รีเซต

ผนึกกำลังสกัดจีน รมว. ตปท. สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย-อินเดีย ร่วมประชุมจตุภาคีในโตเกียว

ผนึกกำลังสกัดจีน รมว. ตปท. สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย-อินเดีย ร่วมประชุมจตุภาคีในโตเกียว
ข่าวสด
7 ตุลาคม 2563 ( 14:41 )
75

ผนึกกำลังสกัดจีน รมว. ตปท. สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย-อินเดีย ร่วมประชุมจตุภาคีในโตเกียว - BBCไทย

นายไมก์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ หารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศจากออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่นในกรุงโตเกียว เกี่ยวกับการรับมือกับจีน

 

การประชุม "ควอด" หรือ การประชุม 4 ฝ่าย เป็นการรวมตัวกันของ 4 ประเทศที่ต้องการจะสร้างแนวร่วมต่อต้านจีนที่มีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้น

ก่อนที่จะเดินทางออกจากสหรัฐฯ นายปอมเปโอ กล่าวว่า การประชุมนี้เป็น "เรื่องที่เราทำงานร่วมกันมาเป็นเวลานานแล้ว"

 

Getty Images
นายไมก์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กำลังหารือกับกลุ่มควอด

 

ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เลวร้ายลงไปถึงระดับต่ำสุดในรอบหลายสิบปี

เรื่องนี้ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามจะเพิ่มความร่วมมือกับพันธมิตรอื่น ๆ ในภูมิภาค

ผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มควอด ยังมีนายโทชิมิตสึ โมเทกิ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น นางมาริส เพย์น รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย และนายสุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย คาดว่ามีการหารือกันในหลายประเด็นรวมถึง การระบาดใหญ่ของโควิด-19 และความมั่นคงทางไซเบอร์

 

Getty Images
นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ สึกะ ของญี่ปุ่น ปรากฏตัวที่การประชุมด้วย

นายปอมเปโอ ทวีตข้อความก่อนออกเดินทางว่า "ตั้งหน้าตั้งตารอเข้าร่วมการหารือด้านความร่วมมือกันที่เพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ร่วมกันของเราในการมี #อินโดแปซิฟิก ที่เปิดกว้างและเสรี ประกอบด้วยชาติต่าง ๆ ที่เป็นอิสระ เข้มแข็ง และรุ่งเรือง"

จีนได้แสดงการต่อต้าน "การรวมกลุ่มเป็นการเฉพาะ" เพื่อโจมตีฝ่ายที่สาม ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมนี้

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานโดยอ้างคำพูดของนายวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนว่า "เราหวังว่าประเทศที่เกี่ยวข้องจะเริ่มจากผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค และทำสิ่งต่าง ๆ ที่นำไปสู่การพัฒนา เสถียรภาพและสันติภาพของภูมิภาค ไม่ใช่ทำให้เกิดสิ่งตรงข้าม"

จตุภาคี คือออะไร

กลุ่มริเริ่มจตุภาคี (Quadrilateral Initiative) หรือที่เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า ควอด (Quad) เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือน พ.ค. 2007 ในการหารือกันระหว่างสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, อินเดีย และออสเตรเลีย ในกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์

บรรดานักวิเคราะห์มองการรวมกลุ่มกันอย่างไม่เป็นทางการนี้ ซึ่งได้รับการสนุนจากนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้นว่า เป็นความพยายามในการเพิ่มความร่วมมือเพื่อเผชิญหน้ากับจีนที่มีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลจีนได้ยื่นประท้วงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการจัดตั้งกลุ่มควอด สมาชิกของกลุ่มระบุว่า "ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์" ของพวกเขา มีเป้าหมายเพื่อรักษาความมั่นคงในภูมิภาคเท่านั้น ไม่ได้มีเป้าหมายโจมตีประเทศใดโดยเฉพาะ จากนั้นกลุ่มควอดก็เริ่มสูญเสียแรงขับเคลื่อน และเพิ่งกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

การลาออกของนายอาเบะในเดือน ส.ค. ทำให้กลุ่มควอดเผชิญกับความไม่แน่นอนอีกครั้งหนึ่ง นายโยชิฮิเดะ สึกะ ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนนายอาเบะ และมีหลายคำถามเกิดขึ้นว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นจะมีความกระตือรือร้นในการรวมกลุ่มเชิงยุทธศาสตร์นี้เช่นเดียวกับนายอาเบะหรือไม่ รูเพิร์ต วิงฟีลด์-เฮย์ส ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำกรุงโตเกียว ระบุว่า นายสึกะมุ่งเน้นปฏิรูปเศรษฐกิจ และแทบไม่มีประสบการณ์ด้านนโยบายต่างประเทศ

ทำไมต้องมีการประชุมกลุ่มควอดในตอนนี้

การประชุมล่าสุดนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ, อินเดีย และออสเตรเลีย ต่างก็มีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับจีนเพิ่มมากขึ้น

นับตั้งแต่ปี 2018 สหรัฐฯ และจีน ติดอยู่กับการทำสงครามการค้าระหว่างกัน และในช่วงไม่กี่เดือนนี้ ก็ได้ขัดแย้งกันในหลายเรื่องรวมถึง การจับกุมสายลับ, โรคระบาดโควิด-19 และการถอนวีซ่านักศึกษาจีน

Getty Images
ความตึงเครียดระหว่างอินเดียและจีนเพิ่มขึ้น หลังจากการปะทะกันบริเวณพรมแดนเมื่อไม่นานนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียและจีนก็ย่ำแย่ลงเช่นกัน ในเดือน ก.ย. ผู้สื่อข่าวสองคนสุดท้ายประจำประเทศจีนที่ทำงานให้กับสื่อออสเตรเลีย เดินทางกลับประเทศ หลังจากที่มีการเผชิญหน้ากันทางการทูตอย่างตึงเครียดนาน 5 วัน

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนกับรัฐบาลอินเดียยังมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นระหว่างกันตามแนวชายแดนพิพาทในภูมิภาคหิมาลัยด้วย การปะทะกันในเดือน มิ.ย. เป็นการเผชิญหน้ากันที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นครั้งแรกระหว่างสองฝ่ายนับตั้งแต่ปี 1975

อเล็กซานเดอร์ นีลล์ นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงเอเชีย-แปซิฟิก ที่อยู่ในสิงคโปร์ คิดว่า ตัวผลักดันในการทำให้การรวมตัวกันของกลุ่มควอดกลับมามีแรงส่งอีกครั้ง มาจากสนับสนุนของอินเดีย

เขากล่าวว่า "ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการคาดการณ์กันอย่างมากเกี่ยวกับกลุ่มควอดว่า จะกลายเป็นการรวมตัวกันอย่างเป็นทางการ แต่อินเดียได้ผลักดันเรื่องนี้เป็นพิเศษ ซึ่งปกติแล้วจะอยู่ในกลุ่มที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด" เขากล่าว

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของสหรัฐฯ "ได้มีความคงเส้นคงวา" ในเรื่องนี้ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

สหรัฐฯ เคยระบุว่า "การกระทำที่เป็นการบังคับขู่เข็ญของจีน ไม่เพียงจะส่งผลให้จีนต้องโดดเดี่ยวตัวเองเท่านั้น แต่จะทำให้พันธมิตรและมิตรประเทศที่คิดเหมือนกันหันมารวมตัวกันด้วย กลุ่มควอดคือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเรื่องนี้"

นายนีลล์ คาดว่า รัฐบาลจีน "จะกล่าวหาสหรัฐฯว่า ทำให้เกิดสงครามเย็นขึ้น" และสร้างพันธมิตร "ในการหยุดยั้งการเติบโตขึ้นมาอย่างชอบธรรมของจีน"

นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ สึกะ ของญี่ปุ่น คาดว่า จะต้องสร้างความสมดุลอย่างระมัดระวัง รัฐบาลญี่ปุ่นมีการพัฒนาความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มีการรักษาความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ อินเดีย และออสเตรเลีย

นายสึกะ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันจันทร์ว่า เขาจะหาทาง "ส่งเสริมอินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้างและเสรี" และจะ "สร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงกับประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงจีนและรัสเซีย" ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง