วิธีเลือกซื้อสวนยางพารา ลงทุนทำการเกษตร ในภาคอีสาน / บทความโดย Pchalisaหลายครั้งเรามักได้ยินคำพูดที่บอกว่า “การที่เราจะมีอิสรภาพทางการเงินได้นั้น เราต้องคิดเรื่องการลงทุน” ซึ่งการลงทุนนั้นก็จะต้องได้กำไรและไม่ขาดทุนด้วยนะคะ มันถึงจะทำให้เรามีเงินมีทองได้ ที่ผ่านมาค่อนชีวิตผู้เขียนก็เป็นเหมือนหลายๆ คนในตอนนี้ค่ะ ที่ก็แค่ทำงานแล้วได้เงินและก็คิดแค่เรื่องการใช้เงิน แต่ลึกๆ ในใจก็อยากมีเครื่องผลิตเงินให้ตัวเองอยู่เหมือนกัน หรือเอาเงินไปทำงานแทนบ้าง ที่บางคนพูดจนติดปาก ซึ่งตลอดเวลาผู้เขียนก็คิดมาตลอดค่ะ แต่โอกาสก็ยังริบหรี่และยังมองไม่เห็นว่าจะเริ่มต้นยังไงดีจนเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้ตัดสินใจค่ะ การตัดสินใจทำให้ขั้นตอนต่อไปปรากฏขึ้นจริงๆ ค่ะ โดยได้ลงทุนซื้อที่ดินเพื่อการเกษตร ในรูปแบบของการซื้อสวนยางพาราที่สามารถกรีดยางและทำรายได้ได้เลยตั้งแต่วันแรก โดยให้คนในครอบครัวกรีดยางให้และแบ่งค่าตอบแทนจากการขายน้ำยางกันในทุกครั้งค่ะ โดยผู้เขียนมองว่าหากต้นยางพาราสามารถทำเงินได้เลย อย่างน้อยผู้เขียนก็ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ แต่ทุนอาจจะสูงหน่อยก็ต้องมองให้ออกนะคะ ที่เกิดจากราคาที่ดิน เงินที่จะได้จากการขายต้นยางในตอนท้าย และจำนวนรายได้จากการกรีดน้ำยางในช่วงที่ต้นยางสามารถให้น้ำยางได้มาขาย ซึ่งสวนยางพารานี้คืองานแรกในชีวิตค่ะ ที่ก็ถือว่าท้าทายมากพอสมควรและเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่ทางบ้านมีประสบการณ์แทนแต่ในบทความนี้ผู้เขียนยังอยากจะส่งต่อการคัดเลือกสวนยางพาราจากประสบการณ์ตรงค่ะ จากคนที่มีความรู้เรื่องดิน สิ่งแวดล้อมและทางบ้านทำสวนยางพาราด้วยนั้น ที่อาจจะมองกันคนละแบบกับนักลงทุนที่มาในคราบของนักธุรกิจเพียงอย่างเดียว ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนก็ยังไม่ลืมคิดเรื่องของเงินๆ ทองๆ ที่จะได้กลับคืนมาเหมือนกันค่ะ โดยในส่วนของผู้เขียนนี้อาจจะไม่เครียดมาก เพราะลงทุนด้วยเงินของตัวเอง 100% แบบไม่ได้กู้ยิมเงินใครเลย และได้สวนยางพาราพร้อมกรีดทำเงิน เนื้อที่จำนวน 15 ไร่ กับอีก 4 ตารางวา และต่อไปนี้คือแนวทางเลือกสวนยางพาราในภาคอีสานค่ะ1. ดูลักษณะของต้นยางต้นยางพาราที่ผู้เขียนมองว่าเป็นต้นยางพาราที่มีสุขภาพดีนั้น คือต้นจะต้องมีความสูงพอสมควรที่มาพร้อมกับกิ่งก้านที่ค่อนข้างหนา ลองนึกภาพแบบนี้ค่ะว่า เมื่อกิ่งก้านมากการสังเคราะห์แสงก็ต้องเกิดขึ้นได้มากกว่าต้นเตี้ยและต้นที่ไม่โต ซึ่งสวนยางพาราแบบที่ผู้เขียนซื้อมานี้ยังทำให้เดาได้ต่ออีกด้วยว่า จำนวนของต้นยางก็จะมากตามไปด้วยจากที่มันถี่ พอเป็นแบบนี้ต้นยางพาราจะพยายามโต และเหยียดยาวมากกว่าปกติเพื่อหันหาแสงแดดนะคะ และถ้าเจ้าของสวนคนเก่าเขาสามารถบำรุงรักษาต้นยางพาราได้ สวนยางพาราก็จะสูงยาว เสมอกันและดูสวยงามดีค่ะ 2. สอบถามเกี่ยวกับอายุของต้นยางแน่นอนค่ะว่าเราจะลืมเรื่องนี้ไม่ได้เลย เพราะอายุของต้นยางมีผลต่อระยะเวลาที่เราจะทำเงินได้ ในช่วงที่ต้นยางพาราสามารถให้น้ำยาง ซึ่งราคาของสวนยางพาราก็จะสอดคล้องกับอายุของต้นยางด้วยนะคะ โดยในประเด็นนี้ในวันที่ผู้เขียนไปดูสวนยางพารานั้น ก็ได้ให้ทางบ้านไปด้วยค่ะ คล้ายๆ คนจะซื้อรถมือสองแล้วพาช่างไปดูด้วยอะไรประมาณนั้น ซึ่งสวนยางพาราที่ผู้เขียนได้ซื้อมานั้น สามารถกรีดได้อีกหลายปีจนลืมค่ะ แต่ประเด็นนี้ก็ยังเกี่ยวข้องกับการดูแลบำรุงสวนของเราด้วย และถ้าเกิดมีภาวะโลกร้อนจัดแบบนี้ต้นยางพาราอาจมีตายได้ ซึ่งนี่ก็เป็นความเสี่ยงที่สามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ ที่ก็จะคล้ายกับการลงทุนทุกอย่างที่ก็มีความเสี่ยงจำเพาะเจาะจงไปในแต่ละอย่าง อย่างไรก็ตามหากใครกำลังต้องการจะซื้อสวนยางพารา เรายังสามารถนำอายุของต้นยางมาประเมินได้คร่าวๆ ด้วยว่าเขาขายแพงหรือถูกนะคะ หรือจะต่อรองขอลดราคาอะไรยังไงก็ยังทำได้ด้วยจากอายุของต้นยางพาราค่ะ3. ใกล้กับแหล่งชุมชนหรือคนทำงานสวนยางใกล้เคียงถึงแม้ว่าผู้เขียนจะไม่ได้เข้าไปทำงานที่สวนยางพาราด้วยตัวเอง แต่การที่สวนของเรามีเพื่อนสวนยางพาราใกล้เคียงเป็นประเด็นที่ถือว่าสำคัญนะคะ เพราะการทำงานในสวนยางพาราจำเป็นต้องทำงานในตอนกลางคืน หรือไม่ก็ทำงานในช่วงเช้ามืด การมีผู้คนในละแวกเดียวกันมันดีค่ะ เพราะนอกจากจะทำให้คนทำงานในสวนยางพาราไม่น่ากลัวแล้ว หากเกิดเหตุการณ์บางอย่างผู้คนก็ยังสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ และการมีผู้คนพลุกพล่านยังเป็นตัวชี้วัดด้วยว่า สวนยางพาราของเราอยู่ในเขตเมืองค่ะ เพราะลองนึกภาพว่าสวนยางพาราถูกมากแต่วันทั้งวันแทบจะไม่มีคน แบบนี้เราก็อาจเดาได้ต่อว่าเอ๊ะ! หรือว่ามีช้างป่ามาคนเลยไม่กรีดยางกัน แบบนี้ถ้าเราไปซื้อเราก็อาจเจอปัญหาใหม่ต้องมานั่งแก้นะคะสำหรับสวนยางพาราที่ผู้เขียนซื้อมาคือติดทางสาธารณประโยชน์สองฝั่ง ห่างจากสวนยางพาราของพ่อของผู้เขียน เดินประมาณ 10 นาทีถึงค่ะ และไม่ไกลจากสวนยังเป็นทางหลวงชนบท ที่เป็นถนนแนวคลองส่งน้ำของเขตชลประทาน เดินประมาณ 200 เมตรค่ะ ห่างจากที่ตรงนี้ไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตรเป็นหมู่บ้านที่มีบ้านเรือนเริ่มกระจายตัวออกมาบ้างแล้ว มีคนมาทำสวนยางใกล้เคียงหน้าและหลัง แถมด้านซ้ายมือเป็นสวนยางพาราของคุณตำรวจท่านหนึ่งในอำเภอด้วยค่ะ 4. มีถนนและเส้นทางเข้าออกมีถนนตรงไหนเราก็ไปได้ทุกที่ค่ะ และถนนกับสวนยางพารายังสำคัญห้ามแยกออกจากกัน เพราะนอกจากเราจะต้องไปกรีดยางพาราให้ไหลออกมาแล้ว การขนยางพาราไปขาย การที่คนทำงานเดินทางไปทำงานให้เรา การที่ตัวเราเองจะต้องแวะเวียนไปสอดส่องในสวนของเรา ทั้งหมดนี้จะเกิดได้แบบสบายใจก็คือต้องมีถนนเข้าออกได้สะดวกค่ะ และแน่นอนว่าถนนที่เป็นทางสาธารณประโยชน์ผู้เขียนก็ไม่มองข้ามค่ะ โดยที่สวนมีพื้นที่ติดถนนสองฝั่งค่ะ เป็นพื้นที่หัวมุมตรงทางแยกพอดีๆ และถนนที่ว่านี้ก็มีระบุไว้ในโฉนดที่ดินด้วยเหมือนกันค่ะ โดยถนนเส้นนี้ไปได้หมดนะคะ ตั้งแต่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถซาเล้ง รถกระบะ รถจักรยาน รถอีแต๋น รถอีแต๊ก ตลอดจนรถแทรกเตอร์คูโบต้านู่นเลยค่ะ5. สามารถไปที่รับซื้อยางพาราได้ง่ายๆ จากสวนยางพาราของผู้เขียนไปที่รับซื้อยางพาราแบบก้อนในราคาประมูล ใช้เวลา 5 นาทีค่ะ และสำหรับที่ที่รับซื้อยางพาราแบบรีดเป็นแผ่นนั้น ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 นาที ซึ่งที่ขายยางพาราสำคัญค่ะ เพราะถ้าไกลเกินไปเราก็จะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และถ้าต้องขนหลายรอบก็จะทำให้เราทำงานยากเข้าไปอีก ต้องใช้เวลานานขึ้นนะคะ ใกล้ไว้ยังไงก็ดีกว่าค่ะ6. ประเมินลักษณะของดินคร่าวๆ “พืชงามเพราะดินดี” คำพูดนี้ยังใช้ได้ทุกยุคทุกสมัยค่ะ เพราะดินคือที่รวมของธาตุอาหารในดิน ที่มีผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของต้นยางพารา และต้นยางงาม น้ำยางก็จะได้ดีด้วยนะคะ ดังนั้นควรให้ความสำคัญกับการเลือกดินค่ะ โดยสวนยางพาราของผู้เขียนนั้นเป็นดินร่วนปนทราย เจ้าของเดิมเน้นการบำรุงดินจากอินทรีย์วัตถุเป็นหลัก เช่น ปุ๋ยคอก เศษใบไม้ เศษกิ่งต้นยาง เป็นต้น และผู้เขียนยังได้สังเกตความอุดมสมบูรณ์ของดินภายในสวนด้วยตัวเองด้วยค่ะ พบว่า มีความหลากหลายพอสมควร มีสมุนไพรและพืชผักหลายอย่างเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีเห็ดเกิด มีสัตว์และแมลงที่เกี่ยวข้องกับการย่อยสลายสารอินทรีย์ ที่มีผลต่อลักษณะของดินค่อนข้างหลากหลาย ได้แก่ ไส้เดือนดิน หอยทาก กิ้งกือ ปลวก เป็นต้น7. ดูความลาดเอียงของพื้นที่นอกจากราคาสวนยางพาราแล้วนะคะ ความลาดเอียงของพื้นที่ก็สำคัญไม่แพ้กับข้ออื่น เพราะถ้าพื้นที่มีความลาดเอียงมากเกินไป แบบนี้พอฝนตกลงมาธาตุไนโตรเจนในดินไหลหนีหมดค่ะ อีกทั้งถ้าที่ดินเป็นที่ลุ่มแบบนี้เดี๋ยวมีน้ำท่วมขังอีก ดังนั้นอย่าลืมใช้สายตาเรากวาดดูคร่าวๆ ได้ค่ะ ยังไม่ต้องส่องกล้องดูระดับผิวดินก็ได้ ซึ่งพื้นที่ของผู้เขียนนั้นได้เดินลงไปดูด้วยตัวเองตลอดทั้งแปลงค่ะโดยภาพรวมคือพื้นดินอยู่ในระดับเดียวกัน บางจุดมีความลาดเอียงไม่มากค่ะ คือถ้าเราเห็นเป็นทางน้ำไหลแล้วพื้นดีเป็นร่องลึกแบบนี้ก็เดาได้เหมือนกันว่าลาดเอียงมากเกินไป น้ำจะกัดเซาะสวนยางพาราของเรา จนทำให้ระดับเสียและดินพังและทรุดตัว พอแบบนี้ต้นยางจะโค่นง่าย แล้วเราต้องมาค้ำยัน ถ้าทำได้ต้นยางก็รอด แต่ถ้าทำไม่สำเร็จต้นยางก็ตายค่ะ และก่อนมันจะตายเราก็ต้องมากรีดยางจากต้นยางที่ล้มในแนวนอนแทน ดีไม่ดีเกิดล้มทับต้นอื่นอีก แบบนี้เราก็จะได้ปัญหาใหม่ต้องมานั่งแก้ในภายหลัง8. พิจารณาการให้น้ำยางนอกจากเราจะขายที่ดินต่อ และขายต้นยางในตอนท้ายแล้ว สิ่งที่จะเปลี่ยนเป็นเงินได้อีกอย่างคือน้ำยางค่ะ ดังนั้นเราต้องไม่ลืมเรื่องนี้เด็ดขาด โดยในวันก่อนที่จะตกลงซื้อสวนยางนั้น ผู้เขียนได้สอบถามกับเจ้าของสวน แต่ได้ข้อมูลมาเพียงบางส่วน เพราะดูเหมือนกับว่าคนเก่าที่ทำงานที่สวนยางนี้ไม่ได้มากรีดยางแบบสม่ำเสมอ จากนั้นผู้เขียนได้ให้ที่บ้านเข้าไปประเมินช่วย และยังได้สอบถามข้อมูลจากคนที่มีสวนยางพาราใกล้เคียง ได้ข้อมูลมาว่าสวนยางพาราที่ผู้เขียนไปซื้องามดี สามารถให้น้ำยางได้อีกนาน และคุ้มค่าแน่นอน ซึ่งในใจเราก็คาดหวังแบบนั้นเหมือนกันค่ะ และก็เอาสัญชาตญาณของตัวเองช่วยตัดสินด้วย ก็เลยตัดสินใจซื้อมาค่ะ และจากที่ได้เปิดหน้ายางมาแล้วเข้าสัปดาห์ที่สอง ถึงตอนนี้โดยส่วนใหญ่ต้นยางพาราที่สวนให้น้ำยางเกินครึ่งถ้วยแล้วค่ะ ก็จบแล้วค่ะ กับแนวทางเลือกสวนยางพารา เอาไว้เป็นแหล่งทำเงินเข้ากระเป๋าอีกทาง จะว่าเป็นทั้งการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์คูณสองก็ได้ คือ ได้ทั้งที่ดินและต้นไม้ยืนต้น และยังถือเป็นการลงทุนในการเกษตรในเวลาเดียวกันด้วยค่ะ ที่เป็นข้อมูลที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์ของผู้เขียนเองเลย ที่ไม่ได้มองแค่ว่าบรรทัดแรกลบบรรทัดสุดท้ายได้กำไรเท่าไหร่เท่านั้นนะคะ แต่ครอบคลุมอีกหลายด้านมาก ซึ่งผู้เขียนมองว่านักธุรกิจหลายคนก็อาจพลาดบางประเด็นในนี้ไปก็เป็นไปได้ ที่บางทีมันก็ต้องอาศัยการเข้าใจและเข้าถึงร่วมด้วยค่ะ ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย และถ้าชอบบทความแบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ🙂เครดิตภาพประกอบบทความภาพหน้าปกและภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียนออกแบบภาพหน้าปกใน Canvaเกี่ยวกับผู้เขียนภัคฒ์ชาลิสา จำปามูลศึกษาเกี่ยวกับ: พยาบาลศาสตรบัณฑิต (B.N.S.) จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม); M.P.H. (Environmental Health) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดย Pchalisa https://news.trueid.net/detail/rR6Oyyo9eWP4 https://intrend.trueid.net/post/364688 https://intrend.trueid.net/post/356992 เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !