“เราทุกคนควรใช้ชีวิตอย่างผู้มีปัญญา” แต่อาจจะยังสงสัยกันอยู่ว่าเราจะเกิดปัญญาจากอะไรได้บ้าง บทความนี้จึงจะมาอธิบายให้ทุกท่านได้เข้าใจถึงปัญญาและเราจะสามารถมีปัญญาได้อย่างไร ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าปัญญาในที่นี้หมายถึงทัศนคติที่จะทำให้เกิดความเข้าใจโลกตามความเป็นจริง รู้เหตุและผลของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ตัดสินด้วยอารมณ์ของตนเอง ตัวอย่างเช่น ผู้มีปัญญาจะเข้าใจว่าวิกฤติต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นสุดท้ายมันก็จะผ่านไป ในทางพุทธศาสนาปัญญาสามารถเกิดได้จาก 3 อย่างดังนี้สุตมยปัญญา (สุต-ตะ-มะ-ยะ-ปัญ-ญา) เป็นปัญญาที่เกิดจากการสดับฟัง จากการศึกษาเล่าเรียน หรืออาจจะมาจากการอ่านหนังสือก็ได้ เป็นชุดความรู้ที่เราได้รับมาจากผู้อื่นแล้วทบทวนจนเกิดความเข้าใจกับชุดข้อมูลนั้น ตัวอย่างเช่น การที่เราร่ำเรียนวิชาใดวิชาหนึ่ง แล้วท่องจำหรือทบทวนซ้ำ ๆ จนเข้าใจบทเรียนนั้นได้ จินตามยปัญญา (จิน-ตา-มะ-ยะ-ปัญ-ญา) เป็นปัญญาที่เกิดจากการคิดค้น การตรึกตรองด้วยตนเอง เป็นอีกขึ้นหนึ่งที่พัฒนามาจากสุตมยปัญญา คือเมื่อเราได้ฟัง ได้ศึกษามา เราก็อาจจะมีความเข้าใจในระดับหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปแล้วเรานำข้อมูลไปขบคิดไตร่ตรองหาเหตุและผลต่อด้วยตนเอง ชุดความรู้นี้จะตกตะกอนเกิดเป็นความเข้าใจที่มากขึ้น ตัวอย่างเช่น การที่เราคิดได้เองว่าการทำร้ายร่างกายกันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกไม่ควรภาวนามยปัญญา (ภา-วะ-นา--มะ-ยะ-ปัญ-ญา) เป็นปัญญาที่เกิดจากการผ่านประสบการณ์นั้นด้วยตัวเอง เป็นความเข้าใจในระดับสูงสุดเพราะบางทีที่เราได้ฟังมาก็อาจจะเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง การคิดตามก็อาจจะทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น แต่หากประสบพบเจอกับตนเองโดยตรงจะมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ดังคำพูดที่ว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” ตัวอย่างเช่น เราอาจจะเคยได้ยินมาว่ารสชาติของช็อกโกแลตมันขม ๆ หวาน ๆ ถึงแม้ว่าเราจินตนาการถึงรสชาติของมันได้แต่เราก็ไม่อาจจะรู้รสชาติของมันจริง ๆ จนกว่าจะได้ชิมด้วยตนเอง แม้ว่าภาวนามยปัญญาจะเป็นปัญญาขั้นสูงสุดก็ตาม แต่ว่าเรื่องบางเรื่องก็ไม่จำเป็นที่จะต้องประสบพบเจอกับตนเองถึงจะเกิดเป็นปัญญา อาจจะสิ้นสุดแค่จินตามยปัญญาก็เพียงพอแล้วตัวอย่างเช่น เราเคยได้ยินได้ฟังมาว่าไฟนั้นมีความร้อน เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเอามือของเราเข้าไปลนไฟให้มันรู้สึกร้อนถึงจะเกิดปัญญาขึ้นมา สิ่งที่ทำให้ผมเข้าใจเรื่องปัญญาทั้ง 3 อย่างนี้มากขึ้นเกิดจากประสบการณ์ที่ผมเคยได้พบเจอมาก่อนก็คือว่า ผมเคยได้อ่านและได้ฟังมาเสมอว่าความทุกข์ที่มันเกิดขึ้นกับเรามันจะไม่คงทนถาวร มันเกิดขึ้นและดับไปเสมอ แต่ถึงแม้จะรู้และลองจินตนาการเท่าไรก็ไม่อาจเข้าใจได้ จนเมื่อไม่นานมานี้ผมนั่งสมาธิแล้วเกิดความเบื่อขึ้นมา แต่ผมพยายามอยากจะเข้าใจมันจึงนั่งต่อไปและเฝ้าสังเกตุอาการของความเบื่อ จนผมเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นและดับไปจริง ๆ เหมือนเวลาที่เราปวดปัสสาวะ มันจะมาเป็นระลอก ๆ ไม่ได้คงอยู่ตลอดเวลา ผมจึงเข้าใจในระดับหนึ่งว่าความทุกข์กับอารมณ์มันเป็นเช่นนี้เอง หวังว่าบทความนี้จะให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ทุก ๆ ท่านนะครับ ขอให้ทุกท่านใช้ชีวิตโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของปัญญา แล้วเราจะเข้าใจตนเองและเข้าใจโลกมากขึ้นขอบคุณภาพประกอบจาก pexels ภาพปก/ขอบคุณภาพประกอบจาก pixabay ภาพที่1/ภาพที่2/ภาพที่3/ภาพที่4/ภาพที่5/ภาพที่6/