รีเซต

โควิด-19 : ผู้ร่วมพัฒนาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เตือนว่าการฉีดวัคซีนให้กับทุกคนบนโลก ไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืนหรือมีงบประมาณจ่ายได้

โควิด-19 : ผู้ร่วมพัฒนาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เตือนว่าการฉีดวัคซีนให้กับทุกคนบนโลก ไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืนหรือมีงบประมาณจ่ายได้
ข่าวสด
5 มกราคม 2565 ( 01:07 )
71
โควิด-19 : ผู้ร่วมพัฒนาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เตือนว่าการฉีดวัคซีนให้กับทุกคนบนโลก ไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืนหรือมีงบประมาณจ่ายได้

นักวิทยาศาสตร์สหราชอาณาจักรเตือนว่าการฉีดวัคซีนโรคโควิดให้กับทุกคนบนโลก ไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืนหรือมีงบประมาณจ่ายได้

 

ศ.เซอร์ แอนดริว พอลลาร์ด ผู้ที่ร่วมพัฒนาวัคซีนโควิดของอ็อกซฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนกา ระบุว่าควรแยกแยะผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดและให้ความสำคัญในการฉีดวัคซีนให้คนกลุ่มดังกล่าว เขากล่าวด้วยว่าการฉีดวัคซีนในสหราชอาณาจักรนั้น "เป็นไปอย่างดีเยี่ยม" แต่ในส่วนอื่น ๆ ของโลกยังทำได้ไม่ดี

 

นับถึงปัจจุบันคนวัยผู้ใหญ่ในสหราชอาณาจักรที่สมควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นล้วนได้รับแจ้งให้ไปฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 แล้ว

ศ.พอลลาร์ด ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการร่วมว่าด้วยเรื่องวัคซีนและภูมิคุ้มกัน (เจซีวีไอ) ซึ่งเป็นผู้ให้คำปรึกษารัฐบาลสหราชอาณาจักรในเรื่องวัคซีน บอกกับรายการทูเดย์ ของสถานีวิทยุเรดิโอ 4 ว่า "การฉีดวัคซีนให้ทุกคนบนโลกทุก ๆ 4 ถึง 6 เดือนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีงบประมาณพอจะทำได้ ไม่ยั่งยืน หรือบางทีอาจจะไม่จำเป็นเสียด้วยซ้ำ" เขากล่าวด้วยว่ายังมีคนในแอฟริกาที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้เพียงเข็มเดียว และ "เราจะไม่ไปถึงจุดที่ว่าการฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ให้ทุกคน เป็นสิ่งที่สามารถจัดการได้อีกต่อไป"

 

ผู้ร่วมพัฒนาวัคซีนโควิดของอ็อกซฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนกา กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ "ยังไม่มีความแน่นอนเต็มที่" ว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอีกหนึ่งเข็มเป็นสิ่งจำเป็นในสหราชอาณาจักร โดยเขาเห็นว่าสหราชอาณาจักรจะอยู่ในสถานะที่ดีหากเชื้อกลายพันธุ์ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการไม่หนัก อย่างที่เห็นในกรณีของเชื้อโอมิครอน

 

"เราอาจจำเป็นต้องให้วัคซีนเข็มกระตุ้นแก่ประชากรในกลุ่มที่เปราะบาง แต่ผมคิดว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะฉีดวัคซีนให้คนอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปทุกคน เป็นประจำ" แต่คนที่จะได้รับวัคซีนเพิ่มอีกน่าจะเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้ที่อาการป่วยอื่น ๆ

 

"จะมีเชื้อกลายพันธุ์ตามมาอีกหลังจากโอมิครอน…และเรายังไม่รู้ว่าเชื้อนั้นจะมีพฤติกรรมอย่างไร ซึ่งนั่นอาจจะเปลี่ยนแปลงมุมมองไปอย่างสิ้นเชิงว่าอะไรคือสิ่งที่สมควรทำ"

 

สหรัฐพบผู้ติดเชื้อโควิดวันละ 1 ล้านราย

ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ รายงานว่า เมื่อวันจันทร์ (4 ม.ค.) พบผู้ติดเชื้อโรคโควิดในสหรัฐฯ จำนวน 1,080,211 ราย นับเป็นสถิติการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันสูงที่สุดในโลก โดยเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนเป็นเชื้อที่ระบาดเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐฯ แล้ว

 

ดร.แอนโทนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ เตือนว่าสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นในลักษณะที่เกือบจะเป็นแนวดิ่ง และจะแตะระดับสูงสุดในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เขาหวังว่ารูปการณ์ในสหรัฐฯ จะเป็นไปในทำนองเดียวกับแอฟริกาใต้ที่ยอดผู้ติดเชื้อจะค่อย ๆ ลดลง หลังพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุด

 

อย่างไรก็ดี ยอดผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและจำนวนผู้เสียชีวิตมีน้อยกว่าเมื่อครั้งที่ยอดผู้ติดเชื้อเคยพุ่งขึ้นสูงสุดในช่วงก่อนหน้านี้

 

ลอนดอนอาจถึงจุดสูงสุดแล้ว

ศ.นีล เฟอร์กูสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ จากอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน เปิดเผยว่า เขา "คาดหวังในทางดีอย่างระมัดระวัง" ว่าอัตราการติดเชื้อโควิดในหมู่ผู้มีอายุ 18-50 ปี ในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อโอมิครอน ได้ขึ้นไปถึงระดับสูงสุดแล้ว แต่ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะชี้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มขยับลงแล้ว

 

ศ.เฟอร์กูสัน เตือนว่า การแพร่เชื้อเป็นไปอย่างรวดเร็วในคนกลุ่มอายุดังกล่าว "ดังนั้นเราอาจจะได้เห็นรูปแบบของการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่แตกต่างออกไป แต่โดยรวมทั่วประเทศแล้วยังจะมีคนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น และจะอยู่ในระดับที่สูงต่อไปอีกหลายสัปดาห์"

 

เขากล่าวด้วยว่ายอดผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงกว่า 100,000 คน มาเป็นเวลาเกือบสองสัปดาห์นั้น ไม่ได้เป็นข้อมูลที่บ่งบอกอะไรได้มากนัก เพราะในบางภูมิภาคยังขาดแคลนชุดตรวจโควิดอยู่ ซึ่งเขาเชื่อว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริงน่าจะมีมากกว่านั้น และยังไม่รวมถึงผู้ติดเชื้อซ้ำ ซึ่งราว 10-15% ของผู้ที่ติดเชื้อโอมิครอนเป็นผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดมาแล้ว

 

อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของโรคที่เป็นไปอย่างรวดเร็วมาก จะไม่คงอยู่เช่นนั้นตลอดไป ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์หลายคนจึงหวังว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะขยับลดลงในสัปดาห์หน้าไปจนถึงอีกสามสัปดาห์

..............

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง