รีเซต

นอภ.เมืองเชียงใหม่เผยไม่รู้เรื่อง 'ฌอน' หนี ผู้ใหญ่บ้านดอยสุเทพยัน ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือเรื่องไฟป่า

นอภ.เมืองเชียงใหม่เผยไม่รู้เรื่อง 'ฌอน' หนี ผู้ใหญ่บ้านดอยสุเทพยัน ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือเรื่องไฟป่า
มติชน
4 กรกฎาคม 2563 ( 18:22 )
92

 

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม นายสราวุฒิ วรพงษ์ นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เผยกรณีนายฌอน บูรณะหิรัญ นักพูดให้กำลังใจ เปิดรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือจิตอาสาดับไฟป่าดอยสุเทพ ต่อมาเพจเฟซบุ๊ก “แหม่มโพธิ์ดำ” ออกมาเปิดเผยว่าการใช้เงินบริจาคไม่โปร่งใส และไม่ตรงวัตถุประสงค์ จนมีผู้แจ้งความดำเนินคดี ก่อนมีกระแสข่าวว่านายฌอนได้หลบหนีไปยังกัมพูชา ว่า ตนไม่ทราบเรื่องหลบหนีดังกล่าว เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ตรวจสอบและติดตามเรื่องดังกล่าว เนื่องจาก
ถูกแจ้งความดำเนินคดีแล้ว เพื่อนำตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

 

“กรณีที่นายฌอนไม่ได้ขออนุญาตรับบริจาคนั้น เจ้าหน้าที่ได้ติดต่อให้มาพบ เพื่อสอบปากคำและบันทึกไว้เป็นหลักฐาน แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งล่วงเลยมากว่า 1 สัปดาห์แล้ว เชื่อว่านายฌอนทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ยอมมาพบเจ้าหน้าที่ แต่เรื่องดังกล่าวไม่น่าเป็นสาเหตุให้นายฌอนหลบหนีไปต่างประเทศ เพราะมีโทษปรับเพียง 200 บาทเท่านั้น หากมาพบเจ้าหน้าที่เพื่อให้ปากคำและบันทึกเป็นหลักฐานเรื่องก็จบ ไม่น่าขยายเรื่องให้ลุกลามบานปลาย ซึ่งอำเภอไม่ทำหนังสือแจ้งให้มาพบเจ้าหน้าที่อีก เพราะล่วงเลยเวลามาพอสมควรแล้ว” นายสราวุฒิกล่าว

 

ด้านนายกมลรัฐ ลิ้มไขแสง หรือ “พ่อหลวงอุ๋ย” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 บ้านโป่งน้อย ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งหมู่บ้านอาสาเฝ้าระวังและดับไฟป่าในช่วงที่เกิดสถานการณ์ไฟไหม้ป่าดอยสุเทพอย่างรุนแรง และเป็นผู้ก่อตั้งทีมรถจักรยานยนต์วิบากสายตรวจไฟป่าของ ต. สุเทพ เผยว่า การเปิดรับบริจาคของนายฌอน เคยทราบจากข่าว และเข้าใจมาโดยตลอดว่ามีการประสานกับหน่วยงานราชการ เพื่อช่วยเหลือจิตอาสาดับไฟป่า จนภายหลังทราบว่าไม่ได้มีการประสานหน่วยงานราชการใดๆ ที่สำคัญจิตอาสาและชุมชนไม่ได้รับความช่วยเหลือดังกล่าวอย่างใด อยากเรียกร้องให้นายฌอนและทีมงานออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงโดยเร็ว

 


“กรณีดังกล่าวสร้างความกังวล และไม่สบายใจให้กับจิตอาสา และอาสาสมัครเฝ้าระวังดับไฟป่าอย่างมาก เพราะหน่วยราชการไม่มีงบประมาณสนับสนุน จำเป็นต้องเปิดรับบริจาคดังกล่าว เพราะอาสาสมัครไม่มีค่าตอบแทนใด ๆ ดังนั้น จิตอาสาต่างเกิดความกังวลใจว่าในอนาคตอาจไม่มีใครกล้าบริจาคอีก ส่งผลบั่นทอนกำลังใจคนเสียสละทำงาน เพื่อส่วนรวมอย่างมาก เพราะจิตอาสาและอาสาสมัครต่างตระหนักดีว่าพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ถือเป็นหัวใจสำคัญของเมือง เป็นที่เคารพสักการะบูชาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้แก่จังหวัดอย่างมาก”
นายกมลรัฐกล่าว

 

นายกมลรัฐกล่าวอีกว่า ช่วงฤดูแล้งทุกปี ชาวบ้านต่างร่วมกันทำแนวกันไฟป่า สร้างฝายชะลอน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้น บวชป่าเพื่ออนุรักษ์ป่าต้นน้ำที่ไหลลงสู่น้ำตกห้วยแก้ว รวมทั้งมีชุดลาตระเวนป้องกันและดับไฟป่าร่วมกับอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ซึ่งไฟป่าที่เกิดขึ้นถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี มีพื้นที่เสียหายหลายร้อยไร่ ดังนั้น ชุมชนต้องมีส่วนร่วมบริหารจัดการไฟป่าให้มีประสิทธิภาพ พร้อมปลูกป่าเพื่อเพิ่มสีเขียว หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน เชื่อว่าประสบความสำเร็จ ป่าบนดอยสุเทพถือเป็นต้นแบบของการอนุรักษ์แบบยั่งยืนด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง