รีเซต

ธปท.แนะไทยต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เติมภูมิคุ้มกัน - ชี้เหลื่อมล้ำพุ่งทุบกลุ่มเปราะบางอ่วมสุด

ธปท.แนะไทยต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เติมภูมิคุ้มกัน - ชี้เหลื่อมล้ำพุ่งทุบกลุ่มเปราะบางอ่วมสุด
ข่าวสด
30 กันยายน 2564 ( 16:00 )
28
ธปท.แนะไทยต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เติมภูมิคุ้มกัน - ชี้เหลื่อมล้ำพุ่งทุบกลุ่มเปราะบางอ่วมสุด

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวสุนทรพจน์ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2564 หัวข้อ “สร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทย” ว่า ปี 2564 เป็นปีที่ท้าทายสำหรับเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญกับวิกฤตที่รุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกทั้งไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในบริบทโลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม ทั้งพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด การเข้าสู่สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลก และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

 

 

โดยความท้าทายต่างๆ นี้ เกิดขึ้นรวดเร็ว รุนแรง และซ้ำเติมความเปราะบางต่างๆ ที่สั่งสมอยู่ในเศรษฐกิจและสังคมไทยมานาน ดังนั้นหากประเทศไทยจะก้าวต่อไปในอนาคตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และมีเสถียรภาพภายใต้ความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน ประเทศไทยจำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกัน

 

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยจะมีเสถียรภาพภายใต้ความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนนั้น ต้องมีลักษณะสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1. ความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ปัจจุบันไทยยังมีส่วนนี้ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่มีการกระจายความเสี่ยงที่เพียงพอ จากการพึ่งพาต่างประเทศที่สูงในแทบทุกมิติ ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยวและเทคโนโลยี รวมถึงการพึ่งพาแรงงานต่างชาติที่มากขึ้นเรื่อยๆ จากภาวะสังคมสูงวัย

 

 

ทำให้เศรษฐกิจไทยหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและการเมืองโลกได้ยาก ขณะที่ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ก็ซ้ำเติมความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทยด้วย โดยเฉพาะภาคเกษตร ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญสูงในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

 

 

2. เศรษฐกิจไทยยังมีขีดความสามารถที่จำกัดในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีความเหลื่อมล้ำที่สูงและมีภาคเศรษฐกิจนอกระบบที่ใหญ่ ซึ่งกลุ่มเปราะบางในระบบเศรษฐกิจ เช่น ครัวเรือนยากจน ธุรกิจเอสเอ็มอีมักอยู่นอกระบบ เป็นต้น ทำให้ไม่สามารถรับมือและปรับตัวต่อวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

 

 

3. เศรษฐกิจไทยยังมีขีดความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบต่างๆ ที่จำกัด ทำให้เกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (economic scars) ส่งผลให้การฟื้นตัวของครัวเรือนและธุรกิจในกลุ่มเปราะบางใช้เวลานาน และเหนี่ยวรั้งการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวมด้วย ซึ่งกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ นี้ จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ และตอกย้ำความร้าวฉานในสังคมให้ลึกลง

 

 

“สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความไม่เป็นธรรมทางสังคมที่สูงและน่ากลัวในประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด-19 และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นจากการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบจากวิกฤตสาธารณสุขและวิกฤตเศรษฐกิจมากกว่า ขณะที่ความสามารถในการฟื้นตัวน้อยกว่ากลุ่มอื่นในสังคม ความเสี่ยงที่ความตึงเครียดทางสังคมจะคุกรุ่นจึงมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

 

 

อย่างไรก็ดี การทำให้เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพภายใต้ความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน และความท้าทายต่างๆ ในอนาคตนั้น จำเป็นต้องเร่งเพิ่มความสามารถของเศรษฐกิจไทยใน 3 ด้าน คือ 1. เพิ่มความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบ 2. เพิ่มความสามารถในการรับมือกับผลกระทบ

 

 

และ 3. เพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบ ผ่านแนวทางสำคัญ ได้แก่ ต้องมีการบริหารความเสี่ยงภาพรวมของประเทศที่ดี ทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมมือกัน และต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้พร้อมรับความท้าทายในอนาคต เช่น เปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว

 

 

รวมถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยทั้งในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพื้นที่เพื่อกระจายความเสี่ยงที่ดีขึ้น ลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งที่มากเกินไป กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เน้นบทบาทภาคเอกชนเป็นหลัก ขณะที่ภาครัฐทำหน้าที่ชี้ทิศทางและสร้างแรงจูงใจให้เอกชนลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย

 

 

นอกจากนี้ ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ ต้องลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างจริงจัง สร้างโครงข่ายความคุ้มครองในทุกระดับเพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจอยู่รอดได้ในยามวิกฤต โดยเน้นบทบาทของภาคเอกชนเพื่อสร้างความยั่งยืนของระบบ ขณะที่ความช่วยเหลือโดยตรงจากภาครัฐที่ก่อให้เกิดภาระการคลังในอนาคต และปัญหา moral hazard ควรจำกัดอยู่ในเฉพาะสถานการณ์ที่กลไกตลาดทำงานไม่ได้เท่านั้น

 

 

รวมถึงต้องลดการเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจในยามวิกฤต เพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการสร้างสายป่านที่ยาวพอให้ธุรกิจ ฝึกทักษะแรงงานให้รองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปหลังวิกฤต สร้างกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ไกล่เกลี่ยหนี้ เป็นต้น

 

 

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า ธปท. มีบทบาทในการส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพภายใต้ความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ผ่านการดำเนินนโยบายรักษาเสถียรภาพทางการเงินและระบบการเงิน ด้านสังคม ผ่านการพัฒนาระบบการเงินและส่งเสริมความเข้าใจทางการเงินให้ครัวเรือนและธุรกิจไทย และด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างระบบนิเวศที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวไปในทิศทางที่ยั่งยืนมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง