ในฐานะผู้ประกอบการ มีจุดอ่อนอยู่หลายข้อที่ต้องระมัดระวังโดยเฉพาะการเงิน บัญชี และภาษี ซึ่งหลายคนเลือกที่จะมองข้ามไปโฟกัสเรื่องการขยายฐานลูกค้า การขาย และการตลาด ทั้งที่เรื่องการเงินพื้นฐานเป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจก่อนเพื่อจะทำได้ทำงานเป็นอย่างอัตโนมัติ ธุรกิจจะได้ไม่เสียหายในภายหลัง ถนอม เกตุเอม เจ้าของเพจ TAXBugnoms และ ยลวรรณ จิรวัชรเดช เจ้าของเพจ Zero to Profit จะมาให้ข้อมูลสำคัญสำหรับคนที่เป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นแนวคิดสั้นๆชวนสะกิดใจคนทำธุรกิจที่บอกเลยว่าพลาดไม่ได้ ความรู้ความประทับใจในมุมมองของครีเอเตอร์ ได้เรียนรู้ว่าเงินที่หายไปจากบริษัท แม้จะเงียบไว้ไม่บอกใคร แต่สุดท้าย“นักบัญชี” ก็ดูออกจาก Bank Statement การโอนเงินออกไปหาตัวเองดื้อ ๆ ไม่มีใบเสร็จมาเบิกค่าใช้จ่าย นักบัญชีจะสันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าเถ้าแก่แอบโอนเงินออกจากบริษัท ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ... การเงิน : บริษัทขาดเงินหมุนเวียนจำนวน 100,000บาททันที ซึ่งถ้าหากจำเป็นต้องใช้ขึ้นมา เช่น พรุ่งนี้ บริษัทต้องจ่ายชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ แบบนี้จะเอาเงินมาจากไหน บัญชี : เมื่อเถ้าแก่ “ดึงเงิน” จากบริษัทจะถือว่าเถ้าแก่เป็นลูกหนี้ของบริษัท(ลูกหนี้กรรมการ) โดยทันที แม้ไม่ได้เต็มใจก็ตาม ภาษี : หากถูกสรรพากรเข้าตรวจสอบ และพบว่ามีรายการ "ลูกหนี้กรรมการ” ที่บันทึกในบัญชี สิ่งที่สรรพากรมักจะเข้าใจ (ทันที) นั่นคือ กิจการนี้น่าจะมีการหลบเลี่ยงภาษี (ถ้าหากไม่มีเหตุผลที่ดีพอ)เพราะมักจะถูกตีความว่าเป็นรายการส่วนตัว(ดึงเงินบริษัทไปใช้) หรือมีพฤติกรรมตั้งใจหลบรายได้หรือค่าใช้จ่าย และในทางภาษี การกู้ยืมที่ว่านี้ต้องเกิดรายได้ดอกเบี้ยตามกฎหมายอีกด้วย ได้เรียนรู้ว่าแนวทางแก้ไขเรื่องเงินในบริษัทหาย 1. เถ้าแก่วางแผนรับเงินจากธุรกิจแบบชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง (เงินเดือน) หรือเงินปันผล โดยแยกให้ชัดระหว่างเงินตัวเองกับเงินธุรกิจ 2. ไม่ควรดึงเงินจากธุรกิจออกมาใช้โดยเด็ดขาด หากจำเป็นต้องดึงเงินออกมาจริง ๆ ก็ต้องใช้คืนให้เร็วที่สุด แต่ถ้าเป็นไปได้อย่าดึงเงินออกมาเลย ได้เรียนรู้ว่าเจ้าของธุรกิจหลายคนมักสนใจตัวเลขยอดขายที่เพิ่มขึ้น แต่กลับลืมใส่ใจถึงเงินหมุนเวียนในธุรกิจ และกว่าจะรู้ก็สายไปแล้ว โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการให้เครดิต การเช็กและตรวจสอบลูกหนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้าขายแล้วเก็บเงินไม่ได้ ก็ไม่ควรขายเสียตั้งแต่แรก แนวทางแก้ไขคือ 1. เช็กประวัติลูกค้าให้ดี กำหนดเครดิตเทอมให้ลูกค้า ทั้งจำนวนวัน และมูลค่าเงินเอาไว้เสียก่อน ถ้าลูกค้าซื้อเกินนี้ แล้วต้องหยุดขาย จนกว่าจะได้รับชำระเงิน 2. เช็กภาพรวมการเก็บเงินลูกหนี้ด้วยการวิเคราะห์ระยะเวลาเก็บเงิน (Days in Sales) ถ้าคำนวณได้เกินกว่าเครดิตที่กำหนดไว้ นี่เป็นสัญญาณว่าธุรกิจกำลังมีปัญหาลูกหนี้จ่ายล่าช้า ให้หาวิธีติดตามทวงถามหนี้ไว้ อย่ารอจนเขาหนีไปก่อน ได้เรียนรู้ว่าสำหรับธุรกิจที่เก่งมีกำไรทุกปี ก็จะมีกำไรสะสมเยอะขึ้นเรื่อย ๆพอมีกำไรสะสมเยอะจนไม่อยากเก็บไว้ลงทุนหรือใช้อะไรต่อ ทางเดียวที่เจ้าของธุรกิจจะเอาเงินส่วนนี้ออกไปได้อย่างถูกกฎหมาย คือการจ่ายเงินปันผลให้กับเราในฐานะผู้ถือหุ้น ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่า ถ้ามีการจ่ายเงินปันผลเมื่อไร ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ไว้ก่อนจ่ายให้ผู้ถือหุ้น (ถือเป็นส่วนหนึ่งของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) ดังนั้น ถ้าตนเป็นเจ้าของบริษัท ก.ก็ต้องเสียภาษีต่อแรก 20% เป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลและเสียภาษีอีกต่อหนึ่งอีก 10% ผ่านการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) อย่างไรก็ตาม เงินปันผลที่ได้รับ ผู้ถือหุ้นมีสิทธิ์เลือกเอาไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนปลายปี หรือจะหัก ณ ที่จ่ายไว้แล้วไม่ยื่นภาษีเพื่อรวมคำนวณก็ได้ ขึ้นอยู่กับฐานเงินได้และการวางแผนภาษีส่วนบุคคลอีกทีหนึ่ง ได้เรียนรู้ว่าธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอย่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ในทุก ๆ ปีจะต้องเสียภาษีที่เรียกว่า ภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งคำนวณจาก กำไรทางภาษี x อัตราภาษี เรื่องอัตราภาษีนั้นจะมีความแตกต่างกัน SMEs กำไรสุทธิ 0-300,000 ยกเว้นภาษี กำไรสุทธิ 300,001-3,000,000 เสียภาษี 15% และกำไรสุทธิ 3,000,001 บาทขึ้นไป เสียภาษี 20% ส่วน Non SMEs ไม่ว่ากำไรสุทธิจะเป็นเท่าใดก็เสียภาษี 20% ได้เรียนรู้ว่าธุรกิจที่สรรพากรเรียกว่า SMEs จะเป็นธุรกิจที่เข้าเงื่อนไขนี้ 1. รายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท และ 2. ทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท นอกเหนือจากนั้นจะถือว่าเป็นธุรกิจ Non-SMEs ทันที และต้องเสียภาษีในอัตรา 20% ของกำไรสุทธิทางภาษี สมมติว่าหากบริษัท ก. มีรายได้เกิน 30 ล้านบาทแล้ว จะทำให้เงื่อนไขการเป็น SMEs จบลงกลายเป็น Non-SMEs ทันที และถ้าเป็นเช่นนั้น เขาจะต้องเสียภาษีจากกำไรตั้งแต่บาทแรกที่อัตรา 20% ทันที ได้เรียนรู้ว่าถ้าพูดโดยหลักการบัญชี การมีสินทรัพย์ขนาดใหญ่อย่างโรงงานและผ่านการก่อสร้าง ควรจะต้องมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นเพื่อให้บันทึกบัญชีได้อย่างถูกต้อง ดังนี้ 1.สัญญาตกลงการก่อสร้างและรายละเอียดการจ่าย 2.รายละเอียดการเบิกจ่ายเงินและเอกสารรับเงินในแต่ละงวด 3.เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ใบกำกับภาษีใบเสร็จรับเงิน 4.ข้อตกลงการซ่อมแซม เงินประกัน (ถ้ามี) สัญญาข้อตกลงอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยทั้งหมดจะต้องถูกรับรู้เป็นสินทรัพย์ทั้งจำนวนเมื่อพร้อมใช้งาน และเริ่มคิดค่าเสื่อมราคาตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป ได้เรียนรู้ว่าค่าเสื่อมราคา คือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโดยคำนวณจากมูลค่าของสินทรัพย์ โดยมักจะคิดจากมูลค่าของสินทรัพย์หารอายุการใช้งาน (จำนวนปี) เช่น อาคารมูลค่า 10 ล้านบาทมีอายุการใช้งาน 20 ปี คิดเป็นค่าเสื่อมราคา (ค่าใช้จ่าย) แต่ละปีอยู่ที่ปีละ 500,000 บาท ได้เรียนรู้ว่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายคือ ภาษีที่ “ผู้จ่ายเงิน” ทำหน้าที่หักเงินจาก"ผู้รับเงิน” เอาไว้ตามเงื่อนไขและอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ จากนั้นก็นำส่งภาษีที่ว่านี้ให้กับกรมสรรพากรด้วยแบบแสดงรายการประเภทต่าง ๆ เช่น แบบ ภ.ง.ด. 1, 2, 3, 53 และอื่น ๆ ได้เรียนรู้ว่าถ้าหากธุรกิจของเราจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เราจะต้องมีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีให้ผู้ซื้อทุกครั้งที่เกิดรายการขายสินค้าหรือบริการ ปัจจุบันใบกำกับภาษีจะมีอยู่ 2 แบบคือ ใบกำกับภาษีเต็มรูปและใบกำกับภาษีอย่างย่อ โดยใบกำกับภาษีที่สามารถใช้สิทธิ์ภาษีซื้อ (หักจากภาษีขายที่กิจการเป็นผู้เรียกเก็บ) จะต้องเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปเท่านั้นและก็แน่นอนว่ามีบางที่หัวใสทำธุรกิจขายใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ไม่ต้องซื้อของจริง แต่ออกใบกำกับภาษีให้ โดยคิดราคาตามที่ตกลงกันไว้ เช่น 3% ของราคา สมมติอยากได้ยอดซื้อ 1 ล้านบาท VAT 70,000 บาท จ่ายแค่ 30,000 บาท ก็เอาใบกำกับภาษีจากเราไปได้เลย ได้เรียนรู้ว่าในทางกฎหมาย ใบกำกับภาษีที่ออกมาโดยไม่มีการซื้อขายจริงนั้น ซึ่งโทษของเรื่องนี้คือ.. =ใบกำกับภาษีปลอม ผู้ขายใบกำกับภาษีปลอม มีโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี โดยคิดเป็น 1 ใบกำกับภาษีปลอมเท่ากับ 1 กระทง 10 ใบกำกับภาษีปลอมก็จำคุกไป 10 ปี =ผู้ซื้อใบกำกับภาษีปลอม ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดที่ยังไม่ได้ลงรายละเอียด แต่เป็นสิ่งที่เตือนใจก่อนธุรกิจจะเจ๊งมากกว่า ถ้าใครอยากลงรายละเอียดจริงๆต้องเป็นหนังสือที่ชื่อว่า"เถ้าแก่มีตังค์" จะเหมาะกว่าครับ บอกเลยว่าเนื้อหาแน่นมากๆ แต่ผู้ประกอบการมือใหม่ก็ไม่ต้องเครียดมากจนเกินไป มันเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องใส่ใจและค่อยๆปรับตัวเรียนรู้ไม่ให้การเงินของธุรกิจตัวเองเสียหาย เพราะนักบัญชีที่เก่งแค่ไหนก็ไม่อาจเตือนสติเราได้ หากเราไม่ได้เป็นผู้ประกอบการที่ใส่ใจงบการเงินมากพอ เครดิตภาพ ภาพปก โดย pressfoto จาก freepik.com ภาพที่ 1 และ 2 โดยผู้เขียน ภาพที่ 3 โดย ijeab จาก freepik.com ภาพที่ 4 โดย jannoon028 จาก freepik.com บทความอื่นๆที่น่าสนใจ รีวิวหนังสือ MONEY 101 เริ่มต้นชีวิตสู่การเงินอุดมสุข (ฉบับปรับปรุงใหม่) รีวิวหนังสือ กองทุนรวม 101 รีวิวหนังสือ เส้นทางสู่อิสรภาพทางการเงินอย่างแท้จริง รีวิวหนังสือ ภาษีธุรกิจ 101 รีวิวหนังสือ ภาษี"บุก"คนธรรมดา เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !