สมัยนี้ไม่ว่าใครก็ต้องรู้จัก สารานุกรม (Encyclopedia) ด้วยกันทั้งนั้น แม้ส่วนใหญ่เราจะเห็นสารานุกรมแบบออนไลน์มากกว่าสารานุกรมชนิดเล่มหนาเป็นตั้งแบบสมัยก่อน แต่สารานุกรมถือเป็นแหล่งข้อมูลที่ครบครัน เด็กวัยเรียนต่างก็พึ่งพาข้อมูลจากสารานุกรมด้วยกันทั้งนั้น แม้ว่าอาจารย์หลายท่านคอยย้ำเตือนเราอยู่เสมอว่า วิกิพีเดียประเทศไทยมีข้อมูลทั้งจริงและไม่จริง ต้องกรองข้อมูลให้ถี่ถ้วนก่อนนำมาใช้ เพราะมีข้อเสียตรงที่ใครก็สามารถเข้าไปแก้ไขได้โดยไร้การตรวจสอบ แต่ในหลายประเทศ เว็บไซต์สารานุกรมมีมาตรฐานการตรวจสอบที่ถูกต้องอยู่พอสมควร อย่างผู้เขียนเองสมัยที่ทำวิทยานิพนธ์ หลายครั้งได้อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์สารานุกรมต่างประเทศอย่าง Britannica.com อยู่บ่อยครั้ง และในต่างประเทศสารานุกรมแบบเล่มก็ยังเป็นแหล่งข้อมูลชั้นเยี่ยมที่มีการปรับปรุงข้อมูลและพิมพ์ซ้ำอยู่โดยตลอดแต่ใครจะไปเชื่อว่า สารานุกรมที่เป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นเลิศในสมัยนี้ จะเคยเป็นตำราต้องห้ามในประเทศฝรั่งเศส ถึงขนาดกับเป็นชนวนเหตุขนาดย่อมในการปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นหนังสือต้องห้ามที่ทำให้ผู้ครอบครองถูกแขวนคอมานักต่อนัก บทความนี้จะพาทุกคนย้อนไปดูประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสารานุกรม ครั้งเมื่อยังเป็นหนังสือต้องห้ามในประเทศฝรั่งเศส ไปดูกันว่าหนังสือเพียงเล่มเดียว จะสามารถพลิกหน้าประวัติศาสตร์และระบอบการปกครองให้เปลี่ยนแปลงไปได้มากขนาดไหนก่อนจะไปดูว่าสารานุกรมกลายเป็นหนังสือเจ้าปัญหาได้อย่างไร ต้องบอกก่อนว่าแนวคิดการทำสารานุกรมมีมาตั้งแต่อารยธรรมกรีกโบราณ ด้วยบรรดานักปราชญ์ยุคนั้นเชื่อกันว่าคนเก่งจริงต้องรู้ให้รอบด้าน เพราะความรู้ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด และเมื่อถอดรากศัพท์ภาษากรีกแล้ว คำว่า Cyclo ก็หมายถึง วงกลม คำว่า Pedia หมายถึง ความรู้ แต่ยุคกรีกยังไม่ได้นำความรู้มาเขียนเป็นหนังสือ เป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น หนังสือสารานุกรมเกิดขึ้นครั้งแรกก็ล่วงมาถึงยุคโรมัน และใช้ชื่อว่า Encyclopedia นั่นเองเมื่อมาถึงยุคกลางของยุโรป แน่นอนว่าศาสนจักรมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของผู้คนยุคนั้นเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งการให้ความรู้ก็ออกไปในทำนองเกี่ยวกับกษัตริย์ ขุนนาง และศาสนา ผู้คนยุคนั้นไม่มีความรู้มากไปกว่าเรื่องราวเหล่านั้น แต่ในที่สุดเรื่องราวก็เกิดขึ้น เมื่อมีชายผู้หนึ่งนามว่า เดนิส ดิเดอโร (Denis Diderot) ผู้ซึ่งท้าทายศาสนจักรด้วยการจัดทำสารานุกรมฉบับรวบรวมความรู้เกี่ยวกับเรื่องอื่น ที่ไม่ใช่สามเรื่องที่ชนชั้นปกครองยัดเยียดให้ประชาชนรู้ ที่สำคัญสารานุกรมฉบับนี้กลายเป็นหนังสือต้องห้ามในฝรั่งเศส แต่มีคุณูปการสำคัญที่ทำให้ประชาชนฝรั่งเศสหลุดพ้นจากยุคมืด และนำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสได้ในที่สุดเรื่องมันมีอยู่ว่า เดนิส ดิโดโร พยายามจะเขียนหนังสือรวบรวมความรู้ขึ้นมาใหม่ โดยตัดทอนเนื้อหาเกี่ยวกับการปกครองระบอบกษัตริย์และขุนนางลงไป ทำให้ประชาชนได้รู้ว่าวิถีชีวิตของชาวบ้านร้านตลาดเขาทำอะไรกันบ้าง คนยุคนั้นไม่ค่อยรู้หลักการประกอบอาชีพอะไรกันเลย เดนิส ดิเดอโรได้สอดแทรกกลเม็ดเคล็ดลับของอาชีพต่าง ๆ ลงไป ไม่ว่าจะเป็นการทำแหจับปลา การตีเหล็ก การปรุงอาหาร แต่ที่ทำให้ศาสนจักรไม่พอใจจนสั่งรื้อค้นสารานุกรมฉบับดิเดอโรมาเผาทำลาย เพราะเขาดันจัดหมวดหมู่ให้เรื่องราวทางศาสนา ไปอยู่กลุ่มเดียวกับเรื่องภูติผีปีศาจ แม่มดมนต์ดำ พระสันตปาปาจึงคิดว่าดิเดอโรกำลังล้มล้างศาสนา ด้วยการทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าศาสนาเป็นเรื่องงมงายเช่นเดียวกับเรื่องภูติผีปีศาจนั่นเองแต่สารานุกรมฉบับนี้พิมพ์ออกมาได้เพียง 2 เล่ม ก็ถูกสั่งห้ามจำหน่าย ห้ามอ่าน ห้ามครอบครอง กลายเป็นหนังสือต้องห้ามที่ใครมีไว้ต้องถูกจับแขวนคอ ดิเดอโรเองที่มีต้นฉบับก็ถูกศาสนจักรสั่งขังคุกและค้นหาต้นฉบับมาเผาทำลาย แต่ได้เจ้าหน้าที่รัฐช่วยไว้และส่งต้นฉบับไปพิมพ์ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แล้วส่งมาขายเป็นหนังสือเถื่อนในฝรั่งเศส ประชาชนที่ถูกห้ามก็ยิ่งกระตุกต่อมคัน ไปหาสารานุกรมฉบับนี้มาแอบอ่านกันทั้งบ้านทั้งเมือง จนในที่สุดจากความรู้หลายแขนงที่ดิเดอโรรวบรวมไว้ ทำให้ฝรั่งเศสหลุดพ้นจากยุคมืดไปสู่ยุคเรืองปัญญา (Enlightment) และความรู้เกี่ยวกับการปกครองในสารานุกรมฉบับนั้นเอง ที่ทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาเพื่อก่อการปฏิวัติฝรั่งเศส เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ในที่สุด นั่นจึงทำให้เราเห็นว่า หนังสือเพียงเล่มเดียวก็สามารถพลิกหน้าประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าทึ่งนั่นเองรูปภาพหน้าปก โดย James L.W : Unsplashภาพประกอบที่ 1 โดย Luke Chesser : Unsplashภาพประกอบที่ 2 โดย Icsilviu : Pixabayภาพประกอบที่ 3 โดย Stocksnap : Pixabayภาพประกอบที่ 4 โดย Mac321 : Pixabay