รีเซต

นักวิจัยไทย คว้ารางวัลจากเกาหลีใต้ พัฒนาสมุนไพรป้องกันโควิด เดินหน้าวิจัย 'กัญชา' ต่อ

นักวิจัยไทย คว้ารางวัลจากเกาหลีใต้ พัฒนาสมุนไพรป้องกันโควิด เดินหน้าวิจัย 'กัญชา' ต่อ
มติชน
18 มีนาคม 2564 ( 18:21 )
1.2K
1
นักวิจัยไทย คว้ารางวัลจากเกาหลีใต้ พัฒนาสมุนไพรป้องกันโควิด เดินหน้าวิจัย 'กัญชา' ต่อ

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ผศ.ดร.ภญ.รัตติรส คนการณ์ หรือ ดร.ออย นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชศาสตร์, สมุนไพร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่ปรึกษาวุฒิอาสาธนาคารสมอง จ.เชียงราย นางกัญญาภัค สุนทรเดชาวัฒน์ วุฒิอาสาฯ พร้อมคณะ ได้เข้าพบนายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เพื่อรายงานถึงผลการประกวดผลิตภัณฑ์ จากสมาคมนักประดิษฐ์หญิงที่สนับสนุนโดยสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2563

 

พบว่าผลงานชื่อ “การเพิ่มการละลายน้ำและการดูดซึมของสมุนไพร สำหรับการป้องกันโควิด-19” ที่ ผศ.ดร.ภญ.รัตติรส ทำการวิจัยและพัฒนา สามารถคว้ารางวัลเหรียญทองแดงได้สำเร็จ โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นการนำส่งสารสกัดสมุนไพรไทยหลายชนิดที่ใช้ในการป้องกันและยับยั้งไวรัสโควิด-19 อย่างได้ผล ซึ่งสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับการวิจัยและสมุนไพรไทยต่อนานาชาติได้เป็นอันมาก เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์จากนานาชาติส่งเข้าประกวดกว่า 300 รายการ

 

ปัจจุบัน ผศ.ดร.ภญ.รัตติรส และคณะกำลังร่วมกับวุฒิอาสาธนาคารสมอง จ.เชียงราย แสวงหาความร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจชุมชุนใน จ.เชียงราย เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชกัญชง-กัญชา เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบร่วมกับเทคโนโลยีนาโนในการสกัดสารจากพืชกัญชง-กัญชา เพื่อให้เกิดประโยชน์ ประสิทธิภาพสูงสุด และคาดว่าจะนำส่งประกวดในเวทีนานาชาติในเร็วๆ นี้

 

 

ซึ่งนายวรวิทย์ได้ชื่นชมในผลงานและมีความยินดีที่คณะนักวิจัยจะเข้ามาทำงานใน จ.เชียงราย จึงได้เชิญให้เป็นที่ปรึกษากรรมการพัฒนาเมืองสมุนไพร จ.เชียงราย ต่อไปด้วย

ผศ.ดร.ภญ.รัตติรส กล่าวว่า ผลงานดังกล่าวเกิดจากการศึกษาสมุนไพรไทย ประกอบด้วย กระชายขาว ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน พลูคาว และมะขามป้อม แล้วพบว่ามีฤทธิ์ในการต่อต้านไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี จึงได้นำสารสกัดมาห่อหุ้มด้วยอนุภาคขนาดนาโน ส่งผลให้สารสมุนไพรที่ได้สามารถละลายและดูดซึมได้มากและมีประสิทธิภาพสูงกว่าการใช้ทั่วไป และเมื่อนำมาใช้จริง โดยรับประทานหลังอาหารเช้าวันละ 2 แคปซูล ก็พบมีคุณสมบัติมากขึ้นถึง 3 ประการคือ 1.ต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 2.เพิ่มภูมิคุ้มกัน และ 3.ต้านการอักเสบ

 

ทางด้าน นางกัญญาภัค กล่าวว่า จากการนำไปทดลองในตัวอย่างจำนวน 3,000 ราย พบว่าได้ผลเป็นอย่างดีในแง่ของการไม่ติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะกรณีตัวอย่างครอบครัวชาว จ.สมุทรสาคร รายหนึ่งที่มีสมาชิก 5-6 คน ได้รับไปบริโภคเป็นประจำทุกวัน ปรากฏว่าทุกคนในครอบครัวไม่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เลยแต่เพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่รายรอบติดเชื้อกันเกือบทั้งหมด ปัจจุบันจึงมีการจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ “โคซิงจิ” ซึ่งเป็นชื่อตามประวัติที่เคยไปประกวดผลงานที่ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อให้เป็นแคปซูลขนาดบรรจุภัณฑ์ละ 30 แคปซูล เพื่อให้เข้าถึงประชาชนแล้ว

 

 

รายงานข่าวระบุเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ผศ.ดร.ภญ.รัตติรส ยังได้ทำการวิจัยในพืชกัญชามาได้นาน 6 เดือน โดยสามารถนำนาโนเทคโนโลยีในการกักเก็บสารจากกัญชาทำให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับยาเม็ด แคปซูล เครื่องสำอาง อาหาร ฯลฯ ได้อย่างหลากหลาย โดยอยู่ระหว่างพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์

 

เบื้องต้นจะส่งเสริมด้านการใช้เป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เพราะมีฤทธิ์ในการชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนัง ต้านการอักเสบ ฯลฯ ปัจจุบันได้ประสานกับรัฐวิสาหกิจชุมชุนใน จ.เชียงราย มีกว่า 200 กลุ่ม ให้สนใจทำการปลูกพืชกัญชง-กัญชา เพื่อนำผลงานวิจัยดังกล่าวมาใช้ในการจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งทาง ผศ.ดร.ภญ.รัตติรส และคณะระบุว่า จะส่งผลดีต่อทั้งระดับต้นน้ำจากเกษตรกร และปลายน้ำคือผู้ใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดีต่อไป

 

สำหรับ ผศ.ดร.ภญ.รัตติรส เคยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในการนำผลงานเข้าประกวดในระดับนานาชาติหลายครั้ง เช่น นำผลิตภัณฑ์ขมิ้นชันที่ละลายได้มากถึง 40,000 เท่า ถือว่ามากที่สุดในโลก จึงสามารถดูดซึมได้ดี จนทำให้ได้รับรางวัลเหรียญทองในงานนิทรรศการความคิดเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรมของทวีปยุโรป ในปี 2020 ที่ประเทศโรมาเนีย ได้รับ 3 เหรียญรางวัล จากการประกวดนวัตกรรมสำหรับนักประดิษฐ์ในระดับสากลครั้งที่ 5 ปี 2020 ที่ประเทศแคนาดา เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง