บุรีรัมย์ เจอวิกฤติน้ำประปาไม่ไหลกว่า 2 เดือน คนเมืองยังอ่วม ลำบากสุดในรอบ 60 ปี
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาน้ำประปาของจังหวัดบุรีรัมย์ ยังวิกฤติต่อเนื่อง หลังจากอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก และอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำนำดิบมาเป็นน้ำประปาให้กับเขตบริการของการประปาส่วนภูมิภาคบุรีรัมย์ กว่า 34,000 ครอบครัว ได้แห้งขอดไปเมื่อกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีการผันน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงมาเติมแล้วก็ตาม
ที่ชุมชนบ้านมะค่าด้านหลังโรงพยาบาลเอกชนบุรีรัมย์ เขตพื้นที่เทศบาลชุมเห็ด อ.เมือง ซึ่งตั้งอยู่ปลายน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะน้ำประปาไม่ไหล มานานกว่า 2 เดือน
น.ส.ทองวิเศษ แพงไธสง อายุ 32 ปี กล่าวว่า ทุกวันเช้าและเย็น จะต้องยืมรถเข็นเพื่อนบ้าน ไปขนเอาน้ำที่เทศบาลเอาถังน้ำ 2,000 ลิตรมาตั้งไว้ให้บริการที่ปากซอย โดยการเอาภาชนะที่มีภายในบ้านที่พอหาได้ ไปรองเอาที่ถังน้ำแล้วขนเข้าบ้านเพื่อให้มีน้ำใช้ภายในครัวเรือน ยอมรับว่าลำบากที่สุด เพราะเป็นชุมชนเมืองไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ ไม่มีน้ำบาดาลเป็นของตัวเอง
ด้านนางดวงจันทร์ แสงดาว อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมะค่า หมู่ 3 ต.ชุมเห็ด กล่าวว่าตอนนี้ตัวเองอายุ 60 ปี สมัยก่อนจังหวัดบุรีรัมย์ จะมีฉายาว่าเป็นเมือง”ตำน้ำกิน”เนื่องจากเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว เวลาหน้าแล้งจะหาน้ำกินน้ำใช้ลำบาก ปัจจุบันมีความเจริญยิ่งขึ้นเรื่องมา จนมีน้ำประปาใช้อย่างไม่ลำบาก พอมาถึงวันนี้ ไม่คิดว่าสภาพเดิมจะย้อนกลับมาให้เห็นอีกครั้ง ถือเป็นรอบ 60 ปีที่น้ำหายากที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลของจังหวัดบุรีรัมย์ พบว่าปกติการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดบุรีรัมย์ ใช้น้ำจ่ายไปตามบ้านเรือนโดยเฉลี่ยวันละ 48,000-50,000 ลูกบาศน์เมตรต่อวัน
หลังจากพบว่าปริมาณน้ำเริ่มขาดแคลนเมื่อประมาณปลายปีที่ผ่านมา การประปาฯได้ปรับลดแรงดันส่งน้ำลง ทำให้น้ำไหลน้อยลง แต่พอใช้ได้ โดยจะใช้น้ำวันละ 35,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ควบคู่ไปกับการผันน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงมาเติมอ่างเก็บน้ำ จนแหล่งน้ำที่ผันมาเช่นลำน้ำมาศ ,ลำปะเทีย อ.เสิงสาง นครราชสีมา ไม่สามารถผันมาได้แล้ว
จนล่าสุดการประปาฯบุรีรัมย์ ได้ผันน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำห้วยสวาย อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ แต่ผันน้ำได้เพียงวันละ 28,000 ลูกบาศก์เมตร จากอย่างน้อยต้องใช้ที่ 35,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทำให้น้ำปลายสายหยุดไหลสิ้นเชิง
โดยสถานการณ์นี้จะอยู่ไปจนกว่าจะมีน้ำธรรมชาติมาเติมอ่างเก็บน้ำที่อ่างห้วยตลาด และอ่างห้วยจระเข้มาก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบผลผลิตน้ำประปา ผู้ใช้น้ำประปาในเขตบริการจึงจะสามารถใช้น้ำได้ตามปกติ