ข้อมูลหนังสือชื่อหนังสือ : คนหาปลาประเภทของหนังสือ : นวนิยายผู้แต่ง : เสกสรร ประเสริฐกุลสำนักพิมพ์ : โรงพิมพ์ภาพพิมพ์ครั้งที่พิมพ์ : พิมพ์ครั้งที่ 3 เดือน ตุลาคม พ.ศ.2558จำนวนหน้า : 135 หน้า 13 ตอนราคา : 135 บาท1. กลวิธีด้านรูปแบบ/องค์ประกอบ นวนิยายเรื่อง “คนหาปลา” ที่ผู้ศึกษาได้วิเคราะห์นั้นเป็นนวนิยายเรื่องแรกของ เสกสรร ประเสริฐกุล ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 มีจำนวน 135 หน้า แบ่งออกเป็น 13 ตอน ตอนละสั้น ๆ ทำให้ผู้อ่านเกิดความไม่เบื่อหน่ายและอยากอ่านอยากติดตามเรื่องไปโดยตลอด นวนิยายเรื่อง คนหาปลา มีลักษณะการประพันธ์เป็นร้อยแก้วตลอดทั้งเรื่องใช้ภาษาระดับกึ่งทางการ ผสมผสานกับภาษาระดับกันเองโดยเฉพาะในบทสนทนาของตัวละครซึ่งถูกใช้เป็นส่วนใหญ่ในดำเนินเรื่อง และภาษา ที่ปรากฏในเรื่องมักจะเป็นภาษาสำนวนที่ค่อนข้างเป็นการใช้ภาษาเก่า ๆ ไม่ทันสมัยหรือไม่เข้ากับยุคปัจจุบัน เนื่องจากผู้เขียนได้สร้างสรรค์ผลงานการประพันธ์ชิ้นนี้ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นหนุ่มหากแต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์จนกระทั่งเวลาผ่านล่วงเลยมานานผู้เขียนจึงได้มาสร้างสรรค์งานต่อจนสำเร็จ ดังจะเห็นได้จากข้อความ “บางความในใจของผู้เขียน” ซึ่งปรากฏอยู่ท้ายเล่มของหนังสือว่า “ผ่านมา 30 ปีเต็ม ผมค่อยพบห้วงยามที่จะเขียน คนหาปลา ฉบับสมบูรณ์ จะว่าไปแรงกระตุ้นหลักก็ไม่มีอะไรซับซ้อนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมเพียงรู้สึกขึ้นมาอย่างรุนแรงว่าถ้าไม่รีบกลับมาเขียนหนังสืออีกก็ไม่รู้จะเริ่มต้นเขียนเมื่อใด อีก 2-3 ปี ผมจะอายุครบ 70 แล้ว...” และยังสามารถสังเกตได้จากการตีพิมพ์ในครั้งแรกคือ ฉบับแรกของนวนิยายเรื่อง คนหาปลา ถูกตีพิมพ์เมื่อเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2528 จึงนับว่าเป็นนวนิยายที่ใช้เวลาสร้างสรรค์อย่างยาวนานจึงไม่แปลกที่ภาษาที่ใช้ในเรื่องจะเป็นการใช้สำนวนภาษาเก่า ๆ ภาษาที่ใช้เช่น “เดี๋ยวก่อน” น้าสิงห์เอ็ดตะโรขึ้นอีก “อ้าว” ก็น้าไล่ฉัน “นั่นมึงจับปลาวันพระด้วยเรอะ...ใจบาปฉับหายไอ้สัตว์” คำว่า “เอ็ดตะโร และ เรอะ” ทั้งสองคำนี้พบว่าไม่ค่อยมีใช้ในการสื่อสารในปัจจุบันนี้แล้ว การดำเนินเรื่องเป็นเรื่องราวของ “เฉียบ” ผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่ที่ “วังน้ำเขียว” ที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวโยงกับใคร อีกหลาย ๆ คนในเขตนั้น เรื่องราวเป็นการดำเนินชีวิตปรกติธรรมดาแต่แฝงไปด้วยความขัดแย้งต่าง ๆ จนนำไปสู่จุดจบที่ไม่ดี หากแต่ผู้เขียนมิได้สรุปว่าท้ายที่สุดแล้วเรื่องจบอย่างไร แต่ทิ้งท้ายให้ผู้อ่านคิดจินตนาการด้วยตนเองภาพประกอบ:2. กลวิธีด้านเนื้อหา 2.1 โครงเรื่อง นวนนิยายเรื่อง “คนหาปลา” เปิดเรื่องด้วยการบรรยายถึงภาพบรรยากาศยามเย็นที่ชายผู้หนึ่งคือ เฉียบ ซึ่งเป็นตัวละครหลัก ออกเรือหางยาวแล่นไปจอดตามร่องน้ำเพื่อทอดแห ตกปลา ซึ่งเป็นอาชีพของเขา ปม ความขัดแย้งของเรื่องมีปมขัดแย้งหลายด้านไม่ว่าจะเป็น ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสังคม และความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เกิดจากการที่น้าสิงห์ซึ่งเปรียบเสมือนญาติผู้ใหญ่ของเฉียบไม่ชอบหมอลำ(คนลาว)จึงมักจะกดขี่ขับไล่อยู่เป็นประจำ ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสังคม คือ ตัวละครไม่ว่าจะเป็นตัวละครเอกคือ เฉียบ หรือแม้แต่ หมอลำ ก็ต่างต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ตนดำเนินชีวิตอยู่ได้ อีกทั้งยังมีตัวละครอื่น ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องทำให้เกิดความขัดแย้งหนักขึ้นไปเช่น เจ้าหน้าที่ด่าน ที่รีดไถเงินจากประชาชน เป็นต้น ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติคือเหตุการณ์ภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่องโดยเฉพาะน้ำป่าไหลหลากที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของตัวละครในเรื่อง จนกระทั่งถึงตอนจบของเรื่อง เหตุการณ์วิกฤติของเรื่องคือการที่ฝ่ายน้าสิงห์ได้ไปไล่พวกของหมอลำให้ออกจากพื้นที่และทะเลาะวิวาทกันต่อหน้าพวกคนลาวพวกของหมอลำโดยที่เฉียบไม่ช่วยห้าม จึงนำไปสู่การตัดสินใจคือจุดไคลแมกซ์ของเรื่องนั่นคือการที่หมอลำและหยอยตัดสินใจลอบยิงน้าสิงห์โดยใช้ปืนที่ยืมมาจากเฉียบ จุดจบของเรื่องคือการที่เฉียบต้องตามหาตัวหมอลำและหยอย เพื่อนของตนเพราะเฉียบถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้รู้เห็นและวางแผนกันฆ่าน้าสิงห์สุดท้ายแล้วเฉียบก็ตามหาเพื่อนทั้งสอง จนเจอและเกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าในถ้าในขณะที่เขาทั้งสามก็อยู่ในนั้นโดยที่ไม่มีใครรู้เลยว่าสุดท้ายแล้วเขาทั้งสามมีชีวิตรอดหรือไม่ภาพประกอบ 2.2 เนื้อเรื่องย่อ เนื้อเรื่องของนวนิยายเรื่อง คนหาปลา เป็นเรื่องราวของ เฉียบ ผู้ที่อพยพมาอยู่ที่ “วังน้ำเขียว” พร้อมกับ “แตง” ภรรยาของเขา เขาอพยพมาอยู่ที่นี่เพราะต้องการหนีคดีหนีผู้คนมาอยู่อย่างเงียบ ๆ ที่วังน้ำเขียว เนื่องจากเขาเคยแทงคนอย่างตั้งใจแต่ก็หลุดคดีมาได้เพราะใช้เงินติดสินบนผู้ที่เกี่ยวข้องจนพ้นความผิดจากข้อหากลายเป็นเพียงคำว่า ป้องกันตัว เฉียบมาอยู่ที่นี่โดยได้รับการอุปถัมภ์จาก “น้าสิงห์” ซึ่งถือเป็นผู้มีอิทธิพลของเนื่องจากเขาเป็นผู้บุกเบิกวังน้ำเขียวแห่งนี้และสถาปนาตัวเองเป็นเจ้าของที่นี่ไปโดยปริยาย ในวังน้ำเขียวแห่งนี้ มีผู้อพยพมาอยู่เสมอกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มของ “หมอลำ” หรือที่พวกเขาเรียกกันว่าคนลาว ซึ่งน้าสิงห์ไม่ชอบพวกคนลาวจึงกดขี่ข่มเหงสารพัดโดยหวังให้หมอลำและพวกย้ายออกไปซึ่งน้าสิงห์ให้เหตุผลกับญาติของตนว่าที่ทำเช่นนี้เพราะต้องการรักษาทรัพยากรคือปลาในน้ำไว้ให้คนวังน้ำเขียว ในขณะที่ฝ่ายหมอลำกับหยอยก็เป็นเพื่อนของเฉียบ เฉียบ จึงเปรียบเสมือนคนกลางของทั้งสองฝ่าย เฉียบเองนอกจากมีความลำบากใจที่ต้องเป็นคนกลางของความขัดแย้งเขาเองก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกันเขามีความขัดแย้งกับเถ้าแก่ชัยซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เจ๊กที่เข้ามารับซื้อปลาในวังน้ำเขียว ครั้งหนึ่งที่เฉียบไม่ยอมขายปลายี่สกที่หาได้ให้กับเถ้าแก่ชัยเพราะรู้ว่าเถ้าแก่ชัยจะเอาไปให้พวกเจ้าหน้าที่ด่านหรือการติดสินบนเจ้าหน้าที่ด่านเพื่อการค้านั่นเอง ทำให้เขาพาแตงภรรยาของเขาซึ่งจะคลอดลูกออกจากด่านไปไม่ได้เพราะเถ้าแก่ชัยได้บอกชื่อของเฉียบไว้กับเจ้าหน้าที่ด่านอีกทั้งเขามีเสพติดติดตัวไปด้วยจึงถูกค้นเจอทำให้เฉียบนอกจากจะพาแตงไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลในเมืองไม่ได้แล้วเขายังต้องเสียเงินที่เขาเก็บมาทั้งชีวิตให้กับเจ้าหน้าที่ด่านด้วย ทำให้เขามีความขัดแย้งกับเถ้าแก่ชัยแม้เถ้าแก่ชัยจะเข้ามาขอโทษและขอชดใช้ให้ในภายหลังเขาก็ไม่ยอมรับคำขอโทษนั้น ฝ่ายหมอลำกับน้าสิงห์ก็ยังคงขัดแย้งกันอยู่ก่อนที่เรื่องจะบานปลายน้าสิงห์ได้ไปรังแก กดขี่ หมอลำ ถึงที่พักของพวกคนลาว ในขณะที่เฉียบก็อยู่ร่วมในเหตุการณ์แต่ด้วยความหึงหวงภรรยาที่น้าสิงห์พยายามเป่าหูเขาว่าหมอลำชอบภรรยาของเขา เขาจึงไม่เข้าไปช่วยห้ามเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทในครั้งนั้น ทำให้หมอลำและหยอยที่ถูกน้าสิงห์รังแกอยู่ร่ำไปนั้นตัดสินใจตอบโต้คืนด้วยการลอบยิงน้าสิงห์จนเสียชีวิตโดยใช้ปืนที่ยืมมาจากเฉียบ โดยที่เฉียบไม่รู้เรื่องด้วยแต่กลับโดนกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการฆ่าน้าสิงห์ เฉียบจึงตามหาเพื่อนทั้งสองของตนอยากให้ไปยอมรับผิดและมอบตัวในขณะที่ทั้งสามคุยกันอยู่ในถ้ำก็เกิดน้ำป่าไหลหลากและเรื่องราวก็จบอยู่เพียงเท่านั้นโดยที่ไม่รู้เลยว่าสุดท้ายแล้วทั้งสามคนเป็นตายร้ายดีอย่างไร 2.3 แก่นหลักของเรื่อง แนวคิดสำคัญของเรื่องสะท้อนผ่านลักษณะนิสัยและการกระทำของตัวละครแต่ละตัวในเรื่องโดยพยายามสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างทางชนชั้นความแตกต่างในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมที่คนบางกลุ่มก็อยู่เพียงเพื่อต้องการพื้นที่ในการดำรงชีวิตเพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอดเท่านั้น บางกลุ่มก็ดำเนินชีวิตอยู่ในระดับกลาง ๆ ไม่ร่ำรวยแต่ก็ไม่ขัดสนมีผู้มีอิทธิลคอยอุปถัมภ์ อีกกลุ่มหนึ่งก็อยู่เพื่อต้องการผลประโยชน์ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ บางกลุ่มก็ใช้อำนาจหน้าที่ในการเบียดเบียนผู้อื่น ในขณะที่อีกบางกลุ่มก็เที่ยววางอำนาจบาตรใหญ่คอยรุกราน กดขี่ ข่มเหงผู้อื่น สุดท้ายแล้วเมื่อผู้ถูกกดขี่ข่มเหงไม่ยอมอ่อนข้อให้โดนรังแกอยู่ร่ำไปก็ตอบโต้เอาคืนอย่างแสนสาหัส นำไปสู่โศกนาฏกรรมในที่สุด 2.4 แก่นรองของเรื่อง นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างและโครงสร้างทางสังคมแล้วนวนิยายเรื่อง “คนหาปลา” ยังสะท้อนให้เห็นถึงสงครามการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติของผู้คนด้วย โดยในเรื่องคือการแย่งชิงปลาในเขตวังน้ำเขียวและแย่งชิงที่อยู่อาศัยดังเช่นที่ หมอลำ มักถูกขับไล่ให้ออกไปจากวังน้ำเขียวอยู่เป็นประจำ และในเรื่องนี้ยังสะท้อนความสัมพันธ์อันซับซ้อนของกลุ่มชุมชนข้ามชาติพันธุ์ทั้งชาติไทย(คนวังน้ำเขียว) คนลาว และคนเจ๊ก ซึ่งมีทั้งด้านที่แข่งขันแย่งชิงกันและด้านที่ช่วยเหนือแบ่งปันกัน ซึ่งความสัมพันธ์นี้จะเป็นไปเช่นไรจะเกื้อกูลแบ่งปันกันอยู่ร่วมกันอย่างสันติหรือขัดแย้งรุนแรงก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญมิใช่ชาติพันธุ์ อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นโครงสร้างทุนและรัฐที่เข้ามาสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันดังที่สะท้อนผ่านเถ้าแก่ชัยและด่านเจ้าหน้าที่ที่ขูดรีด รีดไถอยู่ด้านนอกระหว่างทางไปเมืองภาพประกอบ 2.5 คุณค่าและการประยุกต์ใช้ คุณค่าของนวนิยายเรื่อง “คนหาปลา” นอกจากได้สะท้อนแง่คิดสำคัญในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะแง่คิดด้านสังคมแล้ว ยังให้คุณค่าด้านเนื้อหาสาระโดยในเรื่องสะท้อนความคิดความเป็นอยู่ของตัวละครแต่ละกลุ่มได้อย่างชัดเจนภายใต้ฉากและบรรยากาศที่ดูเรียบง่ายไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากนักแต่ในทางกลับกันผู้เขียนได้ซ่อนนัยะสำคัญไว้อย่างแยบยลโดยมีการใช้กลวิธีทางภาษาที่เป็นภาษาระดับกึ่งทางการและระดับกันเองทำให้ผู้อ่านเข้าถึงตัวละครแต่ละตัวได้มากขึ้น ใช้เหตุการณ์เพียงไม่กี่ฉากไม่กี่เหตุการณ์แต่สามารถสร้างเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจและ ให้คุณค่าแก่ผู้อ่านอย่างมากคือมีคุณค่าทั้งทางด้านเนื้อหาสาระที่สะท้อนสังคมและมีคุณค่าด้านการใช้กลวิธีในการประพันธ์ จึงนับว่าเป็นนวนิยายเรื่องหนึ่งที่สมควรและควรค่าต่อการติดตามอย่างมาก จากปมขัดแย้งของเรื่องคือ การกดขี่ข่มเหง ที่ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาในภายหลังนั้น สามารถนำข้อคิดจากปมขัดแย้งนี้ไปประยุกต์ใช้กับตนเองได้ว่า เราไม่ควรที่จะรังแกหรือกดขี่ข่มเหงใคร ถึงแม้เขาจะไม่ตอบโต้กลับก็ใช่ว่าเขาจะอดทนต่อการกดขี่เช่นนั้นได้เสมอไป เมื่อถึงวันใดวันหนึ่งที่ความอดทนของผู้ที่ถูกรังแกหมดไปเขาอาจระเบิดความแค้นใจที่เก็บเล็กเก็บน้อยไว้อย่างยาวนานนั้นออกมาจนกระทั่งนำไปสู่จุดจบที่ไม่งดงามได้ ฉะนั้นแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดของการอยู่ร่วมกันในสังคมจึงเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แบ่งปันกัน และมีมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน แสดงออกแต่สิ่งที่ดีต่อกันทั้งการกระทำและคำพูด หากสามารถทำได้ดังนี้ไม่ว่าจะเป็นสังคมที่แร้นแค้นสักเพียงใดก็จะร่ำรวยไปด้วยน้ำใจส่งผลให้ทุกคนในสังคมในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข