รีเซต

คร.แจง 'โควิด' ต่างสายพันธุ์ ติดซ้ำได้ แต่คนละสายพันธุ์ย่อย ยังไม่ชัวร์

คร.แจง 'โควิด' ต่างสายพันธุ์ ติดซ้ำได้ แต่คนละสายพันธุ์ย่อย ยังไม่ชัวร์
ข่าวสด
28 มีนาคม 2565 ( 12:53 )
58

ข่าววันนี้ 28 มี.ค. 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการติดเชื้อ โควิด-19 ซ้ำ 2 ครั้ง ในระยะเวลา 1 เดือน ว่าสามารถติดเชื้อซ้ำได้กรณีต่างสายพันธุ์ เช่นหายจากสายพันธุ์เดลตา ก็ติดสายพันธุ์โอมิครอนซ้ำได้

 

ส่วนกรณีสายพันธุ์โอมิครอนเหมือนกัน แต่เป็นคนละสายพันธุ์ย่อย เช่น BA.1 กับ BA.2 ยังเป็นเรื่องใหม่ ต้องติดตามรายละเอียดข้อเท็จจริงอีกครั้ง ซึ่งตามหลักแล้วก็มีโอกาส แต่จะ 1 ในแสนหรือ 1 ในล้าน ต้องดูข้อมูลประกอบ รวมถึงดูระยะเวลาด้วย เนื่องจากเมื่อติดเชื้อแล้วจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อ ส่วนใหญ่จะไม่ติดซ้ำในระยะเวลาสั้น ๆ ยกเว้นคนที่มีปัญหาเรื่องการสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย

 

ขณะนี้ข้อมูลผู้ติดเชื้อซ้ำใน BA.1 และ BA.2 ระยะสั้น ๆ ยังมีน้อยมาก ดังนั้น ข้อมูลไม่มากพอที่จะบอกได้ว่ามีอาการรุนแรงมากขึ้นหรือไม่อย่างไร ต้องดูจากประวัติของผู้ติดเชื้อ เพื่อเก็บข้อมูลต่อ

 

"เชื้อโอมิครอนส่วนใหญ่อยู่ในทางเดินหายใจส่วนต้น เชื้อก็จะออกมาจากการ ไอ จาม พูด มากกว่าเดลตาที่ลงปอดได้เยอะกว่า จึงเป็นที่มาว่าโอมิครอนแพร่ได้เร็วและระยะฟักตัวสั้น รวมถึงหลายคนไม่มีอาการ ก็จะแพร่เชื้อได้เร็ว

 

แต่ส่วนใหญ่อาการน้อยโดยเฉพาะคนฉีดวัคซีนแล้ว อาการก็จะเพียงระคายคอ ไม่มีไข้ แต่สำหรับคนสูงอายุก็จะรุนแรงกว่า โดยเฉพาะคนไม่ฉีดวัคซีน จึงเชิญชวนกลุ่ม 608 มารับวัคซีน" นพ.โอภาส กล่าว

 

เมื่อถามว่าหลายคนคิดว่าหายแล้ว จะไม่ติดเชื้อซ้ำอีกทำให้ประมาท นพ.โอภาส กล่าวว่า คนที่มีประวัติติดเชื้อ โควิด-19 แล้ว ขอให้ระมัดระวังตนเองต่อไป สวมหน้ากาก ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองสูงสุด ความเสี่ยงคือการพบปะกับคนไม่ได้สวมหน้ากาก โดยเฉพาะการรับประทานอาหาร

 

ทั้งนี้ นโยบาย Self-clean up ด้วยการงดไปสถานที่เสี่ยงก่อนเดินทางกลับบ้านในช่วงสงกรานต์ รวมถึงการฉีดวัคซีนกระตุ้น โดยเฉพาะคนสูงอายุ

 

เมื่อถามว่าค่า CT จากการตรวจ RT-PCR มากหรือน้อย บ่งบอกอะไรได้บ้าง นพ.โอภาส กล่าวว่า ค่า CT จะขึ้นอยู่กับแล็บที่ตรวจเชื้อ RT-PCR ส่วนจะบอกว่าเป็นเชื้อที่มีชีวิตหรือซากเชื้อ จะต้องดูเรื่องอาการและข้อมูลผู้ป่วยประกอบด้วย แต่หากค่า CT สูง ๆ เช่น 35 ขึ้นไป แปลว่ามีเชื้อน้อย แต่ต้องดูอาการและประวัติ

 

ฉะนั้นการวินิจฉัยว่าติดเชื้อหรือไม่ ไม่ได้ดูเพียงผลแล็บอย่างเดียว เช่น คนมีประวัติติดเชื้อแล้วอีก 2 เดือนติดซ้ำอีก เราต้องดูประวัติ ค่า CT ว่าสูงหรือต่ำ หากค่าสูงมากร่วมกับไม่มีอาการอะไร ก็แปลความได้ว่าเป็นซากเชื้อ ทั้งนี้ การแปลความตรงนี้ต้องมีความระวัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง