รีเซต

ศบค.โชว์กราฟติดเชื้อ-ป่วยหนักลดต่อเนื่อง! จ่อผ่อนคลายเพิ่มหากสถานการณ์ดีขึ้น

ศบค.โชว์กราฟติดเชื้อ-ป่วยหนักลดต่อเนื่อง! จ่อผ่อนคลายเพิ่มหากสถานการณ์ดีขึ้น
มติชน
28 เมษายน 2565 ( 14:01 )
32
ศบค.โชว์กราฟติดเชื้อ-ป่วยหนักลดต่อเนื่อง! จ่อผ่อนคลายเพิ่มหากสถานการณ์ดีขึ้น

เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ว่า ข้อสรุปในที่ประชุมของ ศบค.ชุดใหญ่ ของเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา มีการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ และมาตราการป้องกันโรคตามพื้นที่สี ซึ่งจากฉบับที่ 23 ที่มีผลเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2565 ได้มีการกำหนดพื้นที่สี 3 สี โดยมี พื้นที่ควบคุม(สีส้ม) พื้นที่เฝ้าระวังสูง(สีเหลือง) และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว(สีฟ้า) ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการปรับเหลือ 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เฝ้าระวังสูง(สีเหลือง) 65 จังหวัด และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว(สีฟ้า) 12 จังหวัด อีกทั้งยังได้ผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโควิด-19 โดยอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ จากเดิมไม่เกิน 23.00 น. เป็นไม่เกิน 24.00 น. โดยจะต้องเป็นร้านอาหารที่ผ่านการประเมินตามมาตรการ SHA+ หรือ Thai Stop COVID 2 Plus หรือ มาตรการ COVID Free Setting

 

 

พญ.สุมนี กล่าวว่า สำหรับการเดินทางเข้าราชอณาจักรทางอากาศนั้น สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ โดยผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าราชอณาจักรจะต้องแสดงหลักฐานการได้รับวัคซีนผ่านระบบ Thailand Pass และทำประกันภัยที่ไม่น้อยกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐ และเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว และมีอาการทางระบบการหายใจให้ตรวจหาเชื้อด้วยเอทีเค (ATK) ได้เลย หากพบเชื้อให้เข้าสู่กระบวนการตามประกันภัย ส่วนผู้ไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับไม่ครบตามเกณฑ์ จะต้องแสดงหลักฐานการจองห้องพัก (AQI) และทำประกันภัยที่ไม่น้อยกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐ และเข้าสู่กระบวนการตามมาตรการต่อไป สำหรับการเดินทางเข้าราชอณาจักรทางพื้นดิน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้มีมติเห็นชอบเปิดด่านผ่านแดนถาวรแล้วในชายแดน 17 จังหวัด ได้แก่ เลย นครพนม หนองคาย มุกดาหาร บึงกาฬ ศรีสะเกษ สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตราด ตาก กาญจนบุรี ระนอง สงขลา นราธิวาส ยะลา และสตูล โดยจะมีผลเปิดได้ในวันที่ 1 พ.ค. นี้

 

 

“นอกจากนี้ยังมีเรื่องการเตรียมความพร้อมสถานศึกษาที่จะเปิดเรียนในช่วงเดือน พ.ค. โดยเน้นให้สถานศึกษาเปิดเรียนแบบออนไซต์ให้มากที่สุด หากพบว่ามีบุคลากร นักเรียน ติดเชื้อให้ปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุโดยไม่จำเป็นต้องปิดทั้งโรงเรียน และวางแผนฉีดวัคซีนให้แก่เด็กก่อนที่จะเปิดเรียน” พญ.สุมนี กล่าว

 

พญ.สุมนี กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อบ้านเราในวันนี้ ที่รายงานผลด้วย RT-PCR พบว่ามี 14,437 ราย จากเอทีเค 11,396 ราย รวมกันแล้วอยู่ที่ 25,833 ราย เป็นผู้ที่รักษาหายแล้ว 18,509 ราย และกำลังรักษา 158,768 ราย โดยที่จำนวน 40,193 ราย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล (รพ.) และอีก 118,575 ราย รักษาตัวอยู่ใน รพ.สนาม หรือแยกกักที่บ้าน หรือ CI ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยปอดอักเสบ 1,827 ราย และใช้เครื่องช่วยหายใจอีก 850 ราย

 

 

พญ.สุมนี กล่าวว่า หากมาดูแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาการหนัก ผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจมีทิศทางลดลงเรื่อยๆ หากดูแนวโน้มแล้วก็ยังทรงๆ และลดลงอย่างช้าๆ จึงอยากขอบคุณพี่น้องประชาชน และหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ช่วยกันปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ จึงทำให้ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ที่มีการคาดการณ์ว่าผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น กลับกลายเป็นว่า จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยอาการหนักมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ ทั้งนี้ หากสถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้นเราก็จะมีทิศทางแนวโน้มที่จะผ่อนคลายทั้งกิจการ กิจกรรมต่างๆ ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ให้โควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น

 

 

“สำหรับผู้เสียชีวิตในวันนี้ มีทั้งหมด 127 ราย ซึ่งถ้าคิดเป็นอัตราการเสียชีวิตของการติดเชื้อในระลอกนี้อยู่ที่ร้อยละ 0.33 ก็มีแนวโน้มที่ยังทรงๆ อยู่ ที่มีรายงานมากกว่า 100 ราย เป็นเวลา 19 วันแล้ว จากที่ประชุมได้มีการพูดคุยถึงการเสียชีวิต ว่าอาจจะต้องมีการวิเคราะห์ว่าผู้ที่เสียชีวิต เป็นการเสียชีวิตจากการติดโควิด-19 หรือเสียชีวิตจากโรคประจำตัวที่มีอยู่แล้ว ซึ่งพบว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิตวันนี้(127 ราย) มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จริงๆ 66 ราย คิดเป็นร้อยละ 52 เสียชีวิตจากโรคร่วมและพบเชื้อโควิด-19 จำนวน 61 ราย คิดเป็นร้อยละ 48 ซึ่งส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว หากดูข้อมูลพื้นฐาน เรื่อง เพศ อายุ ค่ากลางของอายุทั้ง 2 กลุ่มนี้ไม่ต่างกันมากซึ่งก็คือ ผู้สูงอายุ” พญ.สุมนี กล่าว

 

พญ.สุมนี กล่าวต่อไปว่า สำหรับจังหวัดที่มีผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล มากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 160 ราย มีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ร้อยละ 23.80 นครราชสีมา 87 ราย มีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ร้อยละ 23 ขอนแก่น 77 ราย มีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ร้อยละ 28.50 กาญจนบุรี 71 ราย มีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ร้อยละ 48.60 สมุทรปราการ 59 ราย มีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ร้อยละ 29.20 สุพรรณบุรี 58 ราย มีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ร้อยละ 28.30 อุบลราชธานี 56 ราย มีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ร้อยละ 31.10 นนทบุรี 49 ราย มีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ร้อยละ 34.70 อุดรธานี 48 ราย มีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ร้อยละ 37.60 และพิษณุโลก 46 ราย มีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ร้อยละ 32.50 ทั้งนี้ มีอัตราการครองเตียงของผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง-หนัก อยู่ที่ร้อยละ 24.1 ซึ่งจากรายงานที่ผ่านมาจากสัปดาห์ก่อนๆ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 ซึ่งในขณะนี้ค่อยๆ ลดลงแล้ว” เมื่อมาดูผลการฉีดวัคซีนของประเทศไทยในวันนี้ พบว่าฉีดไปแล้ว 132,976,433 โดส ซึ่งเมื่อวาน(27 เม.ย.) ฉีดไปได้ 150,767 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 23,594 ราย สะสม 56,207,917 ราย คิดเป็นร้อยละ 80.8 เข็มที่ 2 จำนวน 49,580 ราย สะสม 51,124,100 ราย คิดเป็นร้อยละ 73.5 เข็มที่ 3 จำนวน 77,593 ราย สะสม 25,644,416 ราย คิดเป็นร้อยละ 36.9

 

“ทั้งนี้ การจะให้โควิด-19 เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ยังคงต้องขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนทุกท่านให้ไปฉีดวัคซีนให้เพิ่มขึ้น และต้องทำตารมาตรการป้องกันโรคเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและกลายพันธุ์ ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เป้าหมายของการเป็นโรคประจำถิ่นจะต้องให้เกินร้อยละ 60 ตอนนี้ประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 37 จึงอยากเชิญพี่น้องประชาชนมาฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามวัคซีนจะสามารถช่วยลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ โดยเป้าหมายการลดอัตราการป่วยตาย จะต้องลดลงมาเหลือร้อยละ 0.1 ซึ่งในขณะนี้ไทยอยู่ที่ร้อยละ 0.3” พญ.สุมนี กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวว่าจะยกเลิกระบบ Thailand Pass นั้น จริงหรือไม่ พญ.สุมนี กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า Thailand Pass เป็นระบบที่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไทย จะต้องลงทะเบียนผ่านระบบนี้ ในการลงทะเบียนประกอบไปด้วย 4 ส่วนหลัก 1.การตรวจใบรับรองวัคซีน 2.ตรวจใบจองโรงแรม 3.หลักฐานการทำประกันภัย และ 4.หลักฐานการจองตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR ทีนี้ ภายหลังจากที่มีการผ่อนคลายยกเลิก Test & Go เราจะไม่มีขั้นตอนทั้ง 2 ขั้นตอน เหลือเพียงแค่ขั้นตอนที่ ตรวจใบรับรองวัคซีน และหลักฐานประกันภัย ดังนั้น ระบบดังกล่าวจะไวขึ้น และสามารถอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวได้มากขึ้น โดยระบบนี้จะยังคงอยู่และไม่คิดว่าเป็นปัญหาติดขัดใดๆ หลังจาก 1 พ.ค. ทั้งนี้ ศบค.จะติดตามสถานการณ์หน้างานอยู่เป็นระยะต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง