รีเซต

ตื่นตา "กระเจียวอรุณ"-"ช่อม่วงพิทักษ์" พืชถิ่นเดียวหายากชนิดใหม่ของโลก พบที่ภาคเหนือ

ตื่นตา "กระเจียวอรุณ"-"ช่อม่วงพิทักษ์" พืชถิ่นเดียวหายากชนิดใหม่ของโลก พบที่ภาคเหนือ
ข่าวสด
19 ตุลาคม 2564 ( 19:43 )
200

ข่าววันนี้ 19 ต.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมนักพฤกษศาสตร์จากองค์การสวนพฤกษศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดย ดรต.จรัญ มากน้อย ดร.ศรายุทธ รักอาชา และดร.วรนาถ ธรรมรงค์ นักพฤกษศาสตร์จากองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ร่วมกับ รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวชมหาวิทยาลัยมหาสารคามและรศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข นักวิจัยจากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

ค้นพบพืชสกุลขมิ้น (Curcuma L.)วงศ์ขิง (Zingiberaceae) ชนิดใหม่ของโลกจากภาคเหนือของประเทศไทย จัดเป็นพืชถิ่นเดียวและยังเป็นพืชหายากของประเทศไทยและของโลกโดยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารพฤกษศาสตร์ระดับนานาชาติ Biodiversitasปีที่ 22 ฉบับที่ 9 หน้าที่ 3910–3921 จำนวน 2 ชนิด ได้แก่

 

"กระเจียวอรุณ" ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma aruna Maknoi&Saensouk คำระบุชนิด “aruna” หมายถึงสีของดอกที่มีสีเหลืองอร่ามคล้ายกับสีในช่วงรุ่งอรุณในตอนเช้าและยังมีความหมายว่า “รุ่งอรุณแห่งความสุข” ที่เป็นความหมายของ จ.สุโขทัย ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบพืชชนิดนี้การกระจายพันธุ์เฉพาะที่ป่าบริเวณเขาหินปูนใน จ.สุโขทัย ลักษณะเด่นคือ ดอกออกก่อนใบ เกือบทุกส่วนของพืชมีผิวเกลี้ยง ช่อดอกออกเป็นกระจุกติดกับพื้นดิน มีใบประดับ 6-12 อัน ใบประดับสีเขียวและดอกสีเหลืองออกดอกในช่วงเดือน พ.ค.

 

 

 

"ช่อม่วงพิทักษ์" ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma pitukiiMaknoi, Saensouk, Rakarcha&Thammar. คำระบุชนิด “pitukii” ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติให้แก่นายพิทักษ์ ปัญญาจันทร์ อดีตเจ้าหน้าที่องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ที่ทำงานสนับสนุนด้านพฤกษศาสตร์มากกว่า 25 ปี และเป็นผู้พบพืชชนิดนี้ระหว่างสำรวจความหลากหลายของพรรณไม้ในภาคเหนือของประเทศไทย การกระจายพันธุ์เฉพาะที่ป่าผลัดใบใน จ.ลำปาง และจ.ลำพูน ลักษณะเด่นคือ ดอกเกิดระหว่างซอกใบ ใบประดับมีสีม่วงอ่อนจนถึงม่วงเข้มในระยะติดดอก กลีบดอกมีสีม่วงอ่อนถึงม่วงเข้ม กลีบปากสีขาวและมีแถบสีเหลืองบริเวณกลางกลีบออกดอกในช่วงเดือน ส.ค. มีการใช้ประโยชน์จากท้องถิ่นโดยนำเหง้ามารักษาอาการโรคกระเพาะและบรรเทาอาการท้องอืด รวมถึงเหง้าอ่อนและดอกนำมารับประทานเป็นผัก

 

 

 

 

ซึ่งพืชทั้ง 2 ชนิดปัจจุบันจัดเป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย มีการนำมาใช้ประโยชน์หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ยาสมุนไพรและไม้ประดับ ปัจจุบันมีจำนวนประชากรน้อย เนื่องจากมีถิ่นอาศัยที่มีความจำเพาะจึงอาจมีความเปราะบางหรือสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ควรมีการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ ซึ่งในอนาคตทีมนักวิจัยยังมีแผนที่จะศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชกรรม สารสกัดทางยาและดำเนินการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนำกลับคืนถิ่นสู่ป่าธรรมชาติต่อไป

 

การค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยนั้นมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และยังมีพืชพรรณชนิดใหม่ๆ ที่รอการค้นพบอีกเป็นจำนวนมากขณะที่ผืนป่าธรรมชาติกำลังถูกทำลายลงไป พืชพรรณหลายชนิดอาจสูญพันธุ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีภารกิจในการศึกษาวิจัยด้านพืชและความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างความรู้ให้เป็นฐานการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน การศึกษาวิจัยด้านอนุกรมวิธานพืช โดยนักพฤกษศาสตร์ขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ร่วมกับนักวิชาการนักวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ ทำให้มีการค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การอนุรักษ์ขยายพันธุ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง