หลายคนอาจจะเคยเห็นแส้ลักษณะนี้ ใช้ปัดยุงไล่แมลงวัน ปัจจุบันหาซื้อค่อนข้างยาก เป็นแส้ทำมาจากก้านดอกหรืองวงของต้นจาก คุณลุงรอด นิ่มตานี ข้าราชการเกษียณคนในชุมชนมอญบางกระดี่ คุยไปก็ตีแส้ให้ดูเป็นตัวอย่าง คุณลุงตีแส้ในยามว่างเพื่อเป็นการอนุรักษ์ เป็นการสาธิตแก่ครูและนักเรียนที่เข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน ก่อนอื่นต้องดูให้ออกว่าก้านดอกเป็นดอกคู่หรือดอกคี่เพื่อใช้ในการกะระยะว่าส่วนนี้จะเป็นด้ามและส่วนนี้จะตีฝอยออกมาเป็นแส้ การเลือกเป็นจะทำให้ได้แส้ออกมาสวยงามพอดี ส่วนกาบที่หุ้มอยู่ด้านนอกให้ลอกออกทิ้งไป เมื่อเลือกก้านดอกจากได้ตามที่ต้องการแล้ว จะนำไปแช่น้ำ เป็นการล้างและทำให้นิ่ม จากนั้นก็นำมาทุบตีเป็นฝอยจนถึงข้อ แล้วจะร้อยเชือกสำหรับแขวน เสร็จแล้วก็นำไปตากไว้ ที่มักจะเห็นว่าเป็นสีน้ำตาล เกิดมาจากการใช้ไปนานๆเป็นเดือน นานๆไปแส้จะเหนียวมีความนิ่มลื่นมากขึ้น แส้มีทนทานมาก ใช้ได้เป็นปี เนื่องจากชุมชนมอญบางกระดี่ยังมีป่าจากอยู่ การหาวัสดุที่มาทำแส้จึงไม่ยาก ตามปกติป่าจากจะขึ้นอยู่ตามริมแม่น้ำริมคลอง บริเวณดินโคลนน้ำกร่อยใกล้กับทะเล คุณลุงรอดเล่าให้ฟังว่าแส้แบบนี้ จะเรียกกันว่าไม้ปัดยุง ใช้ปัดโต๊ะปัดเตียงปัดฝุ่น สมัยก่อนปู่ย่าตายาย เวลาตอนเย็นก็คดข้าวใส่จานไปป้อนข้าวลูกหลาน เขาก็จะหนีบแส้ใส่จักแร้ไป ไล่แมลงวันบ้าง ตรงไหนมันรกก็กวาดให้โล่งให้ลูกหลานนั่งเล่น หรือถ้าเขาไปในทุ่งในสวน เขาก็จะเอาไปฟาดแมลงวันฟาดยุงเวลาไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ซึ่งคนอีสานเขาชอบมาก การทำแส้คุณลุงรอดบอกว่าได้เรียนมาจากคุณตาคนหนึ่งที่อายุเก้าสิบกว่า เป็นเพื่อนบ้านกัน เคยไปช่วยทำจนทำเป็น ไม่อยากให้สูญหายไป แรกๆยังเลือกงวงจากไม่เป็น ตัดมาก็ใช้ไม่ได้ ช่วงตีฝอยไม่ยาก คุณลุงยังได้เท้าความถึงความทรงจำกับป่าจากในช่วงที่ยังไม่มีถนนหนทางเข้ามาในชุมชนมอญบางกระดี่ เวลาจะออกไปข้างนอกจะมีเรือสองเที่ยว หกโมงเช้ากับหกโมงเย็น ถ้าไม่ไปเรือก็ต้องเดินไปขึ้นรถไฟที่วงเวียนใหญ่ ต้องออกไปตามทางเล็กๆด้านหนึ่งเป็นป่าจาก ต้องคอยระมัดระวังอันตรายจากเสือปลา ฝูงลิง ถ้าฝนตกก็ลื่นล้มหงายท้องกว่าจะไปถึงสถานีรถไฟได้ พอมีถนนหนทาง สภาพแวดล้อมก็เปลี่ยนแปลงไป วืถีชีวิตก็เปลี่ยนไปด้วย บางอย่างที่พอทำได้ก็อยากอนุรักษ์ไว้