เรื่องราวของ น้ำอัดลม (Sparkling Water) เครื่องดื่มยอดฮิตของคนยุคนี้ ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากกลุ่มคนรักสุขภาพมาหลายต่อหลายปี แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังนิยมบริโภคน้ำอัดลมกันอย่างแพร่หลาย ปฏิเสธไม่ได้ว่าน้ำอัดลมทำให้คนที่รู้สึกง่วงเหงาเศร้าซึมกลายเป็นคนสดชื่นกระปรี้ประเปร่าขึ้นมาในพริบตา ที่สำคัญเมื่อดื่มคู่กับอาหารไทยรสจัดอีกด้วยล่ะก็ยิ่งเติมเต็มความอร่อยให้อาหารมื้อนั้นไปอีกหลายเท่าตัว พูดไปก็เหมือนโฆษณาน้ำอัดลมอย่างไรก็ไม่รู้ แต่นั่นเป็นเรื่องจริงที่ทำให้น้ำอัดลมขายดีทั่วโลก บทความนี้จะมาชวนสนทนาปราศรัยว่าด้วยเบื้องลึกเบื้องหลังของน้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีบทบาทสำคัญในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2ต้องบอกว่าน้ำอัดลมไม่ใช่เครื่องดื่มที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคสมัยของเรา แต่เกิดขึ้นมานานมากแล้ว อย่างที่เราจะย้อนไปยังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 น้ำอัดลมยอดฮิตติดตลาดในช่วงนั้นคือ โคคา-โคล่า (Coca-Cola) โดยเฉพาะผู้คนในประเทศสหรัฐอเมริกาและเยอรมนีแทบจะดื่มโคล่าแทนน้ำเปล่าเสียด้วยซ้ำ หากเป็นบ้านเรากลุ่มเกษตรกรสมัยก่อน เวลาพักจากทำไร่ไถนาก็ดื่มน้ำตาลสดเพิ่มพลังกายกันเป็นเรื่องปกติ ในตะวันตกเหล่าเกษตรกรก็ดื่มโคล่าเป็นเครื่องดื่มดับกระหายเช่นเดียวกัน เนื่องจากน้ำอัดลมมีความหวานที่ช่วยฟื้นฟูพลังงาน ทำให้มีแรงทำนู่นทำนี่ตลอดทั้งวัน ไม่ต่างกับบ้านเราที่เรียกหาน้ำหวานมาดื่มเวลารู้สึกหมดแรงนั่นแหละเกริ่นมาตั้งนาน คงต้องเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 กันเสียที แน่นอนว่าสงครามครั้งนั้นโลกแบ่งเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายสัมพันธมิตร (Allies) กับ ฝ่ายอักษะ (Axis Powers) แต่ปัญหาเริ่มเกิดเมื่อสหรัฐอเมริกากับนาซีเยอรมันอยู่คนละฝ่าย เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นศัตรูกันนั่นเอง อย่างที่บอกไปว่าชาวเยอรมนีนิยมดื่มโคล่า เยอรมนีก็ต้องนำเข้าโคล่าและน้ำตาลไซรัปจากสหรัฐอเมริกา พอเข้าสู่การทำสงคราม นาซีเยอรมันถูกคว่ำบาตรทางการค้าจากฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างสหรัฐอเมริกาอย่างราบคาบ บริษัทแม่ของโคคา-โคล่าที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาก็เอากับเขาด้วย คราวนี้บริษัทโคคา-โคล่าของเยอรมนีที่เป็นบริษัทลูกก็นำเข้าน้ำอัดลมมาจำหน่ายในประเทศไม่ได้ ทำให้เกิดภาวะขาดทุนทางการค้าจำนวนมหาศาล เรียกว่าเป็นวิกฤตน้ำอัดลมขนาดย่อมกันเลยทีเดียวเราต้องเข้าใจว่าน้ำอัดลมสมัยนั้นไม่ได้มีหลายยี่ห้อหลายรสชาติแบบสมัยนี้ โคล่าเป็นน้ำอัดลมยืนหนึ่งที่ใคร ๆ ก็ต้องดื่มกัน ถ้าเยอรมนีไม่ได้ขายโคล่าก็เท่ากับเจ๊งไปโดยปริยาย แต่ท่ามกลางวิกฤตการถูกคว่ำบาตรทางการค้า บริษัทโคคา-โคล่าของนาซีเยอรมันก็มีวิธีแก้ไขปัญหา ถ้านำเข้ามาขายไม่ได้ก็ทำขายขึ้นมาเองเสียเลย โดยการใช้กากแอปเปิลกับน้ำตาลผสมกันในน้ำแล้วนำไปอัดแก๊สซึ่งไม่ต่างกับการทำโคล่า แต่นาซีเยอรมันต้องการจะทำให้เครื่องดื่มชนิดนี้มีดีกว่าโค้กของสหรัฐอเมริกา จึงเพิ่มเติมเครื่องดื่มรสชาติอื่น ๆ โดยใช้ส่วนผสมจากผลไม้นานาชนิด ทั้งเลมอน แอปเปิล องุ่น ส้ม และเครื่องดื่มที่เกิดขึ้นใหม่นี้ก็เป็นน้ำอัดลมที่เรารู้จักกันดีในสมัยนี้นั่นคือ แฟนต้า (Fanta) ซึ่งมาจากคำในภาษาเยอรมันคือ Fantasie แปลว่า มหัศจรรย์ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง นาซีเยอรมันผู้นำฝ่ายอักษะเป็นผู้แพ้ แต่อย่าลืมว่าผู้ผลิตน้ำอัดลมแฟนต้าก็เป็นบริษัทลูกของโคคา-โคล่าในสหรัฐอเมริกา ดังนั้นแฟนต้าก็ถูกบริษัทแม่ซื้อกลับคืนไป แล้วพัฒนารสชาติให้มีความหลากหลายมากขึ้น จนกระทั่งถึงปัจจุบันน้ำอัดลมแฟนต้าก็เป็นเครื่องดื่มที่เราคุ้นเคย และได้รับความนิยมไปทั่วโลกไม่แพ้กับโคล่าหลากหลายยี่ห้อ และนี่คือการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสของนาซีเยอรมัน ท่ามกลางสงครามที่สร้างความสูญเสีย อีกมุมหนึ่งที่เราได้เรียนรู้คือการเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา ไม่แน่ว่าหากสมัยนั้นไม่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เราทุกคนก็คงจะรู้จักและได้ดื่มโคล่าเพียงชนิดเดียว ไม่มีทางเลือกหลากหลายแบบทุกวันนี้ก็เป็นได้เครดิตรูปภาพ- รูปภาพหน้าปก โดย Emma Valerio : Unsplash- ภาพประกอบที่ 1 โดย DWilliams : Pixabay- ภาพประกอบที่ 2 โดย Bermingham Museums Trust : Unsplash- ภาพประกอบที่ 3 โดย Matt Botsford : Unsplash- ภาพประกอบที่ 4 โดย Jonny Caspari : Unsplashเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่- Business Casual : How One Man In Nazi Germany Created A Global Soda : Youtube