รีเซต

5กรณี พบ 'ทันตแพทย์' ทันที! 'ฟันแตก-เหงือกบวม-เลือดออกในปาก-รักษาเฉพาะทาง-อุบัติเหตุ'

5กรณี พบ 'ทันตแพทย์' ทันที! 'ฟันแตก-เหงือกบวม-เลือดออกในปาก-รักษาเฉพาะทาง-อุบัติเหตุ'
มติชน
14 พฤษภาคม 2563 ( 15:33 )
1.5K
5กรณี พบ 'ทันตแพทย์' ทันที! 'ฟันแตก-เหงือกบวม-เลือดออกในปาก-รักษาเฉพาะทาง-อุบัติเหตุ'

5กรณี พบ ‘ทันตแพทย์’ ทันที! ‘ฟันแตก-เหงือกบวม-เลือดออกในปาก-รักษาเฉพาะทาง-อุบัติเหตุ’ 

ทำฟัน- เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงถึงการเตรียมพร้อมคลินิกทันตกรรมบริการประชาชนช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19 ว่า หากเป็นภาวะฉุกเฉินงานบริการทันตกรรมยังให้บริการอยู่ โดยใช้ระบบการนัดหมายผ่านแอพพลิเคชั่นของสถานพยาบาล หรือนัดหมายทางโทรศัพท์ ซึ่งอาการฉุกเฉินเร่งด่วน คือ 1.เหงือกหรือฟันปวดบวม รับประทานยาแก้ปวดยาฆ่าเชื้อหากไม่หาย 2-3 วันให้ไปโรงพยาบาล (รพ.) ซึ่งหลายแห่งมีวิดีโอคอลสอบถามได้ 2.เครื่องมือจัดฟัน ฟันเทียมแตกหักทิ่มแทงเนื้อเยื่อ ครอบฟันชำรุด 3.เลือดออกภายในช่องปาก 4.อุบัติเหตุปวดบวมบริเวณใบหน้าและขากรรไกร 5.กรณีการรักษาเฉพาะทางที่มีการดูแลร่วมกันระหว่างแพทย์และทันแพทย์ เช่น ป่วยโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ซึ่งต้องรักษาฟันก่อน เป็นต้น

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีไม่เร่งด่วน คือ 1.มีการรักษาต่อเนื่องที่ค้างอยู่ เช่น รักษาคลองรากฟัน ฟันผุลึกที่อุดชั่วคราวอยู่ ให้โทรนัดหมายมาใช้บริการได้ 2.การขูดหินปูน อุดฟันสวยงาม จัดฟันใหม่ ตรวจสุขภาพฟันให้เลื่อนไปก่อน 3.กรณีอื่นๆ หากไม่แน่ใจอาการให้โทรสอบถามสถานพยาบาลที่รักษาต่อเนื่อง

“ทั้งนี้ บริการทันตกรรมเปิดเกือบปกติแล้ว ประชาชนต้องคัดกรองตัวเอง เมื่อมาถึง รพ.จะคัดกรองอีกครั้ง ก่อนส่งเข้าห้องทันตกรรม และดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยในห้องทันตกรรม การทำความสะอาดช่องปาง ทำความสะอาดใบหน้า สวมเฟซชิลด์ บ้วนปากก่อนทำฟัน เป็นต้น ขณะที่สถานพยาบาลจะมีการจัดโซนนิ่งนั่งคอย แยกจากจุดทำฟัน ระบบการถ่ายเทอากาศมีการดูแลอย่างดี มีการเว้นเก้าอี้ห่าง 1 เว้น 1 อย่างไรก็ตาม เพื่อลดจำนวนคนมา รพ.จึงขอความร่วมมือจากประชาชนที่มารับบริการ ขอให้มาคนเดียว หากจำเป็น เช่น ผู้สูงอายุ หรือเด็ก อาจจะมีคนร่วมเดินทาง 1 คน ขณะนี้ สธ.จะจัดบริการให้ครอบคลุมทั่วถึงพอเพียง บนพื้นฐานความปลอดภัยของประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว

 

ด้าน ทพญ.วรางคนา เวชวิธี รองผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กล่าวว่า โรคในช่องปากเป็นเรื่องที่ป้องกัน ชะลอการลุกลามได้ ทั้งนี้ ในสถานการณ์ปกติควรไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่สถานการณ์นี้ขอให้ดูแลตัวเองก่อน หากจำเป็นก็ค่อยไปพบทันตแพทย์ ดังนั้นสถานการณ์เช่นนี้จึงแนะนำการดูแลสุขภาพช่องปากพื้นฐาน คือแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ เพื่อป้องกันฟันผุ หลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง ไม่ควรรับประทานอาหารหรือน้ำหวาน เพื่อลดจุลินทรีย์ในช่องปาก นอกจากนี้ เชื้อโควิด-19 ยังชอบความเย็น ความชื้น ดังนั้นการเก็บแปรงสีฟันซึ่งมีความชื้นนั้นให้เอาด้ามลง อย่าเก็บในแก้วเดียวกัน คือ ต้องเว้นระยะห่างระหว่างแปรงสีฟัน เหมือนการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล แยกหลอดยาสีฟันของคนในบ้าน เป็นต้น

“โรคในช่องปากที่ยังไม่มีอาการ เช่น ขูดหินฟูน ฟันบิ่นเล็กน้อย ฟอกสีฟัน แก้ปัญหาความห่างของช่องฟันอยากให้งดเว้นการรับบริการไปก่อน แต่หากมีปัญหา จำเป็นต้องไปพบทันแพทย์ควรใช้ระบบการนัดหมายเพื่อลดความแออัดในสถานบริการ นัดแล้วแปรงฟันก่อนออกจากบ้านเพื่อลดเชื้อโรคในช่องปาก เมื่อถึงสถานพยาบาลให้บอกข้อมูลตามจริง ทั้งนี้ ขอให้สวมหน้ากากตลอดเวลาที่อยู่ในสถานบริการจนกว่าจะถึงช่วงเวลาทำฟัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของต่างๆ เมื่อทำฟันเสร็จแล้วให้สวมหน้ากากเมื่อออกไปที่ชุมชน” ทพญ.วรางคนา กล่าว

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง