รีเซต

โควิด กทม. ยังขาขึ้น หอพักนศ.-แฟลตตร. แนวโน้มสูง เผยเหตุติดเชื้อพุ่ง

โควิด กทม. ยังขาขึ้น หอพักนศ.-แฟลตตร. แนวโน้มสูง เผยเหตุติดเชื้อพุ่ง
ข่าวสด
13 มกราคม 2565 ( 13:21 )
64
โควิด กทม. ยังขาขึ้น หอพักนศ.-แฟลตตร. แนวโน้มสูง เผยเหตุติดเชื้อพุ่ง

สธ. ย้ำ ตัวเลขโควิด กทม. ยังเป็นขาขึ้น วันนี้ป่วยใหม่ทะลุ 900 ราย เผยสาเหตุติดเชื้อสูง ระบุ หอพักนักศึกษา-แฟลตตำรวจเริ่มพบติดเพิ่ม

 

วันที่ 13 ม.ค.2565 นพ.สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผอ.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 พื้นที่ กทม. ว่า สถานการณ์โควิด 19 ประเทศไทยวันนี้รายงานติดเชื้อ 8,167 ราย หายป่วย 3,845 ราย เสียชีวิต 14 ราย อัตราเสียชีวิตระยะหลังทรงตัวและต่ำลง โดยพบผู้ติดเชื้อในประเทศพบ 7,928 คน และมาจากต่างประเทศ 239 คน

 

นพ.สุทัศน์ กล่าวต่อว่า ส่วนพื้นที่ กทม. วันนี้รายงานป่วยใหม่ 939 ราย เสียชีวิต 3 ราย และรักษาหาย 300 กว่าราย การกระจายตัวของการเจ็บป่วยอยู่ในทุกกลุ่มอายุและทุกเขตของ กทม. แต่บางจุดเป็นสีแดงมีอัตราการป่วยสูงกว่าโซนอื่น ๆ ส่วนผู้เสียชีวิตใน กทม. ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2564-6 ม.ค.2565 จำนวน 6,898 ราย พบว่า 61% ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือรับไม่ครบ ส่วนผู้ที่รับวัคซีนป่วยแล้วเสียชีวิตอัตราค่อนข้างต่ำ ประมาณ 13.6%

 

นพ.สุทัศน์ กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อใน กทม.ที่พบเยอะ คือ 1.พื้นที่เสี่ยงและแหล่งชุมชน คือ สถานที่ปิด ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารกึ่งผับกึ่งบาร์ ที่ขออนุญาตเปิดปรับปรุงเป็นร้านอาหารปกติ ทำให้รับประทานอาหารได้ถึงเวลา23.00 น. แม้จะมีมาตรการจำกัดการจำหน่ายและดื่มแอลกอฮอล์ถึงเวลา 21.00 น. แต่เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้อากาศปิด การวางรูปแบบไม่ได้เป็นร้านอาหารที่การระบายอากาศที่ดี ทำให้เป็นพื้นที่เสี่ยงเพิ่มขึ้น

 

"ที่เริ่มพบรายงานมากขึ้น คือ ในหอพักที่มีลักษณะแออัด เช่น หอพักนักศึกษา และแฟลตตำรวจ เริ่มมีรายงานมากขึ้น เน้นย้ำประชาชนเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงเหล่านี้ หากอาศัยในแหล่งพื้นที่เสี่ยงให้พยายามแยกตัว ปฏิบัติตามมาตรการที่ สธ.แนะนำอย่างเคร่งครัด" นพ.สุทัศน์กล่าวและว่า 2.กลุ่มที่สัมผัสผู้ป่วยยืนยันหรือพบผู้ป่วยยืนยัน พยายามแนะนำตรวจคัดกรองตัวเอง หากตัวเองป่วยให้แยกออกจากผู้ใกล้ชิด และเข้ารับการดูแลรักษาให้เร็วที่สุด

 

นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า กทม.ขณะนี้มีการระบาดเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง คือ 1.ร้านอาหารกึ่งปิดที่ปรับมาจากผับบาร์ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีการระบาดมากกว่า 5 รายขึ้นไป ขอให้ประชาชนหากจะเข้าใช้บริการให้ดูความแออัด และดูมาตรฐานที่กำกับ เช่น SHA+ COVID Free Setting หากผู้รับบริการพบว่าร้านหลีกเลี่ยงหรือจงใจหลีกเลี่ยง ให้แจ้งพื้นที่ ซึ่งเราอาจจะถอนเรื่องการรับรองมาตรฐานการเปิดบริการ 2.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และด่านหน้าที่พบการติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่รับเชื้อจากชุมชน บุคคลใกล้ชิด ไม่ได้รับเชื้อจากการเข้ารับบริการของผู้ป่วย และ 3.กลุ่มผู้มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน

 

นพ.สุทัศน์ กล่าวต่อว่า มาตรการด้านสาธารณสุข คำแนะนำสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการ คือ หลีกเลี่ยงสถานที่ระบายอากาศไม่ดี สถานที่แออัด งดร่วมกิจกรรมเป็นเวลานานที่ไม่สวมหน้ากาก เช่น วงเหล้า ชะลอการเดินทางหากไม่จำเป็น หากกลับต่างจังหวัดสังเกตอาการตนเอง 14 วัน ใช้มาตรการทำงานที่บ้าน หากมีอาการสงสัยให้รีบตรวจ ATK และหากผลเป็นบวกให้ประสาน 1330 เพื่อลงทะเบียนเข้าระบบดูแลที่บ้าน (Home Isoaltion :HI)

 

ซึ่ง สธ.และหลายหน่วยงานเปิดบริการ HI แล้ว และเตรียมเตียงรองรับหากดูแลแบบ HI แล้วอาการเปลี่ยนแปลง และเร่งไปฉีดวัคซีนทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้น โดย กทม.เปิดพื้นที่บริการ 20 กว่าจุดเพื่อให้บริการ และทุกจังหวัดก็มีวัคซีนบริการ ช่วงนี้จะสะดวกมากขึ้น บางแห่งไม่ต้องลงทะเบียนก็วอล์กอินได้ ส่วนสถานประกอบการขอให้ทำตาม COVID Free Setting หากพบผู้ให้บริการติดเชื้อให้ดูแลแบบ Bubble&Seal รวมถึงในโรงงาน

 

การเข้าถึงระบบ HI ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงระบบที่รองรับ เพราะ กทม.เปิดระบบ HI ทุกเขตทุกพื้นที่ มียารักษา อุปกรณ์เพื่อติดตามดูแลตัวเอง แต่น่าจะเป็นเรื่องการติดต่อเพื่อลงทะเบียน 1330 ซึ่ง สปสช. ดำเนินการแก้ไขในเรื่องนี้ คาดว่าในระยะเวลาอันสั้น น่าจะรับโทรศัพท์ได้ตามปกติ การกระจายทำ HI น่าจะดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง หลังทำ HI กทม.ทำการเปิดบางพื้นที่ที่เป็น CI เตรียมเตียงรองรับเรื่องนี้ไว้แล้ว

 

นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า ส่วน รพ.สนามใน กทม.นั้น กทม.ยืนยันว่ามีความพร้อมแน่นอน และบางส่วนยังไม่เคยปิดดำเนินการ ยังดำเนินการอยู่ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งอยู่ในสถานะ Standby Mode พร้อมเปิดตลอดเวลา

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงแนวโน้มการติดเชื้อใน กทม. ที่บางวันลดลงมาก แต่บางวันก็ติดเชื้อขึ้นไปเกือบ 2 เท่า นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า แนวโน้มตัวเลขขึ้นแน่ ๆ โดยมีกลุ่มเสี่ยงจาก 2-3 กลุ่มดังกล่าว แต่ กทม.มีปัญหาคือ มีผู้อาศัยปริมณฑล พอป่วยแล้วพยายามเข้ามารักษาใน กทม. และมีบริษัทห้างร้านรอบ ๆ กทม. ที่มีสัญญาดูแลรักษาสถานพยาบาลเอกชน จะมีผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้ามาใน กทม.มากเหมือนกัน ทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้น

 

เมื่อถามถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อ 47 ราย ของ กทม. ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มใด รับวัคซีนครบหมดแล้วหรือไม่ นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า บุคลากรที่ติดเชื้อดังกล่าวอยู่ในช่วงคร่อมปีใหม่ คือ ปลาย ธ.ค. 64 ถึง ม.ค. 65 ก็มีหลายวิชาชีพ แต่ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรด่านหน้า มีทั้งสถานพยาบาลภาครัฐ เอกชน โรงเรียนแพทย์ การติดเชื้อยังมาจากการชุมชนและคนใกล้ชิด ยังไม่พบการติดเชื้อจากการให้บริการ

 

เนื่องจากบุคลากรก็มีพฤติกรรมเหมือนประชาชนทั่วไป ที่มีการเฉลิมฉลอง มีการใช้ชีวิตซึ่งบุคลากรที่ติดเชื้อยังไม่ถึงขั้นน่ากังวลหรือมีการปิดวอร์ดหรือกระทบการรักษาพยาบาล เมื่อพบการติดเชื้อก็มีการแยกกักตัวกันออกไป แต่เนื่องจากบุคลารกมีความเสี่ยงสูง และเราไม่อยากให้มีการติดเชื้อในสถานพยาบาล ทางคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. จึงทำจดหมายไปยังสถานพยาบาลทุกแห่งใน กทม. เน้นย้ำให้ทุกแห่งเพิ่มความระมัดระวังในการดูแลผู้ป่วยสงสัยโควิด 19

 

"ส่วนบุคลากรที่ติดเชื้อนั้นรับวัคซีนเข็ม 3 กันไปแล้ว ส่วนเข็ม 4 ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลแต่ละแห่ง อย่างไรก็ตาม วัคซีนช่วยลดโอกาสเสี่ยงติดเชื้อแต่ไม่ 100% แต่ลดความรุนแรงของโรค จากรายงานบุคลากรที่ติดเชื้อก็อาการไม่รุนแรง ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงยังคงกักตัว 14 วัน แต่ก็จะปรับลดวันกักตัวลง" นพ.สุทัศน์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง