รีเซต

สธ.เผยผลตรวจแอนติบอดีคนไทย พบติดเชื้อไม่รู้ตัว 371 คน น้อยกว่าตรวจเข้าระบบ

สธ.เผยผลตรวจแอนติบอดีคนไทย พบติดเชื้อไม่รู้ตัว 371 คน น้อยกว่าตรวจเข้าระบบ
ข่าวสด
3 ธันวาคม 2564 ( 14:34 )
30
สธ.เผยผลตรวจแอนติบอดีคนไทย พบติดเชื้อไม่รู้ตัว 371 คน น้อยกว่าตรวจเข้าระบบ

สธ.เผยผลตรวจแอนติบอดีคนไทย ที่ยังไม่ฉีดวัคซีน-ไม่ได้วินิจฉัยเป็นโควิด ช่วงพ.ย. 2.6 หมื่นคนทั่วประเทศ ติดเชื้อไม่รู้ตัว 371 คน น้อยกว่าที่ตรวจเจอในระบบ

 

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.64 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการสำรวจแอนติบอดีต่อโควิด 19 ในกลุ่มประชากรไทยที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ว่า ที่ผ่านมาเคยมีคำถามสมัยโควิดเกิดขึ้นแรกๆ ว่า ประเทศไทยตรวจหาเชื้อน้อยไปหรือไม่ ที่ตรวจอาจได้มาแค่ภูเขาน้ำแข็ง ยังมีคนติดเชื้อจำนวนมากหลุดรอดจากระบบไป

 

ตอนนั้นมีคนบอกว่า กทม.อาจมีเป็นแสนๆ ราย จากที่เรามีผลตรวจไม่กี่พันรายในช่วงนั้น ซึ่งโจทย์นี้สามารถตอบคำถามได้ จากการตรวจภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี ที่จะพบเมื่อติดเชื้อหรือฉีดวัคซีน จึงเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ดูความชุกการติดเชื้อของประเทศต่างๆ ซึ่งบางประเทศระบาดเยอะ ตัวเลขผู้ป่วยไม่มาก แต่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เมื่อสำรวจแอนติบอดีก็พบว่ามีเปอร์เซ็นต์ติดเชื้อสูง เป็นต้น

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำโครงการโดยเก็บตัวอย่างช่วงพ.ย. เพราะฉีดวัคซีนจำนวนหนึ่งแล้ว และมีผู้ติดเชื้อโควิดที่วินิจฉัยเข้ามาระบบ จึงอยากรู้ว่าคนที่เหลือที่ยังไม่ฉีดวัคซีน และไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ มีใครบ้างที่มีภูมิคุ้มกัน หากมีภูมิแสดงว่าติดเชื้อไม่รู้ตัวและไม่ได้รับการวินิจฉัย เพื่อตอบว่าเราตรวจมากน้อยแค่ไหน และจะได้รู้ว่าคนเหล่านี้ถ้ายังไม่มีภูมิคุ้มกันขึ้นเลย หากติดเชื้อมีโอกาสติดเชื้อและป่วยหนักเสียชีวิตได้

 

ทั้งนี้ เก็บตัวอย่างทั้งประเทศจำนวน 26,717 ตัวอย่าง ซึ่งจริงๆ ไม่ต้องสุ่มมากขนาดนี้ แต่เราอยากได้จำนวนตัวอย่างที่สะท้อนแต่ละพื้นที่เขตสุขภาพ คือเขตสุขภาพที่ 1-12 ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 13 คือ กทม. ที่ฉีดวัคซีนเกิน 100% จึงหาคนไม่ฉีดยากมาก

 

โดยเราเจาะหาแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันด้วยการเจาะเลือด เอามาตรวจด้วยเครื่อง ไม่ใช่ชุดตรวจอย่างง่าย เพื่อความแม่นยำ ลดการเกิดผลบวกหรือลบลวง เก็บตัวอย่างในช่วง 1 เดือน คือ พ.ย.ที่ผ่านมา เพราะการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาต้องเก็บในช่วงเวลาที่แคบๆ หากเก็บสะสมมาเรื่อยๆ จะไม่ได้

 

โดยตัวอย่างเป็นผู้ชายและผู้หญิงพอๆ กัน คือ ชาย 48% และหญิง 52% ตามกลุ่มอายุ คือ 18-30 ปี, 31-40 ปี, 41-50 ปี และ 51-60 ปี คนถูกเจาะเลือดจะได้รับการถาม 2 คำถาม คือ ไม่เคยฉีดวัคซีนใดๆ เลย และ ไม่เคยถูกวินิจฉัยว่าเป็นโควิด 19 คือยังเวอร์จินอยู่ ก็จะเจาะเลือดโดยความยินยอมมาตรวจว่ามีแอนติบอดีหรือไม่ ผลพบว่า

 

เขตสุขภาพที่ 1 ลำพูน ลำปาง พะเยา ตรวจ 1,416 ตัวอย่าง พบ 6 ราย คิดเป็น 0.4% ขณะที่ตรวจวินิจฉัยเข้าระบบพบ 0.6%

เขตสุขภาพที่ 2 เพชรบูรณ์ พิษณุโลก 1,431 ตัวอย่าง พบ 25 ราย คิดเป็น 1.7% ขณะที่ตรวจวินิจฉัยเข้าระบบพบ 1.3%

เขตสุขภาพที่ 3 นครสวรรค์ อุทัยธานี 1,366 ตัวอย่าง พบ 6 ราย คิดเป็น 0.4% ขณะที่ตรวจวินิจฉัยเข้าระบบพบ 1.1%

เขตสุขภาพที่ 4 ปทุมธานี สิงห์บุรี 1,382 ตัวอย่าง พบ 34 ราย คิดเป็น 2.5% ขณะที่ตรวจวินิจฉัยเข้าระบบพบ 3.7%

เขตสุขภาพที่ 5 กาญจนบุรี สมุทรสงคราม 1,084 ตัวอย่าง พบ 29 ราย คิดเป็น 2.7% ขณะที่ตรวจวินิจฉัยเข้าระบบพบ 4.5%

เขตสุขภาพที่ 6 ชลบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา 2,517 ตัวอย่าง พบ 70 ราย คิดเป็น 2.8% ขณะที่ตรวจวินิจฉัยเข้าระบบพบ 4.8%

เขตสุขภาพที่ 7 ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม 3,726 ตัวอย่าง พบ 43 ราย คิดเป็น 1.2% ขณะที่ตรวจวินิจฉัยเข้าระบบพบ 1.0%

เขตสุขภาพที่ 8 อุดรธานี สกลนคร บึงกาฬ 3,137 ตัวอย่าง พบ 27 ราย คิดเป็น 0.9% ขณะที่ตรวจวินิจฉัยเข้าระบบพบ 0.9%

เขตสุขภาพที่ 9 ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ 4,084 ตัวอย่าง พบ 35 ราย คิดเป็น 1.0% ขณะที่ตรวจวินิจฉัยเข้าระบบพบ 1.1%

เขตสุขภาพที่ 10 ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ 3,702 ตัวอย่าง พบ 17 ราย คิดเป็น 0.5% ขณะที่ตรวจวินิจฉัยเข้าระบบพบ 0.3%

เขตสุขภาพที่ 11 ชุมพร ระนอง 1,744 ตัวอย่าง พบ 14 ราย คิดเป็น 1.1% ขณะที่ตรวจวินิจฉัยเข้าระบบพบ 2.0%

เขตสุขภาพที่ 12 นราธิวาส สตูล 1,128 ตัวอย่าง พบ 65 ราย คิดเป็น 6.2% ขณะที่ตรวจวินิจฉัยเข้าระบบพบ 3.6%

 

"ภาพรวมประเทศ 26,717 ตัวอย่าง พบ 371 ราย คิดเป็น 1.4% ถือว่าไม่มาก จากการตรวจวินิจฉัยเข้าระบบที่พบ 2.6% แสดงว่าระบบการตรวจของเราไม่ได้หลุดไปมากมายอะไร ที่คนบอกว่า 2.6% อาจเป็นภูเขาน้ำแข็ง มีคนติดเชื้ออีกเยอะมากจึงถือว่าไม่จริง ยังบริสุทธิ์ผุดผ่องกันเยอะมาก

 

แต่บางพื้นที่ที่การเจาะเลือดมาตรวจพบมากกว่าการติดเชื้อเข้าระบบ เช่น เขตสุขภาพที่ 2, 7, 10 และ 12 อย่างเขตสุขภาพที่ 12 ครอบคลุมจังหวัดชายแดนใต้ ตรวจพบในระบบ 3.6% แต่ไปหาแอนติบอดีได้ 6.2% รวมกันได้ 10% คือ เดือน พ.ย. มีความชุกของการติดเชื้อจริง" นพ.ศุภกิจ กล่าว

 

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า นี่คือสิ่งที่ได้เราจากการตรวจหาภูมิคุ้มกัน จึงนำมาสู่ข้อสรุปว่า มีคนติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวไม่ทราบมาก่อน 1.4% ถ้าคิดจากคนไทย 70 ล้านคน ตัวเลขจริงติดเชื้อเกิดขึ้นอาจจะมากกว่า 2 ล้านคน แต่ที่เราหาพบ คือ 2.6% และเมื่อนำตัวเลขทั้ง 3 ส่วน คืออัตราฉีดวัคซีน ติดเชื้อในระบบ และมีแอนติบอดีมารวมกัน

 

ยังพบว่าหลายเขตสุขภาพยังมีช่องว่างที่คนยังไม่มีภูมิคุ้มกันอีกมาก เช่น เขตสุขภาพที่ 7 เหลืออีก 60% เขตสุขภาพที่ 1 เหลืออีกเกือบ 50% จึงต้องหาคนมาฉีดวัคซีนเพิ่มเพื่อไปปิดช่องว่าง ถึงทำให้ประเทศมีความปลอดภัย เพราะคนที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน แสดงว่ามีโอกาสติดเชื้อ เกิดโอกาสรุนแรงและเสียชีวิตได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง