รีเซต

ชัชชาติ คึกคัก บุกธนบุรี-บางกอกใหญ่ ลั่น ข้าราชการกทม. ต้องหันหลังให้ผู้ว่าฯ หันหน้าให้ปชช.

ชัชชาติ คึกคัก บุกธนบุรี-บางกอกใหญ่ ลั่น ข้าราชการกทม. ต้องหันหลังให้ผู้ว่าฯ หันหน้าให้ปชช.
มติชน
29 เมษายน 2565 ( 14:18 )
56
ชัชชาติ คึกคัก บุกธนบุรี-บางกอกใหญ่ ลั่น ข้าราชการกทม. ต้องหันหลังให้ผู้ว่าฯ หันหน้าให้ปชช.

ชัชชาติ เบอร์ 8 ลงพื้นที่ ธนบุรี-บางกอกใหญ่ รับฟังปัญหาจากผู้นำ 13 ชุมชน ย้ำข้าราชการ กทม. ต้อง “หันหลังให้ผู้ว่าฯ หันหน้าให้ประชาชน”

 

29 เมษายน 2565 – ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 ลงพื้นที่หาเสียงเขตธนบุรีและเขตบางกอกใหญ่ เข้าร่วมเวทีประชาคม ณ ลานวัดหงส์รัตนาราม รับฟังปัญหาจากผู้นำชุมชนกว่า 40 คน ใน 13 ชุมชนเขตบางกอกใหญ่ ทราบปัญหาสำคัญ อาทิ ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ยาเสพติด และปัญหาสิ่งอำนวยความสะดวกภายในชุมชน ก่อนเดินพบปะประชาชนที่ตลาดวัดจันทารามวรวิหารและชุมชนโดยรอบ เพื่อรับฟังปัญหาจากประชาชนถึงประตูบ้าน

 

ชัชชาติ กล่าวว่า การเข้าใจปัญหาประชาชนคือหัวใจสำคัญในการพัฒนานโยบาย กทม.ต้องออกแบบวิธีจัดการปัญหาโดยที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ ยกตัวอย่างการค้าขายริมทางที่ยังมีความจำเป็นต่อเมือง เนื่องจากเป็นแหล่งจำหน่ายอาหารราคาถูก แต่ กทม. จะจัดการพื้นที่อย่างไรไม่ให้ร้านค้าเบียดบังทางเท้า ดังนั้น ผู้ว่าฯ กทม. และข้าราชการ ต้องลงพื้นที่เพื่อพบทราบปัญหาจากประชาชนอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากปัญหาของประชาชนไม่เคยหยุดนิ่ง ชัชชาติ ย้ำนโยบาย “ผู้ว่าฯสัญจร” จะลงพื้นที่ 50 เขต ภายใน 1 ปี เพื่อทำความเข้าใจปัญหา กทม. ให้ดีขึ้นและเป็นช่องทางให้ชุมชนได้ร้องเรียนปัญหาถึงผู้ว่าฯกทม.โดยตรงอีกด้วย

 

นอกจากนี้ ชัชชาติ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ประเด็นที่น่ากังวลที่สุดขณะนี้คือปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง เงินเฟ้อ สินค้าราคาแพง และผู้ได้รับผลกระทบคือผู้มีรายได้น้อย ดังนั้น กทม.จะต้องช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น เงินใต้โต๊ะ ส่วย ต้องยกเลิก พร้อมกับให้บริการพื้นฐานที่มีคุณภาพ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข ฯลฯ เพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้โดยเร็ว เพื่อจะได้เปิดประเทศ เปิดกิจการต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวกลับมา

ชัชชาติ ย้ำนโยบาย 50 ย่าน 12 เทศกาล ดึงอัตลักษณ์ของย่านเสริมสร้างเศรษฐกิจ สร้างกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยว และสร้างหารายได้ให้กับประชาชนในแต่ละย่าน

 

“เราต้องหาคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในชุมชน เช่นเขตบางกอกใหญ่มีพื้นที่วังเดิมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เราสามารถเชื่อมโยงสถานที่สำคัญกับคลองให้เกิดแหล่งท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และเกิดการสร้างงาน โดยเฉพาะการจ้างงานกลุ่มผู้สูงอายุ กทม.ต้องเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงผู้สุงอายุเข้ากับจุดแข็งของแต่ละชุมชน” ชัชชาติกล่าว

 

ชัชชาติย้ำว่าในภาวะที่ทุกคนเดือดร้อนเรื่องเศรษฐกิจ ข้าราชการเจ้าหน้าที่ กทม. ต้องเอาใจใส่ประชาชนให้มากขึ้น ตนเองเชื่อว่า กทม. มีบุคลากรที่มีคุณภาพเยอะ เพียงปรับเปลี่ยนมุมมองการทำงานให้เป็นการ “หันหลังให้ผู้ว่าฯ หันหน้าให้ประชาชน” แล้วนำทรัพยากรที่มีลงไปช่วยเหลือประชาชนให้เต็มที่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง