รีเซต

โควิด-19 : สหรัฐฯรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ได้ดีแค่ไหน หลังมียอดผู้เสียชีวิตเกินแสนคน

โควิด-19 : สหรัฐฯรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ได้ดีแค่ไหน หลังมียอดผู้เสียชีวิตเกินแสนคน
บีบีซี ไทย
29 พฤษภาคม 2563 ( 09:36 )
164
โควิด-19 : สหรัฐฯรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ได้ดีแค่ไหน หลังมียอดผู้เสียชีวิตเกินแสนคน

BBC

ประนาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยประกาศว่า "ทุกอย่างอยู่ในการควบคุม" แต่มาวันนี้ ชาวอเมริกันเสียชีวิตจากโควิด-19 ทะลุ 1 แสนคนแล้ว ทำไมมหาอำนาจโลกจึงยังอยู่ในภาวะวิกฤต สวนทางกับหลายประเทศที่สถานการณ์ระบาดเริ่มเบาบาง

 

สองวันหลังมีรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่คนแรกในสหรัฐฯ นายทรัมป์กล่าวว่า "ทุกอย่างอยู่ในการควบคุม" พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนว่า "ทุกอย่างจะเป็นปกติ"

 

สี่เดือนให้หลัง ไวรัสมฤตยูแพร่กระจายไปทั่ว 50 รัฐ ยอดผู้เสียชีวิตทะลุ 1 แสนคน และมีผู้ติดเชื้อที่ยืนยันแล้วกว่า 1 ล้าน 6 แสนคน

บีบีซีเปรียบเทียบสถิติในสหรัฐฯกับของประเทศอื่นทั่วโลก วิเคราะห์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

BBC

เทียบกับชาติอื่นแล้ว สถานการณ์ในสหรัฐฯเป็นอย่างไร

 

Reuters
ระหว่างการแถลงข่าวช่วง เม.ย. นายทรัมป์กลับอ้างอิงถึง 'อัตราการเสียชีวิต' ต่อจำนวนประชากร

ยอดผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯ พุ่งสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างก้าวกระโดด

ประธานาธิบดีทรัมป์ เคยประเมินว่า จะมีผู้เสียชีวิตจากไวรัสราว "5 ถึง 6 หมื่นคน" แต่เมื่อเข้าเดือน พ.ค. เขาหวังว่ายอดผู้เสียชีวิตจะต่ำกว่า 1 แสนคน และวันนี้ ยอดทะลุเพดานหลักแสน ด้วยอัตราผู้เสียชีวิตเฉลี่ยกว่า 1 พันรายต่อวัน

 

แต่นายทรัมป์กลับอ้างอิงถึง 'อัตราการเสียชีวิต' ต่อจำนวนประชากร หรือ mortality rate มากกว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจริง เพื่อพยายามสื่อว่าสหรัฐฯ รับมือกับโควิด-19 ได้ดีกว่าประเทศอื่น

 

ตารางข้างใต้นี้ แสดงรายชื่อประเทศที่มียอดผู้เสียชีวิตมากที่สุด ส่วนตัวเลขด้านขวามือ แสดงถึง 'อัตราการเสียชีวิต' ซึ่งจะสังเกตได้ว่า หลายประเทศมีอัตราการเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาต่อประชากร 1 แสนคน สูงกว่าสหรัฐฯ

BBC
กราฟซ้ายแสดงประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตรวมมากที่สุด 10 อันดับ ข้างขวาแสดงสัดส่วนผู้เสียชีวิตต่อประชากร 100,000 คน

เบลเยียม มีประชากร 11.5 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 82 คน ต่อประชากร 1 แสนคนในช่วงการแพร่ระบาด ขณะที่ สหรัฐฯ ซึ่งมีประชากร 330 ล้าน มีผู้เสียชีวิตเกือบ 30 คน ต่อประชากร 1 แสนคน

 

แต่หากจำกัดวงแคบลงมา ยกตัวอย่างที่นิวยอร์ก ซึ่งเป็นรัฐที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด อัตราการเสียชีวิตสูงเกือบ 150 คน ต่อประชากร 1 แสนคน แสดงให้เห็นว่า อัตราดังกล่าว ผันแปรได้ในแต่ละพื้นที่

 

หนึ่งในปัญหาของการเปรียบเทียบสถานการณ์ในแต่ละประเทศ คือ หลายประเทศรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตด้วยวิธีที่ต่างกัน ยกตัวอย่าง เบลเยียม รวมผู้เสียชีวิตที่ "ต้องสงสัย" ว่าอาจมาจากโควิด-19 ด้วย แม้ว่าจะยังไม่สามารถยืนยันผลการตรวจได้ก็ตาม และมีเพียงบางรัฐในสหรัฐฯ ที่รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตด้วยวิธีเดียวกัน แต่ไม่ใช่ทุกรัฐ

 

นอกจากนี้ ยังเกิดคำถามถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูลจากรัฐบาลในบางประเทศด้วย อาทิ ผู้สังเกตการณ์หลายคนชี้ว่า รัฐบาลจีนรายงานถึงสถานการณ์แพร่ระบาด "รุนแรงน้อยกว่าความเป็นจริง"

 

อีกปัญหาหนึ่ง คือ สถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศ อยู่ใน "ระยะการแพร่ระบาด ที่ต่างกัน ยกตัวอย่าง ชาติยุโรปหลายแห่งมีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ลดลงมาก จนกล่าวได้ว่าพ้นจุดเลวร้ายสุดไปแล้ว แต่สถานการณ์ในสหรัฐฯ กลับยังน่าเป็นห่วง

 

BBC

นิวยอร์กผ่านจุดเลวร้ายที่สุดแล้ว แต่ทั้งประเทศเล่า ?

หลายประเทศในยุโรปเกิดการแพร่ระบาดในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับสหรัฐฯ และตัวเลขผู้เสียชีวิตขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ก่อนแตะจุดสูงสุด และไต่ระดับลง แต่สหรัฐฯ กราฟผู้เสียชีวิตยังทะยานขึ้น

 

เหตุผลที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตรายวันในสหรัฐฯ ยังเติบโตอยู่ เพราะเป็นประเทศใหญ่ การระบาดไม่ได้เกิดขึ้นในจุดเดียวรุนแรง แต่แพร่กระจายไปตามจุดต่าง ๆ ของประเทศ ในเวลาที่ต่างกัน และแพร่ขยายไปยังรัฐอื่น ในอัตราที่ไม่เท่ากัน

 

ที่นิวยอร์กนั้น ไวรัสแพร่ระบาดรุนแรงในช่วงต้น ก่อนจะพุ่งถึงจุดสูงสุดช่วงต้นเดือน เม.ย. แต่พื้นที่อื่น ๆ ในสหรัฐฯ ตัวเลขผู้เสียชีวิตรายวันปรับลดในอัตราที่ช้ากว่า

 

BBC
ที่รัฐนิวยอร์กนั้น ไวรัสแพร่ระบาดรุนแรงในช่วงต้น ก่อนจะพุ่งถึงจุดสูงสุดช่วงต้นเดือน เม.ย. แต่พื้นที่อื่น ๆ ในสหรัฐฯ ตัวเลขผู้เสียชีวิตรายวันปรับลดในอัตราที่ช้ากว่า

รัฐอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบหนักในช่วงแรกเริ่ม อาทิ ลุยเซียนา และมิชิแกน มีตัวเลขผู้เสียชีวิตรายวันที่ลดลงอย่างรวดเร็ว คล้ายกับที่นิวยอร์ก

 

ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์ในรัฐเหล่านี้ดีขึ้น แต่รัฐอื่นกลับแย่ลง โดยกว่า 1 ใน 3 ของทุกรัฐ พบผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า โดยเฉพาะ รัฐโรดไอแลนด์ มิสซิสซิปปี และโอไฮโอ มีอัตราการเพิ่มของผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่สูงที่สุด

BBC

สหรัฐฯ คือ ผู้นำด้านการตรวจหาเชื้อ ในชั่วขณะนี้

 

EPA

หลายสัปดาห์มานี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ชอบอ้างถึงสถิติการตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ อยู่บ่อยครั้ง ข้อมูลล่าสุดพบว่า สหรัฐฯ ตรวจหาเชื้อแล้วกว่า 15 ล้านครั้ง

ตัวเลขนี้ทำให้สหรัฐฯ แซงหน้าชาติอื่น ๆ ในด้านตัวเลขการตรวจ แต่การตรวจหาเชื้อที่มาก ไม่ได้หมายความว่า จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี

 

ประเทศที่ดำเนินการตรวจหาผู้ติดเชื้อในช่วงแรกเริ่มของการแพร่ระบาด ตามต่อด้วยมาตรการติดตามหาผู้ที่ใกล้กับผู้ที่ติดเชื้อ ล้วนเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการชะลอการแพร่ระบาด

 

ตัวอย่าง เช่น เกาหลีใต้ รัฐบาลเพิ่มปริมาณการตรวจตั้งแต่เริ่มมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายแรก ๆ จนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้ มีผู้เสียชีวิตไม่ถึง 300 คน จากประชากรทั้งประเทศราว 50 ล้านคน

 

BBC
กราฟแสดงสถิติจำนวนคนที่ได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสต่อจำนวนประชากร 1 แสนคน นับจากวันที่มีรายงานการเสียชีวิตรายแรก เปรียบเทียบอิตาลี สหรัฐฯ และ เกาหลีใต้

อย่างไรก็ดี จากตารางด้านบนนี้ จะเห็นว่า ผ่านไปหลายสัปดาห์แล้วหลังมีรายงานผู้เสียชีวิตรายแรก สหรัฐฯ จึงเริ่มเพิ่มปริมาณการตรวจหาผู้ติดเชื้อ

ดร. แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ ยอมรับในช่วงต้น มี.ค. ว่า ระบบการตรวจหาเชื้อของสหรัฐฯ "กำลังล้มเหลว" และสหรัฐฯ ไม่สามารถให้บริการตรวจได้ "เหมือนกับที่ประเทศอื่นกำลังทำอยู่"

 

ทั้งนี้ ปริมาณการตรวจรายวันในปัจจุบัน ชี้ว่า สหรัฐฯ ก้าวผ่านปัญหาเรื่องการตรวจหาเชื้อในช่วงแรกมาแล้ว แต่ยังต้องเพิ่มจำนวนการตรวจให้มากขึ้นอีก เพราะหากตัวเลขการตรวจ 15 ล้านคนถูกต้อง นั่นหมายความว่า สหรัฐฯ ตรวจหาเชื้อครอบคลุมเพียง 4.5% ของประชากรเท่านั้น

 

BBC

แล้วสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไรต่อไป

Getty Images
ผู้คนในหลายรัฐออกมาประท้วงการล็อกดาวน์ช่วงต้น พ.ค.

ยอดผู้เสียชีวิตยังพุ่งสูง ในอัตราเพิ่มที่เริ่มชะลอตัว ทำเนียบประธานาธิบดียกแบบจำลองหนึ่งมาอ้างอิงว่า มีความเป็นไปได้ที่ยอดผู้เสียชีวิตจะพุ่งสูงถึงเกือบ 1 แสน 5 หมื่นคน ภายใน ส.ค. แต่บทเรียนที่ผ่านมาบอกเราว่า ตัวเลขคาดการณ์ของรัฐบาล น้อยกว่าความเป็นจริงมาแล้ว จากที่เคยประเมินว่ายอดผู้เสียชีวิตจำต่ำกว่า 1 แสนคน แต่มาวันนี้ ยอดพุ่งทะลุเพดานที่คาดการณ์ไว้เรียบร้อย

 

ในช่วงหนึ่งของการแพร่ระบาด ประชากรกว่า 90% ของสหรัฐฯ อยู่ภายใต้คำสั่งล็อกดาวน์ แต่ปัจจุบัน รัฐส่วนใหญ่เริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการแล้ว

 

BBC
แผนที่แสดงจำนวนผู้ติดเชื้อรวมในแต่ละรีฐทั่วประเทศ ตัวเลขบ่งชี้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อมีมากในรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือ

รัฐบาลสหรัฐฯ ได้กำหนดเงื่อนไขที่รัฐต่าง ๆ จะสามารถเริ่มคลายล็อกดาวน์ได้ รวมถึงอัตราผู้ติดเชื้อจะต้องอยู่ในแนวดิ่งลงต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ แต่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขระบุว่า มีเพียงไม่กี่รัฐเท่านั้นที่ตรงตามเงื่อนไข

 

ดร. เฟาซี เตือนว่า หลายรัฐอาจเกิดสถานการณ์ที่ "ผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นเล็กน้อย แล้วขยายตัวเป็นการแพร่ระบาด" หากคลายล็อกดาวน์ก่อนที่จะควบคุมไวรัสได้

 

คำแนะนำของ ดร. เฟาซี สวนทางกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ต้องการให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง ก่อนที่เขาจะเริ่มรณรงค์หาเสียงสำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปลายปีนี้ เพราะข้อมูลล่าสุดชี้ว่า แรงงานอเมริกันเกือบ 1 ใน 4 กลายเป็นผู้ว่างงาน นับแต่สถานการณ์แพร่ระบาดเริ่มขึ้น

 

ผู้สื่อข่าวสอบถามนายทรัมป์เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า หากเริ่มเปิดประเทศแล้ว จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกไหม นายทรัมป์ตอบว่า "ถามว่าจะมีคนกระทบหนักไหม แน่นอน แต่เราจะต้องเปิดประเทศอีกครั้ง และเปิดให้เร็วที่สุด"

 

แม้ว่าบางรัฐจะเริ่มผ่อนปรนมาตรการ แต่ยังไม่แน่ชัดว่า ชาวอเมริกันจะพร้อมกลับไปจับจ่ายซื้อของตามร้านค้า หรือนั่งทานอาหารในร้านอาหารในทันที

ผลสำรวจของสำนักวิจัยพิวพบว่า ชาวอเมริกัน 70% ต่างมีความวิตกกังวล หากรัฐต่าง ๆ คลายล็อกดาวน์เร็วเกินไป

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง