รีเซต

สนค.ชี้กระแส ยานยนต์ไฟฟ้าโลกบูม โอกาสไทยเป็นฐานผลิตควบส่งออก แม้เจอโควิดโต155%

สนค.ชี้กระแส ยานยนต์ไฟฟ้าโลกบูม โอกาสไทยเป็นฐานผลิตควบส่งออก แม้เจอโควิดโต155%
มติชน
21 มกราคม 2564 ( 13:35 )
49

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงกระแสความต้องการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในตลาดโลก ว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สอดรับกับนโยบายรัฐบาลประเทศต่างๆที่สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประกอบกับมีการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการไทย สามารถมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้ ตั้งแต่การผลิตและการค้ายานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน จนถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น สถานีชาร์จ ธุรกิจซ่อมบำรุง และธุรกิจซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันอำนวยความสะดวกต่าง ๆ

 

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า จากรายงานของสำนักงานพลังงานสากล ปี 2562 ทั้งโลกมียอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ขนาดเล็ก (Light duty vehicle) ที่ใช้ทั้งน้ำมันและแบตเตอรี่แบบเสียบปลั๊กอัดประจุไฟฟ้าได้ และแบบใช้แบตเตอรี่อย่างเดียว รวมประมาณ 2.1 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6% และมียอดจดทะเบียนทั้งโลกรวม 7.17 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 40% และคาดการณ์ว่าปี 2573 ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า PHEV และ BEV ทั่วโลก รวมรถยนต์ขนส่งบุคคล รถขนส่งเชิงพาณิชย์ รถประจำทาง และรถบรรทุก จะสูงถึง 25 ล้านคัน และมียอดสะสมประมาณ 140 ล้านคัน

โดยคาดว่ารถยนต์นั่งขนาดเล็กจะมียอดจำหน่ายและจำนวนสะสมสูงสุด และตลาดที่จะขยายตัวชัดเจน คือ จีน ยุโรป สหรัฐอเมริกา และอินเดีย นอกจากนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ที่ทำให้ยานยนต์สามารถตอบสนองความต้องการผู้ใช้ได้หลายหลายใกล้เคียงกับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน อาจทำให้ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) อุตสาหกรรมยานยนต์เปลี่ยนไปเป็นแบบวงล้อ (Hub and Spoke) ที่ผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ เข้ามามีบทบาทในห่วงโซ่คุณค่ามากขึ้น เช่น ผู้ผลิตอุปกรณ์สำหรับยานยนต์สมัยใหม่ (ระบบเซนเซอร์รอบคันสำหรับการขับขี่อัตโนมัติ อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เนตและอุปกรณ์สื่อสารไร้สายอื่น ๆ) ผู้ให้บริการโทรคมนาคม แพลตฟอร์มออนไลน์ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นต้น

 

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวต่อว่า สนค.วิเคราะห์ข้อมูลโครงสร้างการค้าของโลกและไทยกลุ่มสินค้ายานยนต์ไฟฟ้า อาทิ ยานยนต์ไฮบริดแบบไม่มีที่เสียบปลั๊กอัดประจุไฟฟ้า และกลุ่มชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์นั่งไฟฟ้าขนาดเล็ก 20 รายการ พบว่า ปี 2562 การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าของทั้งโลก มีมูลค่ารวม 70,817 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 55% ขณะที่มูลค่าการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าของโลกอยู่ที่ 450,222 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย 0.45% โดย ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และจีน มีบทบาทในห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าโลกครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เป็นผู้ผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมทั้งเป็นตลาดผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีศักยภาพ

 

สำหรับประเทศไทยในปี 2562 ส่งออกยานยนต์ไฟฟ้า เป็นมูลค่า 128.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้า 69% แต่กลับขยายตัว155% ช่วง 9 เดือนแรกปี 2563 และมีมูลค่า 309.3 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดส่งออกสำคัญ 3 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ สำหรับการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าของไทย มีมูลค่า 6,887 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2562 และ 9 เดือนแรกปี 2563 ส่งออก 4,145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งลดลง 22% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน แสดงให้เห็นว่า ไทยคงเป็นผู้เล่นใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า แต่ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าไปตลาดโลก อย่างญี่ปุ่น จะเป็นโอกาสให้ไทยมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าโลกมากขึ้น ซึ่งภาครัฐและเอกชนไทยก็เร่งพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของไทยอย่างต่อเนื่อง

 

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวต่อว่า เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งส่งออก พบว่า การแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ทั้งกลุ่มประเทศผู้ผลิตหลักและกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ที่กำลังผันตัวเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเช่นเดียวกับไทย ทำให้เป็นได้ทั้งฐานการผลิตและตลาดที่มีศักยภาพ โดยแสวงหาพันธมิตรผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายสำคัญของโลก เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และจีน รวมถึงแข่งหาแหล่งตลาดใหม่ ๆ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ถือเป็น 1 ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve)ไทยจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างรายได้เข้าประเทศในอนาคต

ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์เร่งเชื่อมโยงภาคเอกชนจากประเทศผู้ผลิตหลักกับผู้ประกอบการไทย เพื่อส่งเสริมการจับคู่ธุรกิจเพื่อผลิตสินค้า ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่จำเป็นแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง