อให้เป็นบุญกฐินอย่างครบถ้วน คนส่วนใหญ่จึงให้ความสำคัญกับปัจจัย (เงิน) ซึ่งเป็นบริวารกฐินมากกว่าเนื่องจากสามารถนำไปทำประโยชน์อื่นได้ เช่น บางคนก็จะจัดทอดกฐินสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้เราได้บุญสองต่อ จากบุญกฐินและบุญสร้างโบสถ์วิหาร ได้เรียนรู้ว่ากฐินได้บุญมากกว่าสังฆทานทั่วไปการทำบุญกฐินถือได้ว่า เป็นการทำสังฆทานในตัว ซึ่งได้บุญมากกว่าการทำทานทั่วไปนับล้านเท่า แต่ด้วยเหตุที่การทำบุญกฐินเป็นบุญที่มีข้อจำกัดในการทำหลายอย่าง เช่น การที่แต่ละวัดรับกฐินได้ปีละครั้ง การจำกัดช่วงเวลาทำบุญกฐินได้เพียง ๑ เดือน และพระที่จะรับกฐินได้ก็ต้องจำพรรษาที่วัดนั้นตลอดช่วงเข้าพรรษาด้วย การทำบุญกฐินจึงเป็นบุญที่หาโอกาสทำได้ยากกว่า จึงได้บุญมากกว่าสังฆทานทั่วไป ได้เรียนรู้ว่าพระพุทธเจ้าตอบว่า ใครที่สร้างอารามให้คนได้ใช้ สร้างสวนให้คนได้กินผลไม้ ปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา สร้างสะพานให้คนได้เดินข้าม ให้บ้านเป็นที่พักอาศัย สร้างโรงน้ำให้คนได้ดื่มได้ใช้ ก็จะได้บุญทั้งกลางวันและกลางคืน (ได้บุญตลอดเวลา) สรุปว่า หากเราได้สร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ เช่น การสร้างศาลาริมทาง สร้างถนน หรืออะไรก็ตามที่จะมีคนเข้ามาใช้สอยตลอดเวลา เราก็จะได้บุญตลอดเวลา เพราะเราจะได้บุญทุกครั้งที่มีคนได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เราสร้าง (การบริจาคที่ดิน การสร้างโรงเรียนและสิ่งสาธารณประโยชน์ ล้วนแล้วแต่ได้บุญมากทั้งสิ้น) ได้เรียนรู้ว่าการทำบุญของคนที่ (ยัง) ไม่รวย แม้จะทำด้วยมูลค่าที่ไม่สูงมาก แต่เนื่องจากสิ่งเล็กน้อยนี้มีผลกระทบต่อชีวิตเขา จึงต้องอาศัยจิตใจที่มุ่งสละ (จาคะ) ค่อนข้างมาก เป็นเหตุให้เกิดจิตที่บริสุทธิ์มาก จึงได้บุญมาก แม้จะมีมูลค่าไม่สูงก็ตาม (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ ข้อ ๑๔๔๓-๑๔๕๒) และด้วยเหตุผลที่คนยากจนจำเป็นต้องสร้างบุญให้มากเพื่อให้มีฐานะที่ดีขึ้น เราจึงไม่ควรพยายามบอกผู้อื่นว่า ถ้ามีเงินไม่มากอย่าทำบุญเลย หรืออย่าทำให้มากเลย เพราะถ้าชีวิตของเขาย่ำแย่เพราะมีบุญไม่มากพอ เราก็คงรับผิดชอบไม่ไหว และเรายังได้บาปจากการขวางบุญอีกด้วย อย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สรรเสริญการทำบุญที่เบียดเบียนตนเอง (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ ข้อ ๑๔๘) ซึ่งความหมายของการเบียดเบียนตนเองนั้น หมายถึง การทำบุญแล้วผู้ทำมีความทุกข์ใจ ได้เรียนรู้ว่าฉะนั้นหากใครที่ทำบุญแล้วมีความทุกข์ใจ ไม่พอใจ แม้จะทำบุญเพียงเล็กน้อย ก็ถือว่าเบียดเบียนตนเอง ในทางตรงกันข้าม ใครก็ตามที่ทำบุญแล้วมีความสุขใจ ปลอดโปร่ง แม้จะเทกระเป๋าทำบุญ ก็ไม่ถือว่าเบียดเบียนตนเอง (เหมือนพระโพธิสัตว์ ที่เวลาจะสร้างบารมี หากมีเงินก็จะให้ทานแก่ทุกคน ทุกชนชั้น ให้โดยไม่เหลือ เหมือนดั่งหม้อที่คว่ำไว้ ที่จะไม่เหลือน้ำขังอยู่เลย - พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓/๒ ข้อ ๒) ได้เรียนรู้ว่าขอบเขตของการมีพระรัตนตรัยเป็นที่ยึดเหนี่ยว เมื่ออ้างอิงจากเนื้อหาในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ ข้อ ๑๕๓ ก็ได้ข้อสรุปของขอบเขตว่า การยึดพระพุทธเจ้าเป็นที่ยึดเหนี่ยวนั้นหมายถึง การมีความเลื่อมใสที่จะไม่มีวันสั่นคลอน ว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยไม่มีใครสั่งสอน เป็นผู้ปราศจากกิเลสทั้งปวง เป็นผู้รู้แจ้งในทุกสิ่ง (ไม่มีสิ่งใดที่พระองค์ไม่รู้) เป็นศาสดาของมนุษย์และเทวดาทั้งปวง (รวมถึงพรหมด้วย) ได้เรียนรู้ว่าเราทุกคนควรมีโสดาบันเป็นเป้าหมาย เพราะหากเรายังไม่บรรลุมรรคผล พฤติกรรมของเราที่สะสมในชาตินี้จะติดตัวเราในชาติต่อไปให้ใกล้โสดาบันขึ้นอีก (การบรรลุโสดาบันทำให้เรากลับมาเกิดไม่เกิน 7 ชาติจึงจะนิพพานและไม่ไปทุคติภูมิ ไม่แปรเปลี่ยนเป็นอื่น) ได้เรียนรู้ว่าผู้ที่จะบรรลุโสดาบันได้ในชาตินี้ต้องมีคุณสมบัติ 3 ข้อ 1.ภัยเวร 5 สงบลง (รักษาศีล 5 อย่างเคร่งครัด) 2.ประกอบด้วยธรรมเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ 4 อย่าง ความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าที่พระองค์รู้แจ้งในทุกสิ่ง, ในพระธรรมที่ผู้ปฏิบัติตามจะรู้ว่าดีจริง, ในพระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเนื้อนาบุญของโลก, ศีลที่พระอริยเจ้าปรารถนา ไม่ขาด ไม่ด่างพร้อย 3.มีญายธรรมอย่างประเสริฐ หมายถึง การเข้าใจถ่องแท้ว่า มีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นก็ทำให้เกิดอีกสิ่ง สิ่งหนึ่งดับไปก็ทำให้สิ่งหนึ่งดับตาม เช่นเดียวกับการไม่ต้องกลับมาเกิดของเราอีก สาเหตุเพราะความไม่รู้(อวิชชา) ทำให้เรามีตัณหา(ความอยาก) ซึ่งตัณหาคือต้นเหตุที่ทำให้เราต้องเวียนว่ายตายเกิด (พระไตรปิฎกเล่มที่ 18 ข้อ 154) ได้เรียนรู้ว่าพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 ข้อ 224 กล่าวว่า การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจากจาตุรทิศ โดยทั่วไปพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ รวมเรียกว่าพระรัตนตรัย สรณะ หมายถึง การยึดเอาเป็นที่พึ่ง ได้เรียนรู้ว่าในอรรถกถาเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุกนิบาต หน้า ๓๓๔ อรรถกถาสูตรที่ 5 ได้กล่าวเอาไว้ว่า ผู้ที่มีพระรัตนตรัยเป็นที่ยึดเหนี่ยวนั้นจะประกอบด้วยลักษณะ ๕ ประการดังนี้ (ต้องมีครบทุกข้อ) 1.เป็นผู้ที่มีความศรัทธาในพระรัตนตรัย หากมีใครเอามีดมาขู่ฆ่าแล้วให้พูดลบหลู่พระรัตนตรัย ก็จะยอมตายดีกว่าจะให้พูดแบบนั้น 2. เป็นผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์ที่เหมาะกับสถานะของตน (คนทำมาหากินจะไม่ผิดศีล ๕ เลย) 3.เป็นผู้ที่เชื่อกฎแห่งกรรม (ไม่เชื่อเรื่องมงคล ฤกษ์ยาม เครื่องรางของขลัง หรือสิ่งที่มีลักษณะใกล้เคียง) 4. ไม่แสวงหาการทำบุญนอกพระพุทธศาสนา 5. ทำบุญในพระพุทธศาสนา ได้เรียนรู้ว่าในทางปฏิบัติต่างๆหากเราสามารถบูชาพระบรมสารีริกธาตุหรือเจดีย์โดยมีจิตบูชาราวกับบูชาพระพุทธเจ้าได้จริงๆ ก็เป็นสิ่งที่ดีทำให้เราได้บุญราวกับทำบุญกับพระพุทธเจ้าจริงๆและ (แต่สำหรับตัวผมเองในหลายๆครั้ง เวลาที่บูชาก็มักจะมีข้อสงสัยเล็กๆ อยู่ในใจว่าเป็นของจริงหรือไม่ รวมถึงผมไม่สามารถทำจิตให้น้อมบูชาได้อย่างเต็มที่ จึงทำให้ไม่สามารถสัมผัสได้ถึงบุญมากมายที่เกิดขึ้นในใจ ได้เรียนรู้ว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า ส่วนสาวกของเราที่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของเราด้วยความไม่ประมาท ด้วยความเพียร ด้วยความเด็ดเดี่ยว ด้วยการรักษาศีลอุโบสถ บางคน 10 ปี บางคน 5 ปี บางคน 1 ปี บางคน 10 เดือน บางคน 10 วัน บางคน 1 วัน ด้วยผลบุญนั้นก็ทำให้เขาได้เสวยความสุขอย่างเดียวโดยไม่มีความทุกข์เลย ยาวนานนับพันปีก็มี หมื่นปีก็มี แสนปีก็มี ล้านปีก็มี (สุขจากการเสวยบุญบนสวรรค์) บางคนก็ได้บรรลุโสดาบัน บางคนก็บรรลุสกทาคามี บางคนก็บรรลุอนาคามี (อรหันต์ก็มี) และพระพุทธเจ้าได้ตรัสปิดท้ายว่า ท่านทั้งหลายทำแบบนี้จะไม่ได้ดีเสียแล้ว เพราะท่านทั้งหลายจะมีความทุกข์จากภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (เพราะไม่ได้ทำบุญนี้) และท่านทั้งหลายจะมีความทุกข์จากภัยที่จะเกิดขึ้นหลังความตาย (อาจจะได้ไปทุคติ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน) เพราะท่านทั้งหลายไม่ค่อยได้รักษาศีลอุโบสถ ได้เรียนรู้ว่าการเจริญเมตตาจิตแล้วได้บุญมากนั้น เราจะต้องเจริญภาวนาจนทำให้จิตใจของเรานิ่งจนได้สมาธิและได้ฌาน และภายในจิตใจไม่มีความรู้สึกโกรธแค้นหรืออยากทำร้ายใครแม้แต่นิดเดียว แล้วเราแผ่จิตที่มีเมตตาออกไปในทุกทิศทุกทางรอบตัวโดยไม่เฉพาะเจาะจงผู้รับในสภาวะแบบนั้น เป็นสภาพที่จิตใจของเราเป็นกุศลอย่างแรงกล้า เมื่อจิตเป็นกุศลเกิดขึ้นจึงถือได้ว่าเป็นการทำบุญทางจิตใจ เราจึงได้บุญจากการเจริญเมตตาจิต และเพียงแค่จิตใจของเราอยู่ในสภาพนั้นยาวนานเท่าเวลาเราดมของหอม (ประมาณ 2-3 วินาที) เราก็จะได้บุญมากกว่าการรักษาศีล 5 และการทำทานทุกประเภท (ไม่ได้หมายความว่า หากเราเอาบทแผ่เมตตามานั่งอ่านหรือสวดแล้วเราจะได้บุญมากกว่ารักษาศีล 5) ส่วนการเจริญอนิจจสัญญานั้น จะเป็นการเจริญภาวนาแบบเจริญสติ (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ ข้อ ๖๐) โดยเป็นการพิจารณาถึงความไม่เที่ยงของขันธ์ 5 (หมายถึง รูป (ร่างกายส่วนที่จับต้องได้) เวทนา (ความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ) สัญญา (ความทรงจำ) วิญญาณ (การรับรู้ ภาพ เสียง รส กลิ่น สัมผัส ความรู้สึก ที่มาจากช่องทางทั้ง 5) สังขาร (การปรุงแต่งอีก ๔ ขันธ์ให้เป็นไปตามกิเลสตัณหา) จาก พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ ข้อ ๑๕๘) ว่าขันธ์ 5 เกิดขึ้นมาแล้ว วันหนึ่งก็จะสลายไป เป็นสภาวะที่รับรู้ความเข้าใจนี้เข้าไปข้างในจิตใจ (ไม่ใช่แค่สมองรับรู้) สภาพจิตในขณะนั้นจะอยู่ในสภาพที่ไม่ยึดติดกับความมีตัวตนของสรรพสิ่ง (สรรพสิ่งไม่เที่ยงและไม่มีตัวตน) บุญใหญ่ที่เราตั้งข้อสังเกตไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ทำบุญเล็กๆเลย เพียงแต่ถ้าเราได้มีโอกาสทำบุญใหญ่ เราจะได้ไม่พลาดในอานิสงส์ที่เราจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตที่ดี มียศตำแหน่งสูง มีฐานะร่ำรวย ครอบครัวอบอุ่น รวมถึงการบรรลุโสดาบันจนไปถึงบรรลุนิพพานก็ล้วนต้องพึ่งบุญด้วยกันทั้งสิ้น เช่นนั้นแล้ว อย่าพลาดโอกาสอันดีที่จะนำพาชีวิตไปสู่ความสุขเลย เครดิตภาพ ภาพปก โดย wirestock จาก freepik.com ภาพที่ 1 และ 2 โดยผู้เขียน ภาพที่ 3 โดย starline จาก freepik.com ภาพที่ 4 โดย vecstock จาก freepik.com บทความอื่นๆที่น่าสนใจ รีวิวหนังสือ ปฏิบัติธรรมง่ายกว่าที่คิด รีวิวหนังสือ ทำดี 24 ชั่วโมง รีวิวหนังสือ HOW TO DIE ความตายออกแบบได้ รีวิวหนังสือ บันไดสู่นิพพาน รีวิวหนังสือ นี่หรือเมืองพุทธ เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !