รีเซต

หอการค้าคาดจีดีพีติดลบ 9.4% ชี้เศรษฐกิจไตรมาส 2 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ พิษโควิดทำเงินหายกว่า 2 ล้านล้าน

หอการค้าคาดจีดีพีติดลบ 9.4% ชี้เศรษฐกิจไตรมาส 2 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ พิษโควิดทำเงินหายกว่า 2 ล้านล้าน
ข่าวสด
3 สิงหาคม 2563 ( 15:48 )
70
หอการค้าคาดจีดีพีติดลบ 9.4% ชี้เศรษฐกิจไตรมาส 2 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ พิษโควิดทำเงินหายกว่า 2 ล้านล้าน

 

หอการค้าคาดจีดีพีติดลบ 9.4% ชี้เศรษฐกิจไตรมาส 2 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ พิษโควิดทำเงินหายกว่า 2 ล้านล้าน - จี้รัฐเสริมสภาพคล่อง เผยเอสเอ็มอีกัดฟันทนไม่เกิน 3 เดือน

หอการค้าคาดจีดีพีติดลบ9.4% - นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงประมาณการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 และธุรกิจ SMEs หลังวิกฤตโควิด-19 ว่า หอการค้าไทยปรับประมาณการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ทุกตัวจากที่เคยประมาณการณ์ในเดือนเม.ย. โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปรับเป็นอยู่ระหว่างติดลบ 8.4 ถึง -11.4% โดยมองว่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือ ติดลบ 9.4% ทำให้เกิดความเสียหายเศรษฐกิจไทย 2.098 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ผลจากมาตรการปิดเมืองที่กระทบต่อภาคท่องเที่ยวธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารค้าปลีกค้าส่งขนส่งและบันเทิงกว่า 1.5 ล้านล้านบาท, กระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกเกือบ 5 แสนล้านบาท และสถานการณ์ภัยแล้ว 7.6 หมื่นล้านบาท เป็นต้น ขณะที่การส่งออกติดลบ 10.2% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะติดลบ 12.0 ถึง -8.8% การลงทุนรวมติดลบ 8% จากเดิมติดลบ 7.4 ถึง -5.4% จำนวนนักท่องเที่ยวหายไป 82.3% จากเดิมคาดว่าจะหายไป 78.7-74.3% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 1.5% จากเดิมติดลบ 1.0 ถึง -0.5% เป็นต้น

“มีการประเมินว่าในไตรมาสที่ 2 ของปีคาดว่าจีดีพีจะติดลบ 15% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำสุดในประวัติศาสตร์และต่ำกว่าไตรมาสที่ 2 ของปี 2541 ซึ่งตรงกับวิกฤติต้มยำกุ้งที่จีดีพีติดลบ 12% ส่วนไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีน่าจะค่อยๆ ดีขึ้น จากการมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลและการคลายล็อกเฟสต่างๆ เป็นต้น” นายธนวรรธน์กล่าว

โดยมีสาเหตุหลักจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทั่วโลกยังไม่ดีขึ้นและยังมีการระบาดในระลอกสองตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2563 เป็นต้นมาการระบาดของโรคทั่วโลกสูงขึ้นๆ มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านคน ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะปรับลดลงหรือคุมสถานการณ์อยู่ ทำให้กระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยโดยมองว่านโยบาย Travel Bubble ที่ภาครัฐเตรียมจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยนั้นต้องปิดตัวลงไม่น่าจะสามารถเปิดให้มีการเดินทางเข้ามาได้ในรูปแบบดังกล่าวในปีนี้ ขณะที่เม็ดเงินงบประมาณตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 400,000 ล้านบาท ก็ยังไม่ถูกอัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจภายในปีนี้ดังนั้นภาครัฐจะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการใหม่ๆเช่นการปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำระยะยาวหรือซอฟต์โลนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้เพื่อนำเงินไปใช้เสริมสภาพคล่องทางธุรกิจประคองไม่ให้มีการเลิกจ้างหรือเลิกประกอบธุรกิจในช่วงนี้ถึงเร่งดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ชิมช้อปใช้ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า หากไม่มีมาตรการของรัฐบาลออกมาเพิ่มเติมรวมถึงเอสเอ็มอีไม่เงินสภาพคล่องหมุนเวียน เชื่อว่าช่วงที่เหลือของปีต้องมีการปลดคนงานออก 1.9 ล้านคน โดยเฉพาะในเดือนต.ค. นี้ จะเห็นการปลดคนในระดับหลักล้านคนแน่นอน แต่หากเอสเอ็มอีมีสภาพคล่องซึ่งส่วนหนึ่งก็นำมาเป็นค่าจ้างพนักงานและใช้ในการบริหารจัดงานองค์กรก็จะช่วยประคองการจ้างงานได้ประมาณ 10 เดือน

นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะที่หอการค้าต้องการให้ภาครัฐดำเนินการคืออนุมัติให้มีการจ้างงานแบบรายชั่วโมงหรือชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการเลิกจ้างแรงงานในภายหลังเพิ่มสิทธิประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อจูงใจให้ภาคธุรกิจจ้างแรงงานที่เคยถูกเลิกจ้างพิจารณาขยายมาตรการพักชำระหนี้แบบอัตโนมัติออกไปอีกอย่างน้อยหกเดือนรวมเป็น 12 เดือน รวมทั้งผ่อนคลายเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงวงเงินสินเชื่อซอฟต์โลนในการกลั่นกรองโครงการที่ขอใช้เงินกู้หรือเงินงบประมาณปี 2564 ควรให้น้ำหนักกับโครงการที่เน้นเพิ่มการจ้างงานในตำแหน่งที่ถาวรหรือเพิ่มกำลังซื้อในระบบเช่นมาตรการชิมช็อปใช้มาตรการช็อปช่วยชาติ เป็นต้น

น.ส.อุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 พบว่าเอสเอ็มอี 61.7% ได้รับผลกระทบมากถึงมากที่สุด รองลงมา 26.9% ได้รับผลกระทบปานกลางและ 11.2% ได้รับผลกระทบน้อยส่วน 0.2% ไม่ได้รับผลกระทบโดยกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบมากถึงมากที่สุดพบว่าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 70% ได้แก่ธุรกิจท่องเที่ยวโรงแรมที่พักร้านอาหารสุขภาพความงามอัญมณีและหัตกรรม ส่วนภาคบริการได้รับผลกระทบในระดับมากถึงมากที่สุด 71.1% ขณะเดียวกันยังพบว่าเอสเอ็มอี 86.5% ยังไม่มีการเลิกจ้างงานแต่ 13.5% บอกว่ามีการปลดคนงานและเลิกจ้าง และโดยเฉลี่ยระบุว่าในช่วงต่อไปหากยังไม่มีรายได้เข้ามาหรือเข้ามาน้อยมากจะสามารถประคองกิจการไปได้อีกเฉลี่ยประมาณ 6 เดือนสูงสุดไม่เกิน 9 เดือน ขณะที่ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ระบุว่าจะประคองกิจการไปได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น