รีเซต

รพ.บุษราคัม 1,200 เตียง พร้อมรับเคสโควิด 15พ.ค. ห้องความดันลบ ออกซิเจน แล็บ ครบ!

รพ.บุษราคัม 1,200 เตียง พร้อมรับเคสโควิด 15พ.ค. ห้องความดันลบ ออกซิเจน แล็บ ครบ!
มติชน
11 พฤษภาคม 2564 ( 15:49 )
66
รพ.บุษราคัม 1,200 เตียง พร้อมรับเคสโควิด 15พ.ค. ห้องความดันลบ ออกซิเจน แล็บ ครบ!

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในช่วงการตอบคำถามของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ว่า สถานการณ์โควิด-19 มีการติดเชื้อเกือบ 2,000 รายต่อวัน ถือเป็นจำนวนสูงอยู่ และไม่อยากให้เกิดขึ้น และมีตัวเลขสะสม 8.6 หมื่นราย แต่การระบาดเดือนเมษายน 2564 ถือเป็นระลอกที่ 3 โดยผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรงขึ้น ต้องใช้การรักษาพยาบาลเป็นอย่างมาก แม้กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะมีโรงพยาบาล (รพ.) จำนวนมาก แต่ก็มีประชากรและสัดส่วนผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม สธ. มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วย ควบคุมโรคทั่วประเทศ แต่กำลัง และ รพ.ของเราอยู่นอกพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด ทั้งนี้ เราก็ให้ความร่วมมือกับ กทม.ในการควบคุมโรค ซึ่งเราจะเป็นเทคนิควิธี ให้คำแนะนำ ให้การสนับสนุน

 

 

“ข้อมูลจากที่ประชุมอีโอซี ของสธ. ที่ประชุมในทุกวันเวลา 7.30 น. ตัวเลขทั่วประเทศ พบว่า กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการระบาดในระดับสูงแต่ยังชะลอตัวอยู่ คิดเป็น ร้อยละ 70 แต่ในทางจังหวัดที่เหลือ คิดเป็น ร้อยละ 30 สามารถควบคุมโรคได้แล้ว กราฟตัวเลขชะลอตัวลง ดังนั้น ปัญหายังอยู่ใน กรุงเทพฯ และปริมณฑล ติดเชื้อวันละ 1,000 ราย เนื่องจากลักษณะสังคมเมือง การติดเชื้อกระจายสูง การควบคุมทำได้ลำบาก แต่เราต้องหายุทธศาสตร์เข้าไปควบคุม แต่ต่างจังหวัดจะเป็นสะเก็ดไฟ เป็นไฟลามทุ่ง ลักษณะคลัสเตอร์และเราเข้าไปจัดการได้ค่อนข้างดี” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

 

 

ปลัด สธ. กล่าวว่า ตามนโยบายคือ เราต้องหาเตียงรองรับผู้ป่วย โดย สธ.ได้แบ่งสัดส่วนผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มสีเขียว ผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อย ซึ่งเมื่อก่อนจะมีจำนวนมากและไม่เป็นอะไรมาก สีเหลือง ผู้ป่วยอาการปานกลาง เช่น ไอ หอบ บางรายก็พัฒนาเป็นสีแดง ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งการระบาดครั้งนี้เราพบว่า มีผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวส่วนหนึ่งที่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีแดง และสีเหลืองเปลี่ยนเป็นสีแดง ฉะนั้น แม้เราจะมีเตียงในกรุงเทพฯ กว่า 2.6 หมื่นเตียง ที่ดูแลผู้ป่วย แต่มีการครองเตียงของกลุ่มสีเหลืองและสีแดงแล้วร้อยละ 60 ในส่วนที่ยังว่างคือผู้ป่วยสีเขียว ดังนั้น ผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ที่ต้องนอนใน รพ.ก็จะมีเตียงจำกัด โดยเฉพาะสีแดงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษด้วยเตียงไอซียูใน รพ.ขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพสูง ซึ่งในกรุงเทพฯ มีเกือบ   1,000 เตียง ขณะนี้ใช้เกือบเต็มแล้ว ว่างอยู่ 100 กว่าเตียง

“หากเรายังมีอัตราติดเชื้ออย่างนี้อยู่ ก็จะทำให้ผู้ป่วยสีแดงเต็มเร็ว ภายใน 2 สัปดาห์หลังจากนี้ ขณะที่สีเหลืองก็เช่นเดียวกัน แม้เราจะมีเตียงว่างอยู่ แต่ต้องเตรียมการรองรับ ส่วนกลุ่มสีเขียวคาดว่า ไม่มีปัญหา” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

 

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำนักงานปลัดสธ. จึงเข้าไปช่วยเหลืองานของ กทม. เราพบว่า กลุ่มสีแดงที่ต้องอยู่ในรพ. แต่เราไม่มีสถานพยาบาลสังกัดของเราในกรุงเทพฯ ส่วนสีเขียวเราก็ดูแลได้ ฉะนั้นช่องว่าง คือ สีเหลืองอาการปานกลาง ไอ ไข้ มีความเสี่ยงอื่นๆ ที่ต้องการเตียง สธ.ก็เข้ามาจัดตั้ง “โรงพยาบาลบุษราคัม” แปลว่าสีเหลือง ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี รองรับประมาณ 3-5 พันเตียง ที่ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าของสถานที่โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 2 เดือน พร้อมได้รับบริจาคอีกจำนวนมาก เช่น เตียง ที่นอน อุปกรณ์ต่างๆ ทั้งนี้ เราได้รับความร่วมมือจากบุคลากรสาธารณสุขในสังกัดจากต่างจังหวัด เบื้องต้นจะมาจากเขตสุขภาพที่ 4-5 ในเขตภาคกลาง เวียนเข้ามาดูแลผู้ป่วย แต่ต้องไม่กระทบการให้บริการผู้ป่วยในรพ. นั้นๆ ถือเป็นการเสียสละที่เข้ามาดูแลผู้ป่วยส่วนนี้

 

 

ปลัด สธ.กล่าวว่า รพ.บุษราคัม ไม่ใช่ รพ.สนาม และมีมาตรฐานเดียวกับสถานพยาบาล โดยมี รพ.พระนั่งเกล้า เป็นสถานพยาบาลหลักคอยดูแล มีเครื่องปรับอากาศ มีพยาบาลดูแลตลลอด มีไวไฟใช้ฟรี และมีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ ทำให้คนไปอยู่ 10-14 วันรู้สึกว่าใช้เวลาไม่นาน โดยเรากั้นพื้นที่เป็นห้อง เพิ่มความเป็นส่วนตัวให้ผู้ป่วย มีห้องน้ำ ห้องแล็บ เครื่องออกซิเจน เครื่องเอกซเรย์ปอด โดยมี 270 เตียงที่ติดตั้งเครื่องให้ออกซิเจนไว้สำหรับผู้ป่วยสีเหลืองเข้ม มีเครื่องออกซิเจนไฮโฟลว์ (Oxygen High Flow) สำหรับผู้ป่วยที่หายใจด้วยตัวเองลำบากระดับก่อนเข้าไอซียู นอกจากนั้น ก็มีห้องความดันลบ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกจะสามารถรองรับได้ 1,292 เตียง สามารถขยายได้อีก 2 เฟส เฟสละ 1,292 เตียง สูงสุด 5,000 เตียง และคาดว่าจะเปิดให้บริการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ โดยมีนากยกฯ เป็นประธานเปิด และช่วงบ่ายเราก็จะนำผู้ป่วยเข้าพักทันที

 

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้ กทม.ได้คัดกรองเชิงรุกในชุมชน ซึ่งพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมา หากเป็นสีเขียว ก็จะเข้าพักในรพ.สนาม สีเหลือง ก็จะมาอยู่ใน รพ.บุษราคัม ซึ่งเราก็จะรับผู้ป่วยสีเหลืองในรพ. ออกมา เพื่อให้มีเตียงสำหรับผู้ป่วยสีแดงมากขึ้น ซึ่งตรงนี้จะเป็นทางออกที่ดี อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยสีเหลืองใน รพ.บุษราคัม ที่พัฒนาเป็นสีแดง ที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจ เราก็จะส่งต่อไปยัง รพ.ในสังกัด สำนักงานปลัด สธ.เช่น สระบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี ฯลฯ ซึ่งยังมีเตียงว่างสำหรับผู้ป่วยสีแดง

 

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า หากผู้ป่วยที่อยู่ใน รพ.บุษราคัม อาการดีขึ้นแต่ก็ยังถือเป็นกลุ่มสีเหลือง เราก็จะไม่ได้ย้ายออกไปไหน เพื่อลดการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย นอกจากจะย้ายกลุ่มสีเหลืองที่กลายเป็นสีแดง เข้าไปอยู่ใน รพ. ซึ่งในระยะต่อไปเราจะปรับให้ รพ.บุษราคัม เป็นศูนย์แรกรับผู้ป่วย เหมือนกับที่อาคารนิมิบุตร รับผู้ป่วยที่มีผลบวกแต่ไม่มีเตียง ก็สามารถเดินทางไปที่ศูนย์ได้ ซึ่งเป็นการต่อยอดในอนาคต เพื่อรองรับผู้ป่วยในกทม.และปริมณฑลให้มากขึ้น ช่วยเหลือภาระงานของ กทม.ให้มากที่สุด

 

 

“เราจะไม่ปล่อยทิ้งคนไข้ เราต้องสู้ให้ถึงที่สุด และเราหวังว่า รพ.บุษราคัม จะเข้ามาเติมเต็ม ช่วยแก้ปัญหาของ กทม.ในกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองที่ต้องการเตียงอีกจำนวนมาก ทั้งนี้ การตรวจพบเชื้อในผู้ป่วย ทางรพ.ที่เป็นเจ้าของไข้ ก็จะรับเข้ารักษา เช่นเดียวกับของ กทม. แต่สำหรับผู้ป่วยที่ตรวจหาเชื้อในแล็บเอกชน ที่มีผลบวกแต่หาเตียงไม่ได้ ก็สามารถเดินทางมาที่ รพ.บุษราคัม ได้ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแล คัดกรองความเจ็บป่วยว่าอยู่ในระดับใด หากเป็นสีเขียวก็อาจต้องส่งไปสถานที่อื่น แต่รองรับว่าจะมีเตียงให้ผู้ป่วยอย่างแน่นอน” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง