รีเซต

'ธนาธร' ลุยบึงกาฬ บุกช่วยหาเสียงยันป่ายางพารา ปลุกสร้างอุตสาหรรมในจังหวัด

'ธนาธร' ลุยบึงกาฬ บุกช่วยหาเสียงยันป่ายางพารา ปลุกสร้างอุตสาหรรมในจังหวัด
มติชน
28 พฤศจิกายน 2563 ( 12:38 )
115

วานนี้ 27 พ.ย. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้เดินทางลงพื้นที่อำเภอพรเจริญ จังหวัดบึงกาฬ เพื่อช่วยลูกทีมหาเสียงลงสมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ โดยเข้าพบปะพ่อค้าแม่ค้า ในตลาดสดพรเจริญ จากนั้นเดินทางไปลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาต่างๆ และความเดือดร้อนจากเกษตรกรชาวสวนยางพารา บ้านวังยาวและบ้านโคกนิยม พร้อมลงพื้นที่ดูโรงงานแปรูปยางพารา ที่บ้านตาลเดี่ยว อ.พรเจริญ จ.บึงกาฬ พร้อมด้วยทีมงานผู้สมัครนายก อบจ.และสมาชิก ส.อบจ.

 

นายธนาธร กล่าวว่า “เมืองหลวงแห่งยางพารา” โรงงานแปรูปยางพาราในบึงกาฬต้องทำให้สำเร็จ บึงกาฬคือเมืองหลวงของยางพาราในภาคอีสาน แต่ราคายางถ้วยกิโลละ 20 บาทในปัจจุบัน ทำให้รายได้เกษตรกรสวนยางลดลง หลายคนรายได้ไม่เพียงพอแม้แต่จะผ่อนค่ารถ ผ่อนเงินกู้ หรือส่งลูกเรียน หลายคนทางเลือกไม่มาก ต้องกู้เงินนอกระบบเพื่อเอาตัวรอด ซึ่งภาระดอกเบี้ยอัตราที่ขูดรีดยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ผมกับภูมิพันธ์ บุญมาตุ่น ผู้สมัครนายก อบจ. บึงกาฬของคณะก้าวหน้า ถูกถามเสมอเมื่อเดินหาเสียงว่าเลือกภูมิพันธ์ แล้วจะได้ยางราคาเท่าไหร่ หากต้องการได้เสียงอย่างเดียว เราคงให้คำสัญญาปากเปล่าไปแล้ว ว่าราคาจะสูงขึ้นเท่าโน้นเท่านี้ แต่เราไม่ทำอย่างนั้น เรายอมใช้เวลาเพื่ออธิบายให้เกษตรกรเข้าใจได้ว่านายกอบจ. ไม่มีอำนาจหน้าที่และงบประมาณเพียงพอที่จะอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร การพยุงราคาสินค้าเกษตร เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่นายก อบจ.. แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราละเลยเกษตรกรสวนยาง ภูมิพันธ์ บุญมาตุ่น ต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพาราให้เกิดขึ้นจริงในบึงกาฬ

 

หนึ่งในวิสัยทัศน์ของเขาคือการร่วมผลักดันโรงงานแปรรูปยางในอำเภอเซกา ให้ใช้งานได้จริง โรงงานแปรรูปยางพาราแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าสะอาด อำเภอเซกา ใช้งบประมาณลงทุนกว่า 190 ล้านบาทจากงบกลุ่มจังหวัด เพื่อแปรรูปยางพารา 170 ตันต่อวัน แต่ปัจจุบันยังไม่ดำเนินการ ล่าช้ากว่าแผนมาแล้ว 3 ปี วันนี้ภูมิพันธ์ กับผมได้ลงพื้นที่ดูหน้างานจริง ผมพบว่าหากดำเนินอย่างนี้ต่อไป อีกหนึ่งปีก็ยังเดินเครื่องไม่ได้ การจัดการโรงงานอุตสาหกรรม ต้องใช้คนที่มีประสบการณ์ เข้าใจการบริหารจัดการโรงงานและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เสียดายโอกาสของเกษตรกรบึงกาฬ ตัวอย่างโอกาสที่เสียไปคือมูลค่าเพิ่มที่ตกอยู่กับพ่อค้าคนกลาง ราคายางแผ่นดิบ 3 ที่ตลาดท้องถิ่นในวันที่ 26 พ.ย. อยู่ที่ 56.6 บาท/กิโลกรัม แต่ราคาในตลาดกลาง อยู่ที่ 61.3 บาท/กิโลกรัม ส่วนต่าง 5 บาทต่อกิโลกรัมถือว่าสูงมาก และตกอยู่ในมือพ่อค้าคนกลาง หากโรงงานในจังหวัดเสร็จเร็ว ยางบึงกาฬก็ขายเพื่อแปรรูปที่บึงกาฬ ชาวสวนยางบึงกาฬจะได้ส่วนต่างนี้กลับมา

 

หากประชาชนไว้วางใจ เราจะติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอร่วมบริหารจัดการและสนับสนุนงบประมาณโครงการนี้ เราจะนำประสบการณ์การจัดการโรงงานอุตสาหกรรมของพวกเรา เข้ามาพัฒนาโครงการนี้ต่อให้จบโดยเร็วเราจะทำให้ชาวบึงกาฬมีอุตสากรรมก้าวหน้าที่ยึดโยงกับภาคการเกษตรที่เป็นที่ภาคภูมิใจของจังหวัด สร้างเทคโนโลยีของตนเอง สร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เด็กรุ่นใหม่จบออกมามีงานทำ ไม่ต้องไปหางานต่างจังหวัด หรือหันเข้าหายาเสพติด มูลค่าเพิ่มของสินค้าตกอยู่กับเกษตรกรในจังหวัด คนบึงกาฬมีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เราทำได้ เราทำเป็น เรามีประสบการณ์20 ธันวานี้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทุกเสียงมีความหมาย กำหนดอนาคตของบึงกาฬ ด้วยบัตรเลือกตั้งของท่านเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง